นายกฯยันกรธ.ร่างรธน.เป็นสากลคดีโกงยึดกม.ปัดแกล้ง

นายกรัฐธรรมนูญ แจง การขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาล - คสช. พร้อมสนับสนุน กรธ. จัดทำ รธน. ให้สากลยอมรับ ขอทุกส่วนเตรียมรับมือปัญหาน้ำในอนาคต ระบุคดีทุจริตคอรัปชั่นยึดกฏหมาย ปัดกลั่นแกล้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุข ให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาล และ คสช. กำลังทำคือการขับเคลื่อนการปฏิรูประยะที่ 1 ที่เกิดขึ้นต่อไปจะมีการจัดทำแผนปฏิรูปให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะต้องส่งต่อให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดำเนินการต่อไป พร้อมจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนที่ 12 อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการกำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ล่วงหน้า รวมถึงการสนับสนุนการทำงานของ กรธ., สนช. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และกฎหมายลูก ให้ได้รับการยอมรับจากสากล สอดคล้องและเหมาะสมกับสังคมไทย เพื่อจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในปัจจุบัน และสร้างความเข้าใจกับสังคมประชาชนในต่างประเทศ และในประเทศด้วย ถึงการพัฒนาด้านการเมืองและการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน รวมถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศในปัจจุบัน และในระยะต่อไปด้วย
ทั้งนี้ การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ระยะที่ 1 จะมีแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบันนั้น รวมแล้วประมาณกว่า 300 ฉบับ ให้มีความทันสมัยในทุกด้าน เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ ในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีการปฏิบัติตนภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ลดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องปรับปรุงตนเอง ให้ทำงานเพื่อประชาชน อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
นายกฯขอทุกส่วนรับมือปัญหาน้ำในอนาคต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุข ให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า เรื่องสถานการณ์น้ำ อยากให้ประชาชนทุกคนตระหนักรู้ ถึงสถานการณ์อย่างแท้จริง เตรียมรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยรัฐบาลจำเป็นต้องให้ข้อเท็จจริงในปัจจุบันกับทุกภาคส่วน และที่ผ่านมารัฐบาลได้เตรียมการอย่างดีที่สุด ในการที่จะจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำแห่งใหม่ ในการรองรับน้ำในฤดูแล้งที่กำลังใกล้จะหมดลง ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะขอความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนคือ การประหยัดน้ำ ในทุกๆ กิจกรรม พร้อมขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกข้าว หรือพืชที่ใช้น้ำมาก มาเป็นการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยอื่นๆ หรือการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และการประมงตามแหล่งน้ำที่ได้จัดเตรียมไว้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยง ความเสียหายของพืชผล จากภาวะขาดแคลนน้ำ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในพื้นที่ได้ลงพื้นที่ ให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ให้ครบวงจร ไปจนถึงเรื่องการตลาดด้วย
นายกฯมั่นใจผลตรวจสอบIUUจะดีขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ปัญหาสำคัญของชาติ รัฐบาลจึงต้องเร่งดำเนินการแก้ไข โดยมี ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหา ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก ต้องขอขอบคุณความทุ่มเทในการทำงานของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ ที่ให้ความร่วมมือ ส่วนการรับตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา IUU จากผู้แทนสหภาพยุโรปนั้น รัฐบาล โดย ศปมผ. ก็มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน พร้อมทั้งมั่นใจว่า ผลจะออกไปในทางที่ดี
สำหรับประเด็นที่ต้องเข้าใจร่วมกัน คือ การระมัดระวังการขายสินค้าประมงในตลาดโลกด้วย เพราะมีกติกา การแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติกาทางด้านการประมง ในน่านน้ำเสรี ในทุกประเทศ ซึ่งปัจจุบันนั้นสินค้าของไทยมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ถ้าหากไม่แก้ไขปัญหา IUU จะถูกกดดัน หรือถูกยกเลิกการซื้อสินค้าเหล่านั้นด้วย
นายกฯชี้ปฏิรูปต้องสื่อสารให้ตรงกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การเดินหน้าประเทศตามโรดแมปของรัฐบาล ในระยะที่ 1 เป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อปากท้องและชีวิตประจำวันของประชาชนโดยตรง รวมทั้งในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยปัจจุบันกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการวางกฎกติกาทางสังคม โดยได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีความเป็นสากล และสอดรับกับความเป็นไทย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งวางรากฐานที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับสังคมไทย ผ่านการปฏิรูป 11 ด้าน
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำงานตามโรดแมป ระยะที่ 2 คือ การสื่อสารให้ตรงกัน ทั้งนี้ สภาขับการปฏิรูปเคลื่อนประเทศ ต้องใช้ 11 ประเด็นปฏิรูป ของ คสช. เป็นตัวตั้ง แล้วนำประเด็นปฏิรูปและประเด็นพัฒนาอื่นๆ ของ สปช. เดิม มาหลอมรวมเอาไว้ ส่วน กรธ. ต้องมีแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลและเหมาะสมกับบริบทประเทศไทย สร้างประชาธิปไตย และแก้ไขปัญหาการเมืองในอดีต รวมถึงเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น อย่างกว้างขวางด้วย
นายกฯระบุคดีโกงยึดกม.ปัดกลั่นแกล้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า กรณีคดีความต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหาย เกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างเป็นธรรม เพราะทุกอย่างนั้นต้องให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ข้อกฎหมาย ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ คสช. และ รัฐบาล ไม่ได้ทำเพื่อกลั่นแกล้ง ไม่ให้ความเป็นธรรม แต่อย่างใด พร้อมทั้งขอร้องสื่อต่างๆ อย่าขยายความขัดแย้ง ช่วยกันสร้างความมีเสถียรภาพของประเทศ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป
นายกฯยันเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า ในขณะนี้รัฐบาลเร่งวางพื้นฐานประเทศให้เข้มแข็ง ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และการต่างประเทศ รวมทั้งการเร่งจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนที่ 12 อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ได้ประชุมหารือ เพื่อวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรมุ่งเน้นการสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าเพื่อเพิ่มรายได้ และสนับสนุนการจัดตั้งตลาดชุมชน ตลาดท้องถิ่น รวมทั้งสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนสินค้า เพราะหากมีตลาดเกิดขึ้นในชุมชนมากเท่าไหร่ จะเม็ดเงินก็จะหมุนเวียนในพื้นที่มากเท่านั้น จะเป็นการช่วยสร้างรายได้ และให้เกิดการจ้างงานในชุมชน
ส่วนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก หลังชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม จากการบังคับใช้กฎหมายคงมีผลกระทบเกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติงบประมาณ วงเงิน 230 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเยียวยาในช่วงที่ผ่านมา