สุภิญญามองสื่อยุคคสช.อยู่ในภาวะไม่สมดุล
'สุภิญญา' มอง คสช. ดำเนินการตรงข้ามกับที่เคยให้ปรัชญาเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อไว้ ชี้สื่อดราม่าทุกยุค ด้าน 'ชนัญสรา' ชี้เป้าหมายหลักการทำงานปฏิรูปสื่อของ สปช.เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. เปิดเผยระหว่างการเสวนา ดราม่าสื่อไทยกับเส้นทางการปฏิรูปสื่อ ในยุคคืนความสุข ว่า ช่วงที่เกิดการปฏิวัติช่องดาวเทียมที่ได้เรทติ้งจากการนำเสนอข่าวการเมืองจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่ยุคคืนความสุข เกิดภาวะไม่สมดุลของการทำงานจาก คสช. ที่เคยให้ปรัชญาเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อไว้ แต่กลับดำเนินการตรงข้ามกัน การปฏิรูปสื่อของ คสช. ส่งผลต่อภาพรวมการเกิดขึ้นของสื่อดิจิตอล โดยตนมองว่าใบอนุญาตกิจการสื่อควรจะมีเสรีภาพ เพื่อให้สื่อในแต่ละช่องมีความหลากหลายในการนำเสนอข่าว ทั้งนี้ มองว่าดราม่าของสื่อมีทุกยุคยิ่งปัจจุบันในโลกดิจิตอลคนรับข่าวสารได้หลายทาง ดราม่าช่องทางโซเชียลมีเดียยิ่งเพิ่มขึ้น
รองผอ.ส.ท.ท.ชี้ข่าวดราม่าไม่ใช่เฉพาะบันเทิง
นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. เปิดเผยระหว่างการเสวนา ดราม่าสื่อไทยกับเส้นทางการปฏิรูปสื่อ ในยุคคืนความสุข ว่า ปัจจุบันข่าวดราม่าไม่ใช่มีเฉพาะข่าวบันเทิง แต่ขณะนี้มีเรื่องของข่าวกีฬาด้วย โดยมองว่าการทำข่าวทุกวันนี้ถูกชี้นำด้วยการตลาดแน่นอน สิ่งที่น่ากลัวสุดในการทำข่าวสำหรับยุคปัจจุบันคือความน่าเชื่อถือเพราะเริ่มเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับข่าวที่น่าสนใจมากกว่าความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ มองว่าสังคมปัจจุบันเริ่มซับซ้อนมากขึ้น สื่อสารมวลชนเริ่มมีเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ความหมายอาจขยายกว้าง ดังนั้นทางออกคือ ควรให้ผู้บริโภคมาคอยคัดค้านการทำงานของสื่อดีกว่าการให้สื่อควบคุมกันเอง
'ชนัญสรา'ชี้เป้าหมายปฏิรูปสื่อเพื่อให้รู้เท่าทัน
ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา อนุกรรมาธิการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน เปิดเผยระหว่างการเสวนา ดราม่าสื่อไทยกับเส้นทางการปฏิรูปสื่อ ในยุคคืนความสุข ว่า เป้าหมายหลักการทำงานปฏิรูปสื่อของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. คือเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ การที่จะกำหนดให้สื่อมีการกำกับดูแลกันเอง สปช. เห็นว่าควรแต่งตั้งให้ 3 คณะกรรมการ ในการส่งเสริมดูแลกำกับกันเอง โดยมองว่าองค์กรวิชาชีพสื่อควรจะได้รับการรับรองเพื่อเพิ่มมาตรฐาน โดยจะให้มีการออกบัตรประจำตัว คัดกรองคนเข้ามาในวิชาชีพสื่อ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับ กสทช. ในการตัดสินการกระทำความผิดของบุคคลในองค์กรสื่อ
"จักรกฤษณ์" ชี้ต้องสื่อสร้างความจริง
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยระหว่างการเสวนา ดราม่าสื่อไทยกับเส้นทางการปฏิรูปสื่อ ในยุคคืนความสุข ว่า การมีกฎหมายประกอบสื่อเป็นสิ่งที่ต้องตอบโจทย์สังคมในยุคนี้ว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ สิ่งที่ดราม่าที่สุดสำหรับสื่อในยุคนี้คือการสร้างความจริงของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อโดยแนะนำว่าถ้าจะให้การทำงานของสื่อดีที่สุด คือไม่ต้องมีองค์กรวิชาชีพ ไม่ต้องมีใครเข้ามาบังคับหรือกำกับดูแลสื่อ ทั้งนี้ ตนมองว่าข่าวที่ดราม่าในปัจจุบัน เป็นเนื้อหาที่สื่อประกอบสร้างขึ้น ดังเช่น ข่าวบันเทิง
ด้าน นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา ใบตองแห้ง กล่าวว่า องค์กรสื่อถ้ามีอำนาจตัดสินยิ่งเพิ่มความวุ่นวาย และนับว่าเป็นการใช้อำนาจในการปิดกั้นสื่อ ดังนั้น ตนมองว่าสื่อไม่ควรควบคุมกันเอง แต่สื่อต้องแข่งขันกันเอง เนื่องจากปัจจุบันสื่อมีความหลากหลายมากขึ้น ควรเปิดให้มีการแข่งขันของสื่ออย่างเสรี