ภาค 4 แจงสังคม ปมหนี้ตำรวจ-ให้ออกราชการ หวังลดเหตุฆ่าตัวตาย
บช.ภ.4 ชี้แจง แก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะป้องกันไม่ให้ตำรวจฆ่าตัวตายเหตุให้ออกจากราชการ เพราะศาลสั่งล้มละลาย จ่อให้ออกจากราชการอีก 100 นาย ถ้าไม่ไปเคลียร์หนี้
(7 ส.ค.) พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ภาค 4 ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ล้มละลาย เงินไม่พอใช้ของข้าราชการตำรวจในสังกัด ปลดข้าราชการตำรวจระดับชั้นประทวนในสังกัด ภ.จว.อุดรธานี 5 นาย หลังถูกฟ้องล้มละลาย และเตรียมที่จะปลดอีกประมาณ 100 นาย ที่เป็นข้าราชการตำรวจ ภ.จว. ใน 12 จังหวัดที่สังกัด บช.ภ. 4
ผบช.ภ.4 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีนโยบายไม่ให้ตำรวจฆ่าตัวตาย บช.ภ.4 จึงได้นำมาปฏิบัติซึ่งพบว่าสาเหตุหลักที่ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย คือ เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวหาทางออกไม่ได้ จึงตัดสินปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย กลายเป็นปัญหาและสร้างความเสียหายกับสังคม
ประกอบกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขาดกำลังพล จึงต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ภ.4 เพื่อไม่ต้องการให้ข้าราชการตำรวจตัดสินปัญหาชีวิตของตัวเองในการที่คิดผิดด้วยการฆ่าตัวตาย
ในส่วนของข้าราชการตำรวจ มีสถิติข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ฆ่าตัวตายเฉลี่ย 29 นายต่อปี ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน สายงานที่ฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ สายงานป้องกันปราบปราม สาเหตุการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาจากหน้าที่การงาน ปัญหาสุขภาพ และอื่นๆ
พล.ต.ท.บุญเลิศ กล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าว เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 พบว่าข้าราชการตำรวจได้เป็นหนี้สินของธนาคารออมสิน และข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ภ.4 จำนวน 21,000 นาย เป็นหนี้ธนาคารออมสินประมาณ 12,000 นาย แต่ละนายจะมีหนี้สินตั้งแต่ 200,0000-2,000,000 บาท รวมเป็นยอดเงินทั้งหมดที่ข้าราชการตำรวจเป็นหนี้สินมากถึง 9,000 ล้านบาท
และข้าราชการตำรวจ บช.ภ.4 ที่ถูกฟ้องร้องของธนาคารออมสิน ตั้งแต่เริ่มผิดสัญญา นำเข้าสู่การฟ้องร้องที่ศาล และสุดท้ายได้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายตามขั้นตอนของกฎหมาย ขณะนี้ได้อยู่ในขั้นตอนที่ธนาคารออมสินฟ้องศาลให้เป็นบุคคลล้มละลายที่ได้สำรวจแล้วมี ประมาณ 2,500 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นประทวน และบางนายเป็นข้าราชการตำรวจสัญญาบัติ ซึ่งมียศถึง พ.ต.อ.
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นจึงได้ให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน จำนวน 5 นาย ออกจากข้าราชการ เพื่อไปเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้สิน พร้อมกับประสานกับทางธนาคารออมสิน เข้ามาเจรจาประนีประนอมกับข้าราชการตำรวจกลุ่มที่เป็นหนี้ อาจจะเป็นการยืดเวลา ลดเงินต้น หรือค่างวด ในการผ่อนชำระหนี้ พร้อมกับตัดยอดเงินให้กู้ลดลง เพื่อป้องกันปัญหาหนี้สะสมซ้ำเดิม
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลักๆ ก็เพื่อให้ข้าราชการตำรวจได้มีการจัดการปัญหาหนี้สินส่วนตัว และยังเป็นการลดปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายได้ในระดับหนึ่งด้วย