สมบัติแจงกมธ.เน้นตรวจสอบเข้มแข็ง-ค้านปรับระบบลต.

'สมบัติ ธำรงธัญวงศ์' แจง กมธ.ยกร่างรธน. เสนอเพิ่มกลไกตรวจสอบให้เข้มแข็ง รัฐบาลมีเอกภาพ ค้านปรับระบบเลือกตั้ง ตัด ม.181,182 ขณะที่ ''วิษณุ'' รับศึกษาข้อเสนอนายกฯ อยู่อีก 2 ปี - แจง กมธ.ยกร่างราบรื่นมีหลายประเด็นไม่เข้าใจ
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองได้เสนอให้บัญญัติเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้สั้น กระชับ ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมให้เขียนไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่ารัฐธรรมนูญต้องทำให้โครงสร้างทางการเมืองเข็มแข็ง ต้องให้รัฐบาลมีเอกภาพ แต่ได้เสนอเพิ่มเติมให้มีการสร้างกลไกที่เข้มแข็งสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ รวมถึงมองว่าการกำหนดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับโครงสร้างระบบเลือกตั้ง เชื่อว่าไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งดีขึ้น แต่ยังเพิ่มความอันตรายต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนถือเป็นเรื่องที่ดีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีแนวโน้มจะปรับแก้ในเรื่องของกลุ่มการเมือง มาตรา 181 และมาตรา 182
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายเวลาการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไปอีก 30 วัน เป็น 90 วันนั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญจะได้มีความละเอียดมากขึ้น
ไพบูลย์เร่งรวมชื่อแก้รธน.ชงนายกปฏิรูป2ปีก่อนลต.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงความคืบหน้าในการรวบรวมรายชื่อ 50,000 ราย เสนอรัฐบาลให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อกำหนดให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ส่วนกำหนดระยะเวลานั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าประเด็นที่มีการเสนอให้นายกฯ อยู่ต่อ 2 ปีนั้น การปฏิรูปในระยะเวลา 2 ปี เป็นเรื่องประเด็นหลักที่มีสำคัญต่อบ้านเมือง โดยจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม นับจากวันที่มีการลงประชามติแล้ว ไม่ใช่เป็นการเริ่มภายในตอนนี้ และตนเองว่าเชื่อสามารถทำได้ตามระยะเวลา2 ปี โดยการวัดผลนั้น มาจากการที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมมีความมั่นคงขึ้น นั้นถือเป็นการประเมิณผลได้ในระดับหนึ่ง ส่วนบางเรื่องที่เป็นการปฏิรูประยะยาว อาจใช้เวลานานกว่านั้น
'สมบัติ' ย้ำเสนอแก้ร่าง รธน. เหลือ 118 ม.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ในการเข้าชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันนี้ จะเป็นการนำเสนอเหตุผลประกอบในแต่ละประเด็น ที่ได้มีคำขอแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องที่จะเสนอให้เขียนสั้นลงจาก 315 มาตรา ให้เหลือ 118 มาตรา แต่ไม่จำเป็นต้องตรงตามที่เสนอก็ได้ เพียงแต่ต้องการให้เป็นไปตามแบบสากล บัญญัติเฉพาะสาระสำคัญ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ให้นำไปเขียนไว้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแทน
ทั้งนี้ นายสมบัติ ยังกล่าวด้วยว่า ร่าง รธน. ของกรรมาธิการยกร่างมีความใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ระบบเลือกตั้งเป็นแบบสัดส่วนคู่ขนาน ทำให้มีรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากและองค์กรการตรวจสอบมีความอ่อนแอ กมธ.ยกร่างจึงนำระบบสัดส่วนผสมมาใช้ เพื่อให้ได้รัฐบาลผสม ที่ไม่เข้มแข็ง ซึ่งมองว่า จะไม่สามารถนำพาประเทศไปข้างหน้าได้ ดังนั้น ควรมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็งตามไปด้วย เช่น การเสนอให้มีการถอดถอนผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา รวมถึงเสนอให้ ส.ส. 1 ใน 10 ยื่นประธานวุฒิสภา แต่งตั้งกรรมากรไต่สวนอิสระตรวจสอบรัฐบาลได้ หากพบผิดจริงก็ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทันที ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การตรวจสอบเข้มแข็งมากขึ้น
สมบัติหนุนแนวคิดไพบูลย์ชี้แนวทางปชต.ถูกต้อง
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า กรณีการเสนอให้ทำประชามติให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งอีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องมีการรวบรวมรายชื่อในเวลานี้ เพราะคณะรัฐมนตรีมีมติที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดทางทำประชามติอยู่แล้ว โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ แต่หากจะมีการขอให้เพิ่มเรื่องที่จะทำประชามติ นอกเหนือจากการรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นการเสนอให้ นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่อีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งนั้นสามารถทำได้ ในขั้นตอนดังกล่าว จึงสมควรที่จะมีการล่ารายชื่อเป็นเสนอต่อไป
ทั้งนี้ นายสมบัติ ยังกล่าวด้วยว่า ข้อเสนอให้นายกฯ ทำหน้าที่อีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง ที่จะให้ถามประชาชนก่อนนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งหากประชาชนต้องการก็ไม่สามารถที่จะไปขัดได้ แต่หากประชาชนไม่ต้องการ รัฐบาลก็ต้องทำตามเสียงของประชาชน ส่วนประเด็นหาก สปช. ลงมติไม่รับร่าง รธน.นั้นทุกอย่างต้องเป็นไปตาม รธน.ชั่วคราวกำหนดไว้คือ ยุบทั้งหมด และดำเนินการสรร กมธ.ยกร่างใหม่ต่อไป แต่หาก สปช. เห็นชอบ แต่ไม่ผ่านประชามติ ก็มีแนวทางตาม ที่ นายวิษณุ เคยกล่าวไว้ ซึ่งต้องรอดูการพิจารณาอีกครั้ง
'วิษณุ' รับศึกษาข้อเสนอนายกฯ อยู่อีก 2 ปี
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสนอให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่ออีก 2 ปีว่า ขณะนี้กำลังศึกษาว่าจะสามารถนำเรื่องดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนลงมติได้หรือไม่ ซึ่งหากมีการแก้ไขคงเป็นลักษณะของภาพรวมมากกว่าลงในรายละเอียด เพราะเกรงว่าจะเกิดความสับสนในช่วงการทำประชามติ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหาหน่วยงานมารับผิดชอบออกแบบคำถาม แต่ไม่ใช่รัฐบาลอย่างแน่นอน
พร้อมกันนี้ นายวิษณุ ยืนยันว่า แม้จะมีโพลหลายสำนักออกมาหนุนให้รัฐบาลอยู่ต่อ แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากโพลมีการจัดทำในทุกสัปดาห์และหัวข้อเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการเดินทางเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถึงข้อเสนอการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า บรรยากาศการชี้แจงเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากทางรัฐบาลได้มีการส่งเอกสารไปแล้วว่าจะมีการชี้แจงสิ่งใดบ้าง ซึ่งตนได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด 117 ประเด็น ซึ่งบางเรื่องรัฐบาลยังไม่มีความเข้าใจ เช่น เรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะบางมาตราที่ยังไม่ระบุชัดเจน จึงเสนอให้แก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้มีการโยนความผิดให้รัฐบาลชุดนี้
ส่วนประเด็นการตั้งสภาขับเคลื่อน เห็นด้วยที่จะให้มีการตั้งขึ้น แต่ควรมีความชัดเจนในที่มาของสมาชิกและอำนาจหน้าที่ ส่วนข้อกังวลว่าจะมีความซับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภานั้น นายวิษณุ ระบุว่า สภาขับเคลื่อนต้องเสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนการดำเนินการ