สรรเสริญเผยภาษีมรดกมีผลม.ค.59 หวังลดเหลื่อมล้ำ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยภาษีมรดกมีผลบังคับใช้ ม.ค. 59 ชี้เป็นกฎหมายประวัติศาสตร์เรียกเก็บภาษีมรดก 100 ล้านบาทขึ้นไป หวังลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 ว่าด้วยภาษีการรับให้ ในกรณีที่โอนทรัพย์สมบัติก่อนผู้ให้เสียชีวิต ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 โดย พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2559 ทั้งนี้ กฎหมายเก็บภาษีรับมรดก และการยกให้โดยเสน่หาถือเป็นกฎหมายประวัติศาสตร์ที่นานาอารยประเทศมีใช้กัน และเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากฉบับหนึ่ง เพราะจะเป็นการจูงใจให้กลุ่มผู้มีฐานะดีบริจาคเงินเพื่อสาธารณะประโยชน์มากขึ้น และเปิดโอกาสให้รุ่นลูกหลานได้แสดงความสามารถในการทำงานสร้างฐานะของตนเองมากกว่ารอรับมรดกเพียงด้านเดียว ขณะเดียวกันเชื่อว่าการเรียกเก็บภาษีมรดกจะช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจในสังคมได้ รวมทั้งจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเป็นงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ภาษีการรับมรดกกำหนดให้ผู้รับมรดกต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาทในอัตรา 10% แต่ถ้าเป็นการรับมรดกจากบุพการี หรือผู้สืบสันดาน จะเสียในอัตรา 5% นอกจากนี้ ยังประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีการรับให้ควบคู่กัน เพื่ออุดช่องว่างกรณีการให้โดยเสน่หา โดยหากมีการโอนทรัพย์สมบัติให้ก่อนผู้ให้จะเสียชีวิตจะเข้าข่ายเป็นภาษีการรับให้ ซึ่งต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทในอัตรา 5% แต่หากเป็นกรณีบุพการีให้ผู้สืบสันดานกำหนดให้จ่ายภาษีส่วนที่เกิน 20 ล้านในอัตรา 5%