กษ.มอบกรมชลฯชี้แจงเรื่องน้ำกับปชช.

ปลัดเกษตรฯ ประเมินน้ำ 4 เขื่อนหลัก ยังน้อยต้องกักเก็บน้ำใช้หน้าแล้ง มอบกรมชลฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงตามแผน แจงปัญหานมบูด แค่ส่วนน้อย ยันดำเนินการผู้กระทำผิดขั้นเด็ดขาด รอบคอบ
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักที่ใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันประมาณ 2,684 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย จะต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 - พฤษภาคม 2559 ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมอบหมายให้กรมชลประทาน คณะกรรมการบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำ อาสาสมัครชลประทาน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงพื้นที่ชี้แจงของเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากมีความกังวลว่าหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว เกษตรกรจะทำนาปรังต่อเนื่องเหมือนฤดูปกติ ในขณะที่น้ำต้นทุนมีจำกัด ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงที่ข้าวนาปรังจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ
นอกจากนี้ นายธีรภัทร ยังกล่าวว่าโครงการนมโรงเรียนไม่ใช่เพียงจะมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กไทย แต่ยังเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศอีกหลายพันครัวเรือนไม่ต้องเอานมมาเททิ้งเหมือนที่ผ่านมาเพราะน้ำนมดิบล้นตลาดอีกด้วย แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวพบนมบูด เน่าเสีย ไม่ได้คุณภาพ แต่ก็เป็นเพียงที่เกิดจากผู้ประกอบการส่วนน้อย ซึ่งมิลค์บอร์ดได้มีมติลงโทษขั้นเด็ดขาดกับผู้ประกอบการรายดังกล่าวไปแล้ว โดยตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตั้งแต่ภาคเรียนนี้จนถึงภาคเรียนหน้า
อย่างไรก็ตาม เหตุที่ต้องใช้เวลานานในการลงโทษ เนื่องจากต้องรอผลการตรวจสอบและการยกเลิก GMP จาก อย. ซึ่งทาง อย. ต้องรอบคอบ เพราะเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522