สธ.ปล่อยตัว20คนกลุ่มเสี่ยงติดเมอร์ส-ชายโอมานดีขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปล่อยตัว 20 คนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเมอร์ส หลังเฝ้าระวังครบ 14 วัน ชายโอมาน อาการดีขึ้น
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าผลการเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส วันนี้ว่า ได้มีการยุติการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยชายชาวโอมาน อายุ 75 ปี ชุดแรกแล้ว จำนวน 20 ราย โดยแบ่งออกเป็น เป็นผู้โดยสารร่วมทางเที่ยวบินเดียวกันแถวหน้าและแถวหลังจำนวน 14 คน แท็กซี่ 2 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อีก 4 คน เนื่องจากชุดดังกล่าวนี้เป็นผู้ที่ใกล้ชิดและสัมผัสกับผู้ป่วยเมอร์ส เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ถึงวันนี้ครบ 14 วัน พอดี ผลการตรวจหาเชื้อทั้ง 2 รอบ ขณะเฝ้าดูอาการเป็นปกติ คือ ไม่พบเชื้อเมอร์ส จึงได้ยุติการเฝ้าระวัง
ส่วนผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง ดูอาการขณะนี้เหลือ 16 ราย คือ ญาติ 3 ราย และบุคลากรจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อีก 13 รายนั้น คาดจะยุติการเฝ้าระวังได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ เนื่องจากทั้ง 16 คน ได้สัมผัสผู้ป่วยในช่วงวันที่ 17 มิถุนายน และผลการตรวจรอบแรกพบว่าอาการปกติ ไม่มีเชื้อเมอร์ส และไม่มีผู้ใดป่วยมีไข้หรือเข้าข่ายแล้ว
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ ยังกล่าวอีกว่าในส่วนของอาการชายชาวโอมานขณะนี้ดีขึ้นตามลำดับ ภายในเดือนกรกฎาคม นี้ น่าจะยุติการดูแลผู้ป่วยของแพทย์ได้ เนื่องจากคนไข้มีแนวโน้มที่ดีที่อาการจะหายขาด แต่ถึงอย่างไร ทางแพทย์จะต้องทำการตรวจรักษาละเอียดอีกครั้ง ย้ำประชาชนอย่าแตกตื่น เพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดจนกว่าประเทศที่ระบาดจะไม่พบผู้ป่วย
ด้าน นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส ในประเทศไทย ว่า ถึงทางกระทรวงสาธารณสุข จะได้ยุติการเฝ้าระวังบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยชายชาวโอมาน อายุ 75 ปีชุดแรก จำนวน 20 ราย รวมทั้งผลตรวจอาการต่างๆ ของผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิดทั้งหมดมีแนวโน้มดีขึ้น ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังคงมีการประชุมหาแนวทางการป้องกัน และตรวจคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงที่เดินทางเข้าออกประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเมอร์สตามเดิม
รวมทั้งขณะนี้ได้เตรียมส่งวิศวกรลงพื้นที่ตามโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดกว่า 400 แห่ง ซึ่งเป็นทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อสำรวจห้องควบคุมโรค ถ้าพบว่าโรงพยาบาลใดยังไม่มีก็จะได้เร่งดำเนินการจัดทำเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เข้าข่ายโรคติดต่อต่างๆ ส่วนโรงพยาบาลใดมีแล้วก็จะทำการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อเตรียมรับมือกับโรคติดต่อที่จะอุบัติใหม่ในอนาคตร่วมด้วย
รวมทั้งจะมีการส่งเจ้าหน้าแพทย์ที่ที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อ ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่บุคลากร แพทย์ พยาบาล สาธารณสุขและ ประชาชน ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือ และแนวทางการป้องกันโรคติดต่อด้วย