กมธ.ให้ศาลอุทธรณ์แจกใบแดงแทนกกต.-คงส.ว.200คน
กรรมาธิการยกร่างฯ ให้ศาลอุทธรณ์แจกใบแดงแทน กกต. ขณะคุ้มครองเอกสิทธิ์สส. - สว.ในสมัยประชุมเว้นคดีโกง ด้าน 'ดิเรก' หนุนตัดสิทธิ์คนโกงตลอดไป พร้อมยังคง ส.ว. 200 คน สรรหาจาก 4 กลุ่ม 123 คน เลือกโดยตรง 77 จังหวัด ตัดปมจับสลากพร้อมยืนยันเป็นธรรม
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พร้อมด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน และ นายบรรเจิด สิงคะเนติ โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงชี้แจงการตัดอำนาจให้ใบแดงก่อน และหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่า ได้กำหนดคุณสมบัติ ส.ส. - ส.ว. สำหรับผู้ต้องคำพิพากษาคดีทุจริตเลือกตั้ง หรือถูกถอดถอน ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดไป ถือเป็นโทษร้ายแรงที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล คณะกรรมาธิการฯ เห็นพ้องว่า อำนาจการพิจารณาควรให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการ เพื่อให้การเลือกตั้ง สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว มีมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้ง ในอดีตมักมีปัญหาเรื่องพยานหลักฐาน จึงให้ดำเนินการพิจารณาทางลับเพื่อคุ้มครองพยานด้วย
ส่วนที่ไม่ให้อำนาจการให้ใบแดง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ในทางปฏิบัติ แม้จะเคยมีแต่น้อย เพราะส่วนใหญ่ก็จะเข้าสู่กระบวนของศาล หลังประกาศผลการเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงให้เป็นอำนาจของศาลพิจารณาโดยไม่ต้องผ่าน กกต
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่แขวนไว้ เรื่องคุณสมบัติของผู้มีใช้สิทธิ์เลือกตั้งจากเดิม ร่างแรกกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชน แต่เมื่อนำความเห็นจากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ให้บัญญัติว่า การใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นหน้าที่เช่นเดิมในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ต้องแจ้งเหตุผล ไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อรักษาสิทธิ์ ยกเว้น 3 กรณี คือ ผู้ที่อยู่ต่างประเทศ หรืออยู่นอกพื้นที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรืออยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนา ไม่ถึง 90 วัน
ส่วนกรณีผู้สมัคร ส.ส. มีคะแนนน้อยกว่าผู้ประสงค์ไม่ลงคะแนน ได้ข้อสรุปว่า จะจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยต้องมีคะแนน 20% แต่หากมีคะแนนไม่ถึง 20% อีก ให้ไปดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดรายละเอียดไว้
มติกมธ.คุ้มครองเอกสิทธิ์สส.สว.ในสมัยประชุมเว้นคดีโกง
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการพิจารณาเรื่องที่แขวนไว้วานนี้ ในประเด็นการคุ้มครองเอกสิทธิ์ ส.ส. และ ส.ว. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสมัยประชุมนั้น ได้กำหนดการจับกุม คุมขัง หรือออกหมายเรียก ส.ส. หรือ ส.ว. จะกระทำไม่ได้ เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่หากเป็นกรณีถูกจับกุมขณะทำความผิดหรือในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดอื่นที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส.ส. หรือ ส.ว. สามารถถูกสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาได้ ทั้งนี้ กรณีการจับกุม ส.ส. หรือ ส.ว. ในขณะทำความผิด จะต้องมีการรายงานไปยังประธานสภาฯ หรือประธานวุฒิสภาโดยทันที และประธานสภาฯ ทั้งสอง อาจสั่งร้องขอให้ปล่อยตัวได้ ขณะที่การฟ้องร้องในคดีอาญา ไม่ว่านอกหรือในสมัยประชุมสภาฯ ศาลจะพิจารณาคดีนั้น ในสมัยประชุมไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก 2 สภา โดยได้เพิ่มเติมกรณีความผิดอื่นที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และ ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้นั้น ยินยอมให้ดำเนินคดี ศาลจะสามารถพิจารณาคดีนั้นได้ แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่ ส.ส. หรือ ส.ว. มาประชุมสภา
'ดิเรก' หนุนตัดสิทธิ์คนโกงตลอดไป
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติห้ามผู้ถูกถอดถอนคดีทุจริตลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ซึ่งแม้จะเป็นโทษที่รุนแรง แต่ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะหากมีบทลงโทษรุนแรง ก็จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมานานของบ้านเมืองได้ แต่ทั้งนี้ ต้องรอดูเนื้อหาทั้งหมดของมาตราดังกล่าวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นายดิเรก กล่าวด้วยว่า การบัญญัติกฎหมาย จะต้องไม่มีผลย้อนหลังอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่า ไม่มีความยุติธรรม ต่อกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และผิดหลักการในการบัญญัติกฎหมายสากล
กมธ. คง ส.ว.200สรรหา4กลุ่มตัดจับสลาก
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมในประเด็นที่แขวนไว้เรื่องคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนที่มา ส.ว. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นแนวทางที่ยอมรับทุกฝ่าย โดยกำหนดให้มี ส.ว. 200 คน ที่มาจาก 5 แนวทาง คงเดิม แบ่งเป็นการสรรหา 4 กลุ่ม รวม 123 คน และจากการเลือกตั้งโดยตรง 77 จังหวัด พร้อมตัดคณะกรรมการคัดกรองแต่ละจังหวัด รวมถึงวิธีจับฉลากในกระบวนการสรรหาออก เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และได้สมาชิก ส.ว. ที่มีคุณภาพ สำหรับคณะกรรมการสรรหาแต่ละกลุ่มไม่ซ้ำกัน คือ 1.สรรหาปลัดกระทรวง 5 คน มีกรรมการสรรหา 5 คน 2.ผู้แทนสภาวิชาชีพ 22 องค์กร คัดให้เหลือ 15 คน มีกรรมการ 7 คน 3.องค์กรด้านต่าง ๆ 5 ด้าน ด้านละ 6 คน รวม 30 คน มีกรรมการสรรหา 12 คน และ 4.ผู้ทรงคุณวุฒิ 22 ด้าน 68 คน กรรมการ 18 คน