กรมชลฯส่งเครื่องสูบน้ำเร่งช่วยอุทกภัย

กรมชลฯ ส่งเครื่องสูบน้ำเร่งช่วยอุทกภัย คาดเข้าสู่ภาวะปกติ 2 - 3 วัน ด้าน รมว.กษ. เผย ปริมาณฝนที่ตกลงมามีผลดีต่อภาคเกษตร เตรียมลดการระบายน้ำเหลือวันละ 9 ลบ.ม.
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนหว่ามก๋อซึ่งเปลี่ยนเป็นพายุดีเปรสชั่น กรมชลประทานได้รายงานว่า เกิดน้ำไหลหลากและมีน้ำล้นอ่างเก็บน้ำในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ทั้งนี้ ในเขตชลประทานไม่เกิดผลกระทบใดๆ โดยกรมชลประทานได้จัดส่งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จํานวน 6 เครื่อง เร่งสูบน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำลงสู่คลองทับมาและแม่น้ำระยอง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 - 3 วัน ส่วนในจังหวัดชลบุรีส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติหมดแล้ว คงเหลือเฉพาะน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3 - 5 วัน
กรณีข่าวอ่างเก็บน้ำหนองผักกูด จ.ชลบุรี แตกนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นเพียงฝายน้ำล้นอยู่ในความดูแลของ อปท. ตั้งอยู่ในคลองขนาดเล็ก สภาพน้ำล้นตลิ่ง ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้ สําหรับพื้นที่อื่นๆ ที่ยังมีสภาวะน้ำท่วม ได้แก่ จังหวัดนครนายก จังหวัดตราด และจังหวัดจันทบุรี สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2 - 3 วันนี้ และในพื้นที่ภาคใต้เกิดน้ำไหลหลากจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสตูล คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ใน 1 - 2 วันนี้
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในช่วงที่พายุหว่ามก๋อมีอิทธิพลกับประเทศไทยในช่วงวันที่ 14 - 18 ก.ย. 2558 รวม 901 ล.ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 179 ล.ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 135 ล.ลบ.ม. ภาคกลาง 29 ล.ลบ.ม. ภาคตะวันตก 220 ล.ลบ.ม. ภาคตะวันออก 142 ล.ลบ.ม. และภาคใต้ 196 ล.ลบ.ม. ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออก อ่างฯ ต่างๆ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมากพอสมควร โดยเฉพาะในจังหวัด ระยองมีน้ำไหลลง 4 เขื่อนหลัก รวม 94 ล.ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 360 ล.ลบ.ม. หรือ 69% ทําให้มีปริมาณน้ำเก็บไว้ใช้ได้ตลอดฤดูแล้งถึงต้นฤดูฝนหน้าโดยไม่ขาดแคลน ขณะที่จังหวัดชลบุรีมีปริมาณน้ำไหลลง 9 เขื่อนหลัก รวม 41 ล.ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่ตกลงมาส่งผลทำให้เกิดผลดีต่อภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคกลางมีปริมาณฝนตกกระจายในพื้นที่ ทําให้พื้นที่เพาะปลูกมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น มีผลดีทําให้สามารถลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากอัตราการระบายน้ำวันละ 13 ล.ลบ.ม. เหลือวันละ 9 ล.ลบ.ม.
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานฐานข้อมูลเกษตรกรขณะนี้ ว่า ภายในเดือนตุลาคมปีนี้ มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงข้อมูลครัวเรือนเกษตรกร จำนวน 6.33 ล้านครัวเรือน ให้เป็นปัจจุบัน และมีการขยายฐานข้อมูลเพิ่มเติมจากเดิม 4 ด้าน เป็น 7 ด้าน โดยเพิ่มด้านรายได้ หนี้สิน และเครื่องจักรกลการเกษตร จากที่มีอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนที่ช่วยทำการเกษตรและการเป็นสมาชิกองค์กร การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร และการประกอบกิจกรรมการเกษตร ซึ่งจะใช้งบประมาณรวม 25,320,000 บาท ที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเก็บข้อมูลและบันทึกเข้าฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ทั้งนี้ ผลการสำรวจทะเบียนเกษตรกร กรมส่งเสริมได้ดำเนินการแล้ว 4,205 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 6.33 ล้านครัวเรือน ซึ่งแผนดำเนินการภายใน 16 ตุลาคม นี้ จะเก็บข้อมูลแล้วเสร็จทุกพื้นที่ เพื่อนำมาประมวลผลซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 30 ตุลาคม นี้