ล้มๆ ลุกๆ ของวงการเพลงและตัวตน สมเกียรติ อริยะชัยพานิช | Sanook Music

ล้มๆ ลุกๆ ของวงการเพลงและตัวตน สมเกียรติ อริยะชัยพานิช

ล้มๆ ลุกๆ ของวงการเพลงและตัวตน สมเกียรติ อริยะชัยพานิช
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook



สมเกียรติ อริยะชัยพานิช ดูจะเป็นอดีตผู้บริหารเบเกอรี่ที่อยู่ตรงกลางที่สุด ระหว่างลูกบ้าและความหัวแข็งของ สุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์ และความอ่อนโยน อบอุ่นนุ่มนวลของ บอย โกสิยพงษ์ และเป็นคนที่สุกี้ให้คำจำกัดความว่ามีเซ้นท์ดี คือรู้โดยสัญชาตญาณว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ ในตลาดเพลงไทย



หลัง เบเกอรี่ มิวสิค ปิดตัวไป ในบรรดาผู้บริหารดูเหมือน สมเกียรติ จะมีข่าวความเคลื่อนไหวน้อยที่สุด เพราะขณะที่ สุกี้ เลิกเล่นดนตรี และหันไปขี่มอเตอร์ไซค์ทำรายการโทรทัศน์ และ บอย ยังทำงานเพลงอบอุ่นในแบบที่ถนัด สมเกียรติกลับมีเพียงชื่อในฐานะโปรดิวเซอร์ในศิลปินไม่กี่คน และทำงานร่วมกับคนอื่นอีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เขากลับมาอย่างเต็มตัวในฐานะผู้รับผิดชอบส่วนโปรดักชั่นของค่าย เพลนตี้ มิวสิค (Plenty Music) ด้วยคอนเซ็ปท์แบบดนตรีเยอะและหลากหลาย โดยมีพี่สาวของเขาเองเป็นผู้บริหารค่าย



ครั้งนี้เขามาพร้อมกับเป้าหมายใหม่ คือเพื่อให้วงการเพลงกลับเป็นวงการที่เต็มไปด้วยศิลปะและความคิดสร้างสรรค์อีกครั้ง



สมเกียรติเล่าว่า ที่ผ่านมาเขาคิดจะปักหลักทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ให้กับ โซนี่/บีเอ็มจี แต่โชคร้ายที่เกิดขัดแย้งกับผู้บริหาร จนต้องตัดสินใจถอย จากนั้นก็หันกลับไปหา Katch นิตยสารวัยรุ่นที่เขาก่อตั้งสมัยทำค่าย โดโจซิตี้ ในเบเกอรี่ แต่แคทช์ก็ปิดตัวลงไป หลังทำได้เพียง 2 เล่ม เพราะความขัดแย้งในทีมงาน



"ผมรู้สึกแย่มาก ตอนโซนี่มันมีคนอื่นที่ผมไม่ค่อยรู้จักเยอะ ก็พยายามปรับตัวนะ แล้วพอมาทำแคทช์ก็เจอปัญหาอีก เลยแย่มาตลอด"



เมื่อเป็นอย่างนั้นเขาจึงหยุดตัวเองไม่ทำอะไรไป 1 ปี และใช้เวลาช่วงนั้นในการอ่านหนังสือและไปต่างประเทศ



"ผมรู้สึกว่าที่ผมทำงานได้ดี เป็นเพราะผมมี 4 F คือ Family ครอบครัว Friend เพื่อน Food อาหารอร่อยๆ และ Fun เรื่องสนุกๆ"



"ทั้งหมดมันกลายมาเป็นผมและดนตรีของผม"



ซึ่งตอนอยู่ที่เบเกอรี่เขามีทั้ง 4 อย่างนั้นครบ และถึงตอนนี้เขาก็อยากจะให้มีสิ่งเหล่านั้นในชีวิตอีก



อย่างไรก็ตาม อุปสรรคใหญ่ของเขาคือ โครงสร้างเดิมๆ ของตลาดเพลงนั้นล่มสลายหมดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเปลี่ยนไป



"มันเหมือนมีระเบิดลง"



แถมยังไม่หมด เพราะมันยังเปลี่ยนแปลงอยู่



"เมืองนอกก็งงเหมือนเรา ปีนี้ผู้หญิงเบอร์ใหญ่ออกอัลบั้มครบหมดเลย แล้วใครขึ้นชาร์ตก็พีอาร์ทันทีเพื่อยอดขายดิจิตอล แล้วเด็กเดี๋ยวนี้เวลาฟังเพลงก็ไม่รู้ว่าตัวเองฟังอะไรอยู่ มันมีเพลงเยอะมาก แต่ก็ยังดีที่มีกลุ่มคนฟังกลุ่มหนึ่งที่ซื้องานจริงๆ แล้วก็ไม่ตามกระแส"



เขายังพูดถึงการเกิดขึ้นของ เว็บ 2.0 ที่คนฟังสามารถเอาข้อมูลตัวเองไปวางไว้บนอินเตอร์เน็ตว่า ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ให้เกิดแรงกระทบไปหมด โดยเฉพาะกับวงการเพลง รวมไปถึงนักแต่งเพลงด้วย



"เดี๋ยวนี้นักแต่งเพลงชอบคิดว่าทำงานเพื่อให้สำเร็จอะไรอย่างหนึ่ง แต่ผมว่าไม่ใช่ และถ้าคิดแบบนั้นมันมองออกในงานนะ ฟังก็รู้แล้วว่ามีความสุขไหม"



"สำหรับผม ผมทำไปแบบไม่ได้หวังอะไร และถึงล้มเหลวผมก็ยังสนุกอยู่ เพราะได้ทำ แต่ว่าตอนนี้มันเป็นฟาสต์ฟู้ดไปหมด วงร็อคก็เป็นแบบนั้น เอาเร็วๆ ก็ต้องร้องแบบนี้ กลุ่มแดนซ์หรือเพลงตระกูลเอเอฟ ก็ไม่ใช่ขายเพลงแต่ขายตัวศิลปิน เราเลยตั้งใจว่าจะเอาดนตรีเป็นหลักไปสู้"



สิ่งที่สมเกียรติรู้สึกและพยายามจะสร้างให้เกิด คือการสร้างงานต่อของศิลปิน ด้วยมองว่าวงการเพลงไทยไม่มีความต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนในการฟัง



"ในอดีตเรามีเพลงดีมาก แต่พอฮิตแล้ว ขายแล้ว มันก็จบ ไม่มีใครเอาชุดเก่ามาขายซ้ำ คนที่ตามมาฟังเพลงก็จะไม่รู้เรื่องว่าใครเป็นใคร เพลงเก่าๆ ดีๆ ก็ไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่อีก"



ขนาดในแวดวงดีเจเองสมเกียรติก็ว่า หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเปิดเพลงอะไรอยู่ ก็เพราะขาดความต่อเนื่องตรงนี้ และการส่งต่อเพลงกันก็ไม่ได้มีการให้ความรู้กันไปด้วย



"คนที่ฟังเพลงมันมีอยู่ คนที่ไม่ฟังก็มี แต่เราต้องพาเพลงไปหาคนให้ได้ ต้องไปหาในที่ที่คนฟังนึกไม่ถึง ให้เขาค้นพบเรา แล้วเราถึงให้ข้อมูลไปว่ามันคืออะไร" นี่คือแนวคิด ส่วนวิธีการนั้นเขายังดูอยู่ว่าจะทำยังไง



ถ้าถามว่าทำไมเขายังทำงานเพลงอยู่โดยไม่เลิก และพยายามลุกขึ้นใหม่ทั้งที่ล้มแล้วล้มอีก มาจาก เบเกอรี่ โซนี/บีเอ็มจี และ แคทช์ สมเกียรติก็ยิ้ม ก่อนจะตอบว่า



"ฮีโร่ผมคือพอล แม็คคาร์ทนีย์ เขาอายุ 60 กว่าแล้ว ยังทำงานเพลงอยู่ ยังแต่งเพลง เล่นดนตรีอยู่ทุกวัน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันเป็นชีวิตเขา ผมก็รู้สึกเหมือนกัน ว่าเพราะดนตรี และเพลงมันก็เป็นชีวิตผม"



ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook