นายกยันลุยแก้ปัญหาปท.เดินหน้าศก.ย้ำไม่อยากใช้อำนาจ
นายกรัฐมนตรี เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม Bike For Mom เพื่อแสดงความจงรักภักดี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยืนยันลุยแก้ปัญหาประเทศ เดินหน้าเศรษฐกิจ ย้ำไม่อยากใช้อำนาจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เชิญชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชปณิธานให้จัดกิจกรรม "Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่" เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และความจงรักภักดีแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยจะจัดให้มีกิจกรรมการปั่นจักรยานพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับความคืบหน้าในเรื่องของการกำหนดเส้นทางปั่นจักรยานทั้ง 76 จังหวัด ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รวมถึงข้อมูลแผนที่เส้นทาง จุดเริ่มต้น จุดพัก ระยะทาง สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและศึกษาเส้นทางได้ที่เว็บไซต์ของทุกจังหวัด สำหรับประชาชนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เตรียมความพร้อม ทั้งสภาพร่างกายและตรวจสภาพรถจักรยานกันล่วงหน้า อาจจะมีการฝึกซ้อมให้ใกล้เคียงกับระยะทางจริง ศึกษากฎจราจร และปฏิบัติตามคำแนะนำในการปั่นจักรยานเพื่อความปลอดภัย
โดยกิจกรรมนี้ นอกจากจะส่งเสริมการออกกำลังกายแล้ว ยังคงเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคีของประชาชนชาวไทยในทุกภูมิภาค ทั้งนี้ ในช่วงที่ประชาชนในหลายๆ พื้นที่ ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทาน "น้ำพระทัย Bike for Mom พระราชทานดับภัยแล้ง" จำนวน 200,000 ขวดด้วย
นายกฯ ลุยแก้ปัญหาประเทศ เดินหน้า ศก.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ปัญหาในเชิงโครงสร้าง หลายเรื่องได้มีการแก้ไขไปแล้ว ได้มีการปรับโครงสร้างใหม่เป็นการชั่วคราวทั้งหมดในเรื่องของเศรษฐกิจ พลังงาน การเกษตร การค้า การลงทุนทั้งในไทย และต่างประเทศ การเดินหน้าการปฏิรูปและปรองดองนั้นต้องกำหนดการดำเนินงานไว้ให้ชัดเจน ขอประชาชนเข้าใจ และมีความอดทนในกรณีที่มีการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยนั้น ตนเองขออย่าอาศัยปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน มาใช้ประโยชน์ในการสร้างความขัดแย้งต่อภายในประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลก็จะพยายามหาทางออกให้ดีที่สุด อยากให้มีการพูดคุยกันทุกฝ่ายยืนยันรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกปัญหา ทุกความคิดเห็น หากขัดขวางหรือปลุกระดมจะทำให้แย่ไปกว่าเดิม ขอความร่วมมือช่วยกันหาทางออก ตนไม่อยากจะใช้อำนาจ ใช้กฎหมายในการเผชิญหน้า
นายกฯ ขอทุกฝ่ายพูดคุยห่วงกระทบ ศก.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า ขณะนี้ประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งประเทศต่าง ๆ เองก็มีการแข่งขันการลงทุนกัน ดังนั้น หากไทยไม่มีการเตรียมพร้อม ต่อไปก็จะตามไม่ทันเพื่อนบ้าน สูญเสียโอกาสการลงทุนต่าง ๆ นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มต่าง ๆ ที่ออกมาต่อต้านอยากให้มีการพูดคุย เพราะทุกปัญหามีทางออก และหากเกิดความไม่สงบเหมือนช่วงที่ผ่านมา ก็จะมีผลเรื่องเศรษฐกิจไทย งบประมาณจะเบิกจ่ายไม่ได้ ประเทศชาติต้องหยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม ตนเองรู้ดีว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นรัฐบาลเพื่อต้องการสร้างระบบธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมือง รับฟังเสียงประชาชน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นเชิงรุก เพื่อเตรียมมาตรการในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทส. เร่งหาแหล่งน้ำเพิ่มช่วยภัยแล้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ปัญหาภัยแล้งขณะนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้จะมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่แล้วก็ตาม รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องน้ำเพื่อการบริโภค จะต้องเพียงพอในอนาคต เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ต่อมาก็คือการดูแลเกษตรกรและพื้นที่การเกษตร หลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่นาที่ใกล้จะให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้แล้ว รวมถึงพืชสวนที่ยืนต้นตาย ต้องใช้เวลาในการเพาะปลูก ฟื้นฟูอีกหลายปี กว่าจะได้รับผลผลิตอีกครั้ง ตราบใดที่น้ำยังเพียงพออยู่ จะไม่เป็นปัญหา ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้มีการเดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ สำหรับรูปแบบของการบริหารจัดการจะสามารถดำเนินการได้ ในลักษณะ "การเหมางาน" โดยให้หมู่บ้าน ชุมชน มีการบริหารจัดการกันเอง เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ในเรื่องการฟื้นฟูภาคการเกษตร ภายใต้ "ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเกษตรกร" (ศชก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเกษตรอำเภอทั้ง 273 อำเภอใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาเป็นการวิเคราะห์
พื้นที่เสี่ยง จัดลำดับความสำคัญในการเข้าไปแก้ไขปัญหา ทั้งพื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่พืชสวนอื่นๆ ทั้งนี้ ต้องนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้าไปแนะนำด้วยรวมถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหา