เมืองหนังสือโลกมุ่งสร้างค่านิยม การอ่านยั้งยืน อ่าน เขียน และคิดแบบวิทยาศาสตร์

"วิทยาศาสตร์"ดูเหมือนเป็นเรื่องยากซับซ้อน ที่ขีดวงจำกัดไว้สำหรับเด็กเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิทยาศาสตร์กลับกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักเหตุและผลในเชิงประจักร์ที่สามารถอธิบายและพิสูจน์ได้ ซึ่งทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่สามารถมีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการเรียน การดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงานได้เช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ทั้งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นักพัฒนา และนักปฏิรูปนั่นเองที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและประเทศชาติให้ก้าวหน้า
จัดประกวดมุมส่งเสริมการอ่านและโครงงานวิทยาศาสตร์
ในฐานะที่เป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 ( Bangkok World Book Cappital 2013) ซึ่งมีพันธกิจในการเสริมสร้างให้คนไทยหันมาให้ความสนใจกับการอ่านเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยคนละ 15 เล่มต่อปี โดยไม่จำกัดความหนาและประเภทของหนังสือ กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน จึงได้ดำเนินกิจกรรม "หนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์" ขึ้น เริ่มต้นด้วยการจัดประกวดมุมส่งเสริมการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ในโรงเรียน ร้านหนังสือและหน่วยงานต่างๆ ในช่วงสิงหาคม - ตุลาคม 2556 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 2 แสนบาท โดยมีเป้าหมาย 300 แห่งเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะมอบรางวัลในเดือนตุลาคมนี้ ขณะเดียวกันได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน และจัดประกวดโครงงานพร้อมทั้งโชว์ผลงานในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ประจำปี
วิทยาศาสตร์เรื่องใกล้ตัวที่น่าสนุก
ล่าสุดระหว่าง 19-25 สิงหาคม 2556 กรุงเทพมหานคร โดย สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และภาคีเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันจัดงาน Scientific Fair ส่งเสริมการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ขึ้น ณ บริเวณทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้า (Sky Walk) BTS สถานีสยามสแควร์ ได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน เข้าร่วมกิจกรรมในฐานต่างๆ ที่จัดขึ้นเป็น 6 สถานี ได้แก่ สถานีเรื่องแปลกๆ ของสัตว์โลก สถานีตื่นตาธรรมชาติมหัศจรรย์ สถานีแรงและการเคลื่อนที่ สถานีทดลองวิทยาศาสตร์แบบตึ๋งหนืด สถานีนิทานโลกและอวกาศ และ สถานีWhy? เทคโนโลยี พร้อมด้วยบูธนิทรรศการแสดงเกี่ยวกับหนังสือวิทยาศาสตร์ "Scientific Book Fair" เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ พร้อมนำไปปรับใช้กับการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาระดับชาติการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ หัวข้อ "ทำอย่างไรให้หนังสือแนววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าอ่านสำหรับเยาวชน" ในวันที่ 26 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ร่วมทั้งนักเขียน ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น และตัวแทนเยาวชน มาพูดคุยและแสดงมุมมองให้ฟังอีกด้วย
ฝึกคิดแบบวิทยาศาสตร์นำพาชาติเจริญทัดเทียมนานาประเทศ
การสร้างค่านิยมให้สังคมเห็นคุณค่าของงานเขียนและการอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อมุ่งแค่การสร้างนักวิทยาศาสตร์ แต่เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เห็นความสำคัญ สนใจศึกษาค้นคว้าและอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ และฝึกการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากเด็กไทยให้ความสนใจศึกษาหาความรู้ หมั่นฝึกฝนจนสามารถนำความรู้ที่ได้มาพัฒนางานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนนำหลักคิดแบบเหตุผลและความเป็นวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะสามารถทำให้ชาติบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศได้
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ