สนช.ถกแก้รธน.ชั่วคราว3วาระรวด-พีระศักดิ์เชื่อโหวตผ่าน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติผ่านวาระแรก ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ขณะ 'วิษณุ' แจงเหตุผลการพิมพ์ร่างแจกประชาชน ก่อนประชามติ
บรรยากาศการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ล่าสุด ประธานกดสัญญาณเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุมแล้ว เพื่อเตรียมพิจารณาวาระเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยร่างที่เสนอแก้ไขมีทั้งหมด 9 มาตรา สามารถแยกเป็น 7 ประเด็นหลัก อาทิ การแก้ไขคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของ สนช. การขยายเวลาให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาแก้ไขตามข้อเสนอแนะ จาก 60 วัน เพิ่มอีกภายใน 30 วัน การหมดวาระทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้งนี้ การอภิปรายจะเริ่มทีละมาตรา จากนั้น จึงลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
สำหรับขั้นตอนการลงมติจะใช้รูปแบบขานชื่อเป็นรายบุคคล ซึ่งจะต้องมีคะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ที่มีจำนวน 220 คน หรือไม่น้อยกว่า 110 เสียง และหากที่ประชุมเห็นชอบจะส่งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยต่อไป
ทั้งนี้การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 พร้อมได้ชี้แจงขั้นตอนการพิจารณาทั้งวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 โดยวันนี้ มีตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี และ คสช. ร่วมประชุมด้วย คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะที่ปรึกษา คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง และในฐานะรองหัวหน้า คสช. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะวิปรัฐบาล โดย นายวิษณุ ชี้แจงหลักการใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อกำหนดวิธีการทำประชามติ ซึ่งเหตุผลที่ไม่ได้บัญญัติไว้ตั้งแต่ตอนต้น เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ได้เปิดช่องด้วยการมีมาตรา 46 เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมได้ รวม 7 ประเด็น โดยเฉพาะการทำประชามติ หลังจาก สปช. ให้ความเห็นชอบ
'พีระศักดิ์' มั่นใจ สนช. โหวตผ่านแก้ รธน.
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.โดยมั่นใจว่า สมาชิกจะลงมติผ่านความเห็นชอบ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอขอแก้ไข 7 ประเด็น เนื่องจากพิจารณาเหตุผล มีความเหมาะสม พร้อมยืนยัน ที่ประชุม สนช. วันนี้จะพิจารณาจบใน 3 วาระรวด ตามกำหนดไว้ แม้จะมีบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง บ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 จะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูป ที่มีสมาชิกบางส่วนไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่จะไม่เป็นอุปสรรคในการอภิปราย ที่ต้องขยายเวลาออกไปอีก 1 วัน แต่อย่างใด ซึ่งกรอบระยะเวลาในการพิจารณา จะใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง
ทั้งนี้ นายพีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเดินทางเข้ามาอธิบายเหตุผล 7 ประเด็น ที่ขอแก้ไข และเรื่องการจัดทำเอกสารแจกจ่ายในขั้นตอนกระบวนการทำประชามติ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศด้วย
ประชุม สนช.ต่อเนื่องลงมติวาระ 1
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ล่าสุด อยู่ในช่วงการลงมติวาระ 1 แบบขานชื่อรายบุคคลว่ารับหรือไม่รับหลักการ โดยก่อนหน้านี้ สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขร่างดังกล่าว แต่ยังกังวลเรื่องการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ 200 คน ไม่ยึดโยงกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ชี้แจงคำถามสมาชิก สนช. ที่อภิปรายว่า เหตุที่ต้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ สิ้นสุดวาระภายหลังลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เพื่อให้ สปช. มีอิสระในการลงมติ สำหรับการแก้ไขคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของ สนช. มองว่า ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน โดยให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์ได้เกิดความเป็นธรรม และหวังให้มีความปรองดอง ส่วนบุคคลใดจะเข้ามาทำงานหรือไม่ขึ้นอยู่กับอนาคต
สนช. มีมติผ่านวาระแรก ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรก ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ....) พุทธศักราช .... ที่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เสนอ ด้วยคะแนนเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 204 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากนั้น พิจารณาวาระ 2 แบบเต็มสภาต่อทันที โดยพิจารณาเป็นรายมาตรา รวม 9 มาตรา ขณะที่ก่อนลงมติวาระ 1 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะที่ปรึกษา คสช. ชี้แจงต่อคำถามของสมาชิก สนช. ที่ว่า การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญจะทั่วถึงหรือไม่ ซึ่งตามหลักการทำประชามติต้องให้ข้อมูลแก่ผู้มีสิทธิ์ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ จึงต้องแจกจ่ายร่างชี้แจง แต่หากแจกเฉพาะตัวบุคคลที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ไม่มีตัวชี้วัดว่าจะใช้สิทธิ์หรือไม่ และต้องแจกถึง 49 ล้านฉบับ จึงใช้วิธีส่งร่างให้ถึงมือครัวเรือนไม่น้อยกว่า 80% หรืออย่างน้อย 19 ล้านครัวเรือน จากทั้งหมด 23 ล้านครัวเรือน ถึงจะทำประชามติได้