สุกำพลยังไม่ถกBRN หน2-ปัดคุยทักษิณปมนครปัตตานี

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจตรวจเยี่ยม กองทัพเรือ ภาคที่ 3 และเดินทางไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายประเทศพม่าว่า เหตุการณ์เผายางรถยนต์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกพื้นที่ชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมการรักษาความสงบอย่างรัดคุม ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าในการพูดคุยกับแกนนำกลุ่ม บีอาร์เอ็น รอบที่ 2 ในเดือนมีนาคมนั้น ขณะนี้ ยังไม่เริ่ม เพราะจะให้มีความคืบหน้าทุกวัน คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งการพูดคุยนั้นก็ดำเนินการกันต่อไป ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบในพื้นที่ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีการเสนอแนวคิดนครปัตตานีแก่ทางฝ่ายรัฐ และไม่เคยพูดคุยกันในเรื่องนี้แต่อย่างใด กอ.รมน.ยันกลุ่มป่วนยะลาไม่เกี่ยวลงนามBRN พล.ท.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เหตุการณ์ป่วนเมืองยะลา เจ้าหน้าที่พอทราบแล้วว่าเป็นกลุ่มใด แต่ไม่อาจระบุได้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อการติดตามร่องรอยของการเกิดเหตุ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพียงการสร้างสถานการณ์เล็กๆ ที่ควบคุมได้จึงไม่ถือว่าเป็นการก่อเหตุที่รุนแรง รวมถึงการก่อเหตุครั้งนี้ ก็ไม่เกี่ยวกับการลงนามร่วมกับ กลุ่ม BRN เพราะยังคงมีกลุ่มเยาวชนเปอร์มูดอ บารู ที่มาทดแทนบุคคลที่ถูกจับกุมและเสียชีวิต ส่วนมาตรการป้องกันนั้นเจ้าหน้าที่ก็มีระบบดูแลเหตุการณ์ในแต่ละระดับอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติม อีกทั้งการก่อเหตุรายวันนั้น ก็ไม่กระทบกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะมีเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่แล้ว ส่วนจะประกาศใช้ในพื้นที่ใดบ้าง ก็จะต้องดูท่าทีหลังจากการเซ็นสัญญา นอกจากนี้ พล.ท.ดิฏฐพร ยังกล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก่อนหน้านี้ ก็พบว่าประสบความสำเร็จ เพราะพบการก่อเหตุลดลง และทำให้ผู้ก่อการร้ายเข้าสู่มาตรา 21 ง่ายขึ้น ส่วน 5 อำเภอ ที่จะทำการประกาศนั้น ยืนยันมีหน่วยงาน ที่น่าเชื่อถือในการพิจารณาอย่างแน่นอน ผบ.ทบ.เผยพรบ.มั่นคงเป็นไปตามยุทธศาสตร์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธาน ในพิธีวันสถาปนาหน่วยป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก ถึงเรื่องปัญหาความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า การพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น เป็นหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ส่วนตนเองจะคอยติดตามผลและให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ส่วนในเรื่องกรอบการพูดคุยนั้น คงจะมีการกำหนดคร่าวๆ เช่น ระยะเวลา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากใช้การพูดคุยไม่ได้ผล ก็ต้องแสวงหาทางอื่นกันต่อไป ส่วนเรื่องแนวทางการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่มีการกำหนดไว้ และปฏิบัติตามกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งได้สั่งการให้ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ทำความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้บุคคลที่มีความผิดรุนแรงได้