อาชญากรรมไซเบอร์ และ ความพร้อมของสังคมไทย

อาชญากรรมไซเบอร์ และ ความพร้อมของสังคมไทย

อาชญากรรมไซเบอร์ และ ความพร้อมของสังคมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ในหลายด้าน มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ที่มีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านการสื่อสารสารสนเทศ ระบบคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาอย่างแพร่หลายในหลากหลายรูปแบบ ทำให้รูปแบบของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ลองนึกภาพย้อนหลังไปประมาณ15 - 20 ปี ก่อน ใครจะนึกว่า การติดต่อสื่อสารจะพลิกโฉมไปได้ขนาดนี้ ในยุคนนั้น เมื่อมีนโยบายขยายหมายเลขโทรศัพท์บ้าน 1 ล้านหมายเลข ก็เป็นที่ฮือฮา ทุกคนต่างหมายตาอยากได้โทรศัพท์ไว้เป็นของตัวเอง เพราะด้วยราคาที่ปรับลงมามาก จากหมายเลขที่ราคาเป็นหมื่นเป็นแสนลงมาเหลือไม่กี่พันบาท...แล้วปัจจุบันนี้..มีใครบ้างที่ยังใช้โทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์พื้นฐานอยู่บ้าง

การเข้ามาของโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโทรศัพท์มือถือ ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไปอย่างสิ้นเชิง และจากยุคแรก ที่โทรศัพท์มือถือ ที่มีขนาดใหญ่ ราคาแสนแพง เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น ราคาถูกลง คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทุกคนจึงมีโทรศัพท์มือถือติดมือ เหมือนอวัยวะชิ้นที่ 33 ของร่างกายไปโดยปริยาย และเมื่อเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอีกขั้นที่ระบบคอมพิวเตอร์ถูกนำมาผสมรวมไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกกันว่า สมาร์ทโฟนท์ในปัจจุบัน จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติยุคใหม่ได้เลยทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ได้ทำให้รูปแบบการให้บริการของอุตสาหกรรมต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเงิน หรือระบบสถาบันการเงิน ในยุคแรกเมื่อมีการนำตู้บริการอัตโนมัติหรือเอทีเอ็ม เข้ามาให้บริการ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก จนกระทั้งปัจจุบัน ระบบธนาคารได้พัฒนารูปแบบการให้บริการไปไกล อย่างที่เรียกว่า ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีแบงก์กิ้ง ระบบบริการธนาคารมือถือ หรือ โมบายแบงก์กิ้ง

พร้อมกันนั้น การพัฒนาของสังคมที่มีการสร้างสังคมบนโลกอินเตอร์เน็ต มีการเชื่อมต่อกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก ยิ่งทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่ ผู้คนทุกวันนี้ ให้ความสนใจเรื่องราวที่ถูกนำเสนอผ่านสังคมที่เรียกกันว่า โซเชียลมีเดียมาก กว่า สังคมจริงๆ ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อมนุษย์ ในรูปแบบเดิมๆ การให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้า แวดล้อมเรา เริ่มลดน้อยลง ทุกคนใจจดใจจ่ออยู่ในโลกโซเชียล

การดำเนินชีวิตเริ่มผูกพันกับเทคโนโลยีดิจิตอลมากขึ้น ผู้คนต่างพึ่งคอมพิวเตอร์ในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น เราเห็น การซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ ผ่านระบบซื้อขายออนไลน์มากขึ้น เราจ่ายเงินผ่านระบบการโอนเงินทางมือถือ ทางระบบอินเตอร์เน็ต จะกินอาหารสักมื้อ ต้องค้นหาร้านอาหารจากมือถือ จาก แอปพลิเคชั่น เราติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านเครื่องมือดิจิตอล ผ่าน สื่อออนไลน์ ที่มีความเร็ว และ ผ่าน สังคมโซเชียล ที่มีทั้งความเร็วและกว้างขวางไร้ขีดจำกัด แต่ มีปัญหาในเรื่องคุณภาพ ในเรื่องข้อเท็จจริง ต่างๆไปมาก

เช่นกัน ในเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปอยู่ ไปพึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์ อยู่ในโลกดิจิตอล อยู่ในโลกสังคมออนไลน์ เหล่าคนที่เห็นช่องโหว่ชองว่าง หาทางจะเอาเปรียบหาประโยชน์จากระบบคอมพิวเตอร์ จากสังคมออนไลน์ สังคมดิจิตอล ด้วยเช่นกัน เราคงเคยได้ยินกลุ่มคนที่เรียกว่า แฮกเกอร์ หรือ คนที่สามารถโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ให้มีความผิดเพี้ยน หรือแทรกแซงระบบปฏิบัติการตามที่ตัวเองต้องการได้

ก่อนหน้านี้ เราเคยรู้ว่า มีการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจโดยการขโมยเงินจากตู้เอทีเอ็ม จากการขโมยคัดลอกข้อมูล รหัสของบัตรเอทีเอ็ม จากผู้ใช้บริการ ที่เรียกว่า การสกริมมิ่ง ซึ่งมุ่งตรงต่อบัญชีของผู้ใช้บัตรเอทีเอ็ม โดยตรง แต่มาวันนี้ เราได้รับรู้ว่า มีการพัฒนาการก่ออาชญากรรมที่สามารถโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารโดยตรงผ่านตู้เอทีเอ็มเพื่อขโมยเงินจากธนาคารโดยตรง จากการเปิดเผยของธนาคารออมสิน ที่ออกมายอมรับว่า ตู้เอทีเอ็มของธนาคารถูกเจาะและขโมยเงินไปถึง 21 ตู้ จำนวนเงินถึง 12.2 ล้านบาท โดยประมาณ

คำถามสำคัญก็คือ วันนี้รัฐบาลต้องการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิตอล หรือ ที่เรียกกันว่ายุคเศรษฐกิจ ยุคอุตสาหกรรม 4.0 แต่ เคยคิดถึงปัญหาด้านมืดของสังคมหรือโลกดิจิตอล การแฮกข้อมูล การเจาะข้อมูล จากเหล่าอาชญากรทางเศรษฐกิจยุคใหม่เหล่านี้หรือยัง แล้ว วันนี้ รัฐบาลมีเครื่องมือ มีหน่วยงานที่พร้อมรับมือกับปัญหาเหล่านี้หรือยัง..?

วันนี้ การออกมาเตือนมาท้วงติงของ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. ที่บอกว่า การแฮกตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสินเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ระบบธนาคารยังต้องเจอกับปัญหาใหญ่ของเหล่าอาชญากรคอมพิวเตอร์อีกมาก หากไม่มีระบบป้องกันที่ดีพอทันสมัยพอ และในระดับชาติ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้หน่วยงานเฉพาะดูแลการโจมตีไซเบอร์

ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย บุคลากรที่พร้อมรับ ...เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

อย่าปล่อยและคิดไปว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาของระบบธนาคารเพียงอย่างเดียว อนาคต หากรัฐบาลผลักดันระบบต่างๆไปสู่ระบบดิจิตอลมากขึ้น ทั้งการโอนจ่ายงบประมาณ ในทุกๆเรื่อง ถามว่า รัฐบาลมีเครื่องมือการเจาะ การก่อการโจมตีของโจรไซเบอร์แล้วยัง...?

หากจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางนี้ ...ประเด็นข้อเสนอของ ประธาน กทค. น่าคิดและต้องเร่งพิจารณาโดยด่วน...

โดย...เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook