หมอเผยชายโอมานป่วยเมอร์สดีขึ้น-เกาหลีใต้ตายเพิ่ม2
ปลัด สธ. เผย ผู้ป่วยโรคเมอร์ส อาการดีขึ้นตามลำดับ มีโอกาสรอด ขณะญาติ 3 ราย ไม่มีอาการไข้แล้ว ยังกักตัวจนกว่าจะครบ 14 วัน ขณะที่ สธ.เรียก 200 ร.พ.เอกชน ซ้อมคุมเข้มเมอร์ส ย้ำ เอาอยู่ -เกาหลีใต้ตายเพิ่มอีก2
น.พ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงความคืบหน้า ชาวโอมาน วัย 75 ปี ผู้ป่วยโรคทางทางหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส ว่า อาการดีขึ้นอย่างช้า ๆ ตามลำดับอาจมีโอกาสรอดพ้นวิกฤติ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากผู้ป่วยมีอายุมาก และมีโรคประจำตัวด้วยส่วนญาติ 3 รายนั้น ไม่มีอาการไข้แล้ว แต่ยังพักอยู่ห้องแยกโรค ในสถาบันบำราศนราดูร เพื่อตรวจอาการทุกวัน จนครบ 14 วัน นับตั้งแต่วันที่สัมผัสกับผู้ป่วย
ส่วนผู้ที่กลับจากประเทศเสี่ยง ก็เข้ามาให้แพทย์ตรวจอาการเพื่อป้องกันโรคหลายราย ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ซึ่งถือว่าประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้จะมีประชุมโรงพยาบาลเอกชน คลินิกทั่ว กทม.และปริมณฑล กว่า 200 แห่ง ประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจ และป้องกันเกี่ยวกับโรคดังกล่าวด้วย
สธ.เรียก200รพ.เอกชนซ้อมคุมเข้มเมอร์สย้ำเอาอยู่
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีการเรียกประชุมโรงพยาบาลเอกชนและคลีนิคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กว่า 100 แห่ง เข้าร่วมประชุมชี้แจง แนวทางการวินิจฉัย การเฝ้าระวัง และการส่งต่อผู้ป่วยโรคเมอร์ส ที่ โรงแรมริชม่อน วันนี้ ว่า เป็นการเรียกประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจ หลังที่ผ่านมาได้มีการส่งหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติให้กับสถานพยาบาลต่างๆไปแล้ว แต่ยังมีบางจุดที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ทำให้ระบบดูแลและการป้องกันมีความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งได้มีการเชิญโรงพยาบาลของเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กว่า 100 แห่ง คลินิกที่มีนักท่องเที่ยวอยู่เยอะ จำนวนกว่า 100 แห่ง โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น ถึง เวลาประมาณ 14.00 น.
ทั้งนี้ในเบื้องต้น การประชุมจะกำชับและเน้นใน 3 เรื่อง อาทิ 1. การส่งต่อผู้ป่วย ที่ต้องสงสัย ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส จะต้องไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระหว่างเดินทาง 2.แนวทางการดูแล การส่งและการขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน หากมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยและ 3.ผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีที่เดินทางมาจากตะวันออกกลาง ประเทศที่มีการแพร่ระบาด หรือนักท่องเที่ยวที่มีการนัดรักษาล่วงหน้า ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะต้องถูกคัดกรองเป็นพิเศษ ทั้งประวัติการรักษา ที่มา และการตรวจร่างกายเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ธเรศ ยังกล่าวยืนยันอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเมอร์สเพียงรายเดียวซึ่งอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และขอให้มั่นใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมดูแลได้
สธ.เกาหลีใต้พบเหยื่อไวรัสเมอร์สตายเพิ่มอีก2
กระทรวงสาธารณสุข และสวัสดิการเกาหลีใต้ เปิดเผย พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อกลุ่มโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส เพิ่มอีก 2 ราย รวมผู้เสียชีวิตเป็น 27 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อ 169 ราย ขณะที่ผู้ป่วยราว 50 คน ได้รับการรักษาตามอาการจนปลอดแพทย์จึงให้ออกจากโรงพยาบาลได้ส่วนผู้ที่ต้องกักบริเวณเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อในปัจจุบันลดลงอยู่ที่ 3,833 คน จาก 4,035 คน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีหนึ่งในผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่งแสดงอาการหลังเข้ารับการกักบริเวณนานเกือบ 3 สัปดาห์ ทำให้เกิดการพิจารณาความจำเป็นว่าอาจจะขยายเวลาการกักบริเวณ จาก 14 วัน ออกไปอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ในเกาหลีใต้ อยู่ที่ร้อยละ 15.7 เป็นรองเพียงซาอุดีอาระเบีย ที่เป็นประเทศแรกที่มีการพบผู้ติดเชื้อเมื่อปี 2555 และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 400 ศพ
รมว.ท่องเที่ยวฯ ถกหน่วยงานติดตามเมอร์ส
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยก่อนการเข้าประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์ส ซึ่งกล่าวยืนยันว่า ล่าสุดสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มีการยกเลิกการจองที่พักล่วงหน้า (Booking) พร้อมกันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการเตรียมความพร้อมป้องกันรับมือ ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานที่บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่า การติดตามเฝ้าระวังควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แสดงถึงการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานระดับสากล International Health Regulation : IHR พร้อมกันนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้จัดหลุมจอดรองรับเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศสุ่มเสี่ยง 7 ประเทศ บริเวณอาคารประตู E และ F เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด โดยยืนยันว่า สถานการณ์ล่าสุด ไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอส์เพิ่มเติมในประเทศไทย นอกจากนี้ ได้ประสานไปยังที่พัก โรงแรมต่าง ๆ หากพบนักท่องเที่ยวที่มีไข้ หรืออาการจาม ไอ ให้ติดต่อมาที่เลขหมายด่วนกระทรวงสาธารณสุข (Call Center) ได้ที่ 1669 โดยจะมีทีมแพทย์ พยาบาลเข้าไปดูแล
ขณะที่ในปีนี้จะมีการเดินทางไปแสวงบุญในประเทศตะวันออกกลางของชาวไทยมุสลิมจำนวน 15,000 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมบุคลากร จำนวนแพทย์ พยาบาล เพียงพอในการดูแล รวมถึงได้มีการส่งทีมงานไปสร้างความเข้าใจถึงขั้นตอนการระมัดระวังการดูแลโดยตรงกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวภาคเอกชน
นอกจากนี้ นางกอบกาญจน์ กล่าวถึงกรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศติดสัญลักษณ์ธงแดงหน้าชื่อของประเทศไทยผ่านเว็บไซต์นั้น ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งการเดินทางของนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการสายการบินต่างสัญชาติเข้ามายังไทย หรือสามารถเปลี่ยนสลับสายการบินได้ หากพบเจอปัญหาใด พร้อมกันนี้มั่นใจว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยในปี จะอยู่ที่ 28.8 ล้านคน สามารถสร้างรายได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท
สธ.ย้ำผู้ป่วยเมอร์สมีรายเดียว-เฝ้าระวังผู้สัมผัส
น.พ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมร่วม 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และรับมือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส ว่า วันนี้มีการพูดคุยกันใน 3 ประเด็น คือ การติดตามสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติม ติดตามมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ออกไปว่า มีการดำเนินการไปแล้วอย่างไร และมีปัญหาอุปสรรค อย่างไรบ้าง และการเพิ่มทีมยุทธศาสตร์ นักวิชาการ และประเมินปัญหาในอนาคต เพื่อวางมาตรการตอบโต้
ซึ่งขณะนี้สามารถยืนยันผู้ติดเชื้อได้แล้วว่ามีเพียง 1 ราย และอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผู้สัมผัสผู้ป่วยจากเดิมที่เฝ้าระวัง 176 ราย ขณะนี้ ลดลงเหลือ 163 ราย เพราะได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว 13 ราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังคงติดตามผู้สัมผัสอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จากการประเมินความเสี่ยงในประเทศไทยขณะนี้ พบว่าความเสี่ยงลดลง และต้องรอต่ออีก 1 สัปดาห์ เพื่อสังเกตอาการผู้ป่วย และผู้สัมผัสผู้ป่วย
สำหรับมาตรการในการรับมือในอนาคต หากพบว่ามีผู้สัมผัสผู้ป่วยมากขึ้น ได้เตรียมโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ กทม. ไว้แล้ว แต่หากมีผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยมากขึ้น ได้ประสานกับกองทัพในการหาสถานที่รองรับไว้ให้เพียงพอในการเฝ้าระวัง และตรวจวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกประกาศคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่องรับมือ วิธีการปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมโรค พ.ศ. 2523 ต่อไป