พรสันต์ชี้รัฐธรรมนูญดีต้องบรรลุวัตถุประสงค์

'พรสันต์' ชี้รัฐธรรมนูญที่ดีต้องบรรลุวัตถุประสงค์ หากทำลายหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ไม่มีมาตรฐาน
นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนา "ว่าด้วยรัฐธรรมนูญและอุดมคติ" ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันนี้ โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ดีนั้น เมื่อมีการประกาศใช้แล้ว และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญได้ ก็ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีตามอุดมคติ
ขณะเดียวกัน หลักการต่างๆ ในทางรัฐธรรมนูญนั้น จะมาจากคุณค่าที่รัฐธรรมนูญเห็นว่ามีความสำคัญ ได้แก่ คุณค่าที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ เช่น สิทธิเลือกตั้ง, คุณค่าในทางพันธสัญญาระหว่างคนหลายๆ คน ซึ่งจะส่งผลให้เห็นถึงการใช้อำนาจของผู้ปกครองที่จะต้องถูกกำกับและตรวจสอบโดยรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถผูกขาดอำนาจได้ สุดท้ายคือ คุณค่าทางสาธารณะ ที่ผู้ใช้อำนาจจะต้องใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยทั้ง 3 คุณค่านี้ จะทำให้เกิดหลักการทางรัฐธรรมนญู 2 ประการ คือหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม แต่หากมีการประกาศใช้แล้ว เป็นการทำลายประชาธิปไตยหรือทำลายหลักนิติธรรม ถือว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่มีมาตรฐาน
นอกจากนั้น ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องไม่ให้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงกระบวนการ
"บัณฑูร"บอกร่างรธน.58ไม่ผ่าน-เหตุเห็นต่าง
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในงานเสวนา "ว่าด้วยรัฐธรรมนูญและอุดมคติ" ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันนี้ โดยเปิดเผยถึงเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 (ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) ไม่ผ่านมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ว่า มีสาเหตุมาจากการมองอนาคตต่างกัน เมื่อมีการเลือกตั้งจากกติกาใหม่และการเปลี่ยนกติกาเมื่อเข้าสู่อำนาจ ซึ่งความขัดแย้งก็จะกลับมายังวังวนเดิม
ขณะเดียวกัน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนั้น กลุ่มหนึ่งเห็นว่ายังต้องมีการแก้ไขปัญหาในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. หรือกระบวนการสรรหา ส.ว. ขณะเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่ง เห็นว่าไม่ต้องมีระยะแก้ปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว สามารถออกแบบให้รัฐธรรมนูญมีประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ซึ่งการมองต่างกันนี้ จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านมติ สปช.
"ไพโรจน์"บอกปรองดองไม่ต้องใส่ไว้ในรธน.
นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. กล่าวในงานเสวนา "ว่าด้วยรัฐธรรมนูญและอุดมคติ" ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันนี้ โดยระบุถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น จะต้องตระหนักว่าหากยังอาศัยมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นเครื่องชี้นำการร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยกเว้นในหมวดการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง แต่ทั้งนี้จะต้องให้ตอบโจทย์หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งการสร้างความปรองดองนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องให้ความสำคัญกับการแสวงหาความจริงทางสังคมร่วมกัน และต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ไม่ปล่อยให้ลอยนวล รวมถึงมีระบบเยียวยาและมีระบบความทรงจำร่วมกัน
พร้อมระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องไม่ให้ถูกครหาได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับของผู้ชนะ หรือเป็นเพียงกติกาของผู้ชนะ เพราะหากเป็นกติกาของผู้ชนะและกีดกันผู้อื่น ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและต้องเผชิญหน้าอีกครั้ง