เทปโกค้นพบวิธีหยุดน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล!

เทปโกค้นพบวิธีหยุดน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล!

เทปโกค้นพบวิธีหยุดน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทปโกระบุว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ฉีดสารเคมีที่ช่วยให้เกิดการแข็งตัวลงบนรอยแยกของคอนกรีตที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เพื่อสมานรอยร้าวด้านในเข้าด้วยกัน พบว่าการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลลดน้อยลง เทปโกจึงเตรียมที่จะเทสารเคมีดังกล่าวปิดทับรอยแยกเพิ่มเติมอีก 1,500 ลิตร นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะสร้างกำแพงใต้น้ำใกล้ท่อรับน้ำทะเล และพื้นที่จุดอื่น ๆ อีก 2 จุด เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบปลาขนาดเล็กนอกชายฝั่งของ จ.อิบารากิ ซึ่งอยู่ตอนใต้ของ จ.ฟุกุชิมะ พบมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี "ซีเซียม" เกินกว่าข้อกำหนดตามกฏหมาย โดยเฉพาะในปลาช่อนทรายน้ำหนัก 1 กิโลกรัม พบสารกัมมันตรังสีซีเซียมกว่า 526 เบคเคอเรล ซึ่งเกินกว่าขีดจำกัดทางกฏหมาย ที่กำหนดไว้ที่ 500 เบคเคอเรล และถือว่าเป็นการตรวจพบสารรังสีที่สูงเกินกว่าข้อกำหนดเป็นครั้งแรกในสัตว์ประเภทปลา ส่งผลให้สหกรณ์การประมงท้องถิ่นใน จ.อิบารากิ สั่งระงับการทำประมงปลาช่อนทรายเป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งของรัฐบาล

ด้านเจ้าหน้าที่ใน จ.ฟูกุชิมะ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสนามเด็กเล่นของโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กราว 1,400 แห่งทั่วทั้งจังหวัดฟูกุชิมะจะต้องผ่านการตรวจสอบตลอด 2 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ซึ่งเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ขณะที่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า เด็กๆ จะปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีแน่นอน หากอยู่นอกพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร รอบโรงงานนิวเคลียร์

ขณะที่ในประเทศไทย นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลว่าจะมีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจากประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลในอ่าวไทย ส่งให้สำนักงานปรมาณูมาเพื่อสันติ (ปส.) ทำการตรวจสอบนั้น ขณะนี้ยังไม่พบสารซีเซียม ที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ คพ.จะเก็บตัวอย่างน้ำทะเลส่งให้ทาง ปส. ทำการตรวจสอบทุกสัปดาห์ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยจะย้ายพื้นที่เก็บตัวอย่างจาก จ.สงขลา ไปยัง จ.นราธิวาส โดยประสานกับให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ช่วยเก็บตัวอย่างน้ำทะเล นอกจากนี้ช่วงบ่ายวันที่ 7 เม.ย.นี้ คพ. เตรียมเชิญตัวแทนจากกรมอุตุนิยมวิทยามาหารือความเป็นไปได้ในเรื่องการเคลื่อนตัวของสารกัมมันตภาพรังสีมายังประเทศไทยอีกด้วย

ส่วนตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่ม สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ได้เปิดเผยครั้งล่าสุด พบผู้เสียชีวิตจำนวน 12,341 ราย และยังสูญหายอีก 15,350 ราย อีกทั้งยังแจกแจงว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติครั้งนี้มาจาก 19 ชาติ อาทิ จีน, แคนาดา, เกาหลีใต้, เกาหลีเหนือ, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการแจ้งต่อญาติให้มารับศพผ่านทางสถานทูตของแต่ละชาติแล้ว ส่วนที่เหลือยังคงต้องมีการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook