กรมชลประทาน เน้นช่วยเหลือเกษตรกร

กรมชลประทาน เน้นช่วยเหลือเกษตรกร

กรมชลประทาน เน้นช่วยเหลือเกษตรกร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมชลประทาน ย้ำ จะเน้นช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกก่อน พร้อมเตือนต้องร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด

ส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผย ถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า ล่าสุดเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,133 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 333 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ (10 ส.ค.) 19.21 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำ วันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 3,460 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 610 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ (10 ส.ค.) 24.36 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำ วันละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยฯ จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 165 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 122 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ (10 ส.ค.) 6.17 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำ วันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 81 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 78 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ (10 ส.ค.) 11.28 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำ วันละ1 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งสิ้น 1,143 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ปัจจุบันยังคงการระบายน้ำรวมกันประมาณ วันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับการจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันได้มีการส่งน้ำไปให้กับพื้นที่ปลูกข้าวในทุกอายุ และจะเน้นไปที่การช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกก่อน ส่วนเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว ถ้าจะทำการเพาะปลูกต่อเนื่อง ให้อยู่ในดุลยพินิจของเกษตรกรเอง ว่า จะสามารถทำการเพาะปลูกได้หรือไม่

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาบ้างพอสมควร แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย และกรมชลประทาน จะเน้นเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่เหลือนี้ให้ได้มากที่สุด โดยจะไม่เพิ่มการระบายน้ำไปมากกว่าปัจจุบัน เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งยาวไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าให้มากที่สุด จึงขอให้ทุกภาคส่วน ร่วมมือกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook