ส่องว่าที่ส.ว.ป้ายแดง สายสัมพันธ์การเมือง ใกล้ชิดพรรคใหญ่ 55 หน่อ

ส่องว่าที่ส.ว.ป้ายแดง สายสัมพันธ์การเมือง ใกล้ชิดพรรคใหญ่ 55 หน่อ

ส่องว่าที่ส.ว.ป้ายแดง สายสัมพันธ์การเมือง ใกล้ชิดพรรคใหญ่ 55 หน่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านพ้นไปแล้วการเลือกตั้ง ส.ว. 77 จังหวัด 77 เก้าอี้ ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ พอจะรู้แล้วว่าใครเป็น ส.ว.จังหวัดไหน คำถามคือ ใครมีสายสัมพันธ์กับใคร ใกล้ชิดนักการเมือง กลุ่มการเมืองกลุ่มไหน

หากมองตามแต่ละภาคจะเห็นว่า ส.ว.แต่ละจังหวัดจะอิงกับฐานเสียงของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง อย่างภาคเหนือและภาคอีสานก็จะอิงกับพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะที่ภาคใต้ก็จะใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม กปปส.

ลองมาดูว่า ว่าที่ ส.ว.ป้ายแดง แต่ละคนมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มไหนอย่างไร

เริ่มที่กรุงเทพฯ ที่ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หรือ "หญิงเป็ด" อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่เคยตรวจสอบคดีต่างๆ ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

หากดูการเลือกตั้ง ส.ส.และผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่ผ่านมา ที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะพรรคเพื่อไทย

ยิ่งเมื่อ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ช่วยหาเสียงให้ "หญิงเป็ด" บนเวที กปปส. ก็ยิ่งชัดว่า "คุณหญิงจารุวรรณ" ไม่ได้อิงกับพรรคเพื่อไทยแน่

ขึ้นไปที่ภาคเหนือ ว่าที่ ส.ว.เชียงราย มงคลชัย ดวงแสงทอง อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ค่อนข้างสนิทสนมกับ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่ รมช.กระทรวงมหาดไทย จากพรรคเพื่อไทย เสียงส่วนใหญ่มาจากคนเสื้อแดงกลุ่มลูกคนเมืองรักชาติเชียงราย

ส่วนเชียงใหม่ อดิศร กำเนิดศิริ อดีตรองผู้ว่าฯเชียงใหม่ ก็เป็นคนใกล้ชิด "เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" อดีต ส.ส.เชียงใหม่ แกนนำกลุ่มวังบัวบาน พรรคเพื่อไทย

พะเยา เสถียร เชื้อประเสริฐศักดิ์ ก็เคยเป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย และอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2

ลำปาง วราวุฒิ หน่อคำ ได้รับการสนับสนุนจาก ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีต ส.ส.ลำปาง หลายสมัย พรรคเพื่อไทย ที่ชนะ บุญชู ตรีทอง อดีต ส.ส.ลำปางไปได้

ลำพูน ตรี ด่านไพบูลย์ หรือชื่อเดิม "มนตรี" อดีต ส.ส.ลำพูน และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ก็ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย

พิจิตร พิชัย ด่านรุ่งโรจน์ อดีตรองนายก อบจ.พิจิตรใกล้ชิดกับ เสธ.หนั่น-พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และ ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรฯ

นครสวรรค์ เรืออากาศเอกจักรวาล ตั้งภากรณ์ อดีตรองนายก อบจ.นครสวรรค์ เป็นพี่ชาย พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ไปที่ภาคอีสานบ้าง

อุดรธานี อาภรณ์ สาราคำ ภรรยา ขวัญชัย สาราคำ ประธานชมรมคนรักอุดร ชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่มาจากคนเสื้อแดง

ขณะที่ สมชาย เหล่าสายเชื้อ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้าดีเยี่ยม จำกัด ว่าที่ ส.ว.อุบลราชธานี พร้อมภรรยาคือ ประยูร เหล่าสายเชื้อ ว่าที่ ส.ว.ยโสธร ทั้งคู่ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย

"แพน หรือนายอำเภอแพน พรไตรศักดิ์" ว่าที่ ส.ว.กาฬสินธุ์ เข้าป้ายเอาชนะ วิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส.หลายสมัย ต่างได้รับสนับสนุนจากคนเสื้อแดงคนละกลุ่ม

นครราชสีมา พงษ์ศิริ กุสุมภ์ อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัด และเคยเป็นอดีตรองผู้ว่าฯโคราช ใกล้ชิดกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา

บุรีรัมย์ "เสริมศักดิ์ ทองศรี" อดีตรองนายก อบจ.บุรีรัมย์ เป็นพี่ชาย ทรงศักดิ์ ทองศรี แกนนำพรรคภูมิใจไทย และเป็นน้องชาย เพิ่มพูน ทองศรี อดีต ส.ว.บุรีรัมย์

มหาสารคาม ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต ส.ว. อดีต รมว.ศึกษาธิการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชาชน ก็ชัดเจนว่ามีฐานเสียงหนุนจากพรรคเพื่อไทย และเป็นแคนดิเดตที่จะนั่งประธานวุฒิสภา

ลงมาภาคกลาง จองชัย เที่ยงธรรม ว่าที่ ส.ว.สุพรรณบุรี อดีต ส.ส.อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง มีชื่อมากับ บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

สระบุรี บุญส่ง เกิดหลำ หรือ "ส.จ.ใหญ่" ก็เคยเป็นหัวคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย

ชัยนาท มณเฑียร สงฆ์ประชา บุตรชายของ บุญธง สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท และเป็นพี่ชาย นันทนา สงฆ์ประชา ว่าที่ ส.ส.ชัยนาท พรรคเพื่อไทย

อุทัยธานี ไพโรจน์ ทุ่งทอง บุตรชายของ ศิริ ทุ่งทอง อดีต ส.ส.อุทัยธานีหลายสมัย ใกล้ชิดกับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา

พระนครศรีอยุธยา คณิพงษ์ แขวัฒนะ เป็นบุตรชายของ บุญพันธ์ แขวัฒนะ อดีต ส.ส.อยุธยาและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง

สมุทรปราการ วราภรณ์ อัศวเหม บุตรสาวของ สมบูรณ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ และหลานสาวของ วัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง

ลงไปที่ภาคใต้ ประจวบคีรีขันธ์ สืบยศ ใบแย้ม"อดีตนายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ และอดีตคณะทำงานของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ชุมพร พ.ต.อ.นรินทร์ บุษยวิทย์ อดีตรอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร ออกงานร่วมกับ "สุพล จุลใส" นายก อบจ.ชุมพร เป็นประจำ

สุราษฎร์ธานี พล.อ.อ.สุจินต์ แช่มช้อย อดีตผู้บังคับการกองบิน 7 สุราษฎร์ธานี ก่อนลงสมัครเข้านอกออกในบ้านของนักการเมืองใหญ่ใน จ.สุราษฎร์ธานี

นครศรีธรรมราช พ.ต.อ.ธรรมนูญ ไฝจู ฉายามือปราบจอมโจรไข่หมูก เป็นลูกศิษย์ของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ

พัทลุง ทวี ภูมิสิงหราช อดีตประธาน กปปส.พัทลุง

สงขลา อนุมัติ อาหมัด อดีตที่ปรึกษา สุรินทร์ พิศสุวรรณ

ตรัง สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ว.ตรัง เป็นพี่ชาย สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์

กระบี่ อภิชาติ ดำดี นักวิชาการอิสระ ที่พักหลังขึ้นเวที กปปส. อยู่บ่อยครั้ง

ภูเก็ต ชัยยศ ปัญญาไวย ทนายความ เคยร่วมต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใกล้ชิดสนิทสนมกับแกนนำ กปปส.ภูเก็ต

คงพอจะเห็นแล้วสำหรับว่าที่ ส.ว.เลือกตั้งป้ายแดงใครเป็นใคร สัมพันธ์กับใคร

ที่น่าจับตาคือการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ จะเป็นการชิงชัยกันระหว่าง ส.ว.เลือกตั้ง กับ ส.ว.สรรหา ในกลุ่ม ส.ว.สรรหาเตรียมจะทวงเก้าอี้นี้คืนมาอีกครั้ง ก่อนที่ ส.ว.สรรหาจะครบวาระการทำหน้าที่ในอีก 3 ปีข้างหน้า

เนื่องด้วยการได้ ส.ว.ของแต่ละฝ่ายขึ้นมาทำหน้าที่ประมุขของสภาสูง จะเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ควบคุมการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

หากไล่เรียงว่าที่ ส.ว.ทั้ง 77 จังหวัด จะพบว่า ว่าที่ ส.ว.ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางบางจังหวัด ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและมีฐานคะแนนเสียงเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย

คำนวณตัวเลขอยู่ที่บวก-ลบ 55 ที่นั่ง รวมกับกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้งสายกลาง และ ส.ว.สรรหาที่ไม่ใช่กลุ่ม 40 ส.ว. บวก-ลบ 40 ที่นั่ง เสียงของกลุ่ม ส.ว.ที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองพรรคใหญ่ จำนวนเสียงน่าจะอยู่ที่บวก-ลบ 95 เสียง

จะมีผลสำคัญต่อการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากการถอดถอนต้องใช้เสียงของ ส.ว. 3 ใน 5 ของ ส.ว.ทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 90 เสียง

ภาพของสภาสูงจึงสะท้อนการเมืองแบ่งฝ่าย ที่ปรากฏในสภาผู้แทนฯ และสังคมไทยในขณะนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook