กรมควบคุมโรคเร่งทำวิจัยแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

กรมควบคุมโรคเร่งทำวิจัยแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

กรมควบคุมโรคเร่งทำวิจัยแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรค จัดทำวิจัยแก้ปัญหา ผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้เข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผย ว่า กรมควบคุมโรคได้จัดโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้เข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ได้แก่ โครงการตรวจเอชไอวี และรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันที ในชุมชนหรือเทสต์แอนด์ทรีต และ โครงการประเมินการกินยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี หรือเพร็พ ทั้ง 2 โครงการนี้ดำเนินการในกลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสอง ซึ่ง ประเทศไทยต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์มาเป็นเวลา 31 ปี คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ทั่วประเทศ 426,707 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,324 คน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ กรุงเทพฯ 

โดยยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย และให้ผู้ติดเชื้อ HIV ทุกคน เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้รับบริการตรวจเลือด เมื่อผลเลือดบวก จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันที ไม่ต้องรอให้ระดับซีดีสี่ต่ำ ทั้งนี้ตั้งเป้ายุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 คือเด็กทารกแรกเกิดไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วัยผู้ใหญ่ลดลงน้อยกว่า 1,000 รายต่อปี ผู้ติดเชื้อทุกคนได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสหลังการวินิจฉัย

ทางด้าน นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า ในการวิจัยโครงการเทสต์แอนด์ทรีต ใช้กลุ่มชายรักชายและสาวประเภทสองที่ติดและยังไม่ติดเชื้อ และศึกษาความเป็นไปได้ของการเริ่มให้ยาต้านไวรัสทันทีหลังจากรู้ว่าติดเชื้อ โดยศึกษาในชุมชนและในสถานบริการใน 7 จังหวัดใหญ่ที่มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในอันดับต้นๆ รับอาสาสมัคร จำนวน 8,000 คน 

ส่วนโครงการเพร็พ เป็นการศึกษาการตัดสินใจในการกินยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในคนที่กินยา และผลข้างเคียงจากยา โดยศึกษาจำนวน 600 ดำเนินโครงการ 3 ปี เปิดรับสมัครอาสาสมัครทั้ง 2 โครงการ จนถึงพฤษภาคม 2559 จากนั้นจะติดตามอาสาสมัครทุกคนเป็นเวลา 18 เดือน และใช้เวลาสรุปผลการศึกษา 6 เดือน


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กำลังโหลดข้อมูล