"เซ็นเซอร์เนื้อเพลง" หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วงการเพลงอเมริกา โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

"เซ็นเซอร์เนื้อเพลง" หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วงการเพลงอเมริกา โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

"เซ็นเซอร์เนื้อเพลง" หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วงการเพลงอเมริกา โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีเหตุการณ์ระดับประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในวงการดนตรีสากลเป็นประจำ บางเหตุการณ์น่าจดจำ เหตุการณ์อีกส่วนหนึ่งไม่ควรจดจำเลย เดือนนี้จะขอย้อนอดีตไปช่วงกลางยุค '80s ยุคที่ MTV เฟื่องฟูสุดขีด อุตสาหกรรมดนตรีรุ่งเรืองสุดๆ แล้วก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ทำให้วงการเพลงสั่นสะเทือนจนถึงขนาดต้องเปิดดีเบต ถกหาข้อยุติทางกฎหมายกันเลยครับ

PMRC คืออะไร

Parents Music Resource Center หรือชื่อย่อ PMRC เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี1985 โดย "บรรดาคุณนายในวอชิงตัน" โดยมี Tipper Gore เป็นแกนหลัก จุดหมายหลักคือการให้ผู้ปกครองดูแลและให้คำแนะนำแก่บรรดาลูกๆในปกครองของพวกเธอและปกป้องเยาวชนไม่ให้ฟังเพลงที่สร้างปัญหากับพวกเขา มีหน่วยงานกำหนดเรตเพลงว่ามีเนื้อหารุนแรง ก้าวร้าว เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และสื่อทางเพศโจ่งแจ้ง จนไม่เหมาะที่จะเปิดออกอากาศหรือให้คนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะฟัง อันเป็นที่มาของสติกเกอร์ "Parental Advisory" ติดบนหน้าปกอัลบั้ม

tipper_goreTipper Gore

1280px-parental_advisory_labe

gnr-parental 

สาเหตุเกิดจากในปี 1984 Tipper Gore (ภรรยา Al Gore ที่ขณะนั้นเป็นวุฒิสภา และได้รองประธานธิบดีสหรัฐฯในภายหลัง) พบว่ามีเด็กสาวคนหนึ่งอายุ 11 ปี มีปัญหากับเนื้อเพลง "Darling Nikki" ของ Prince ในอัลบั้ม Purple Rain ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศและการสำเร็จความใคร่ จึงร่วมกับเพื่อนๆหลายคนที่เป็นภรรยาของนักการเมืองและนักกฎหมายขาใหญ่ในวอชิงตัน ดี.ซี.ตั้งองค์กรนี้ขึ้นเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะขึ้นในปี1985

ปฏิบัติการแรกองค์กรก็คือการออกตรวจสอบบรรดางานเพลงที่วางขายในตลาดเพื่อหาเพลงที่มีเนื้อหาขัดต่อเจตนารมณ์ขององค์กร กระทั่งได้ตัวอย่างมา 15 เพลง จนทำลิสต์ขึ้นแล้วตั้งชื่อว่า The Filthy Fifteen หรือ 15 เพลงสุดอุบาทว์ในปี 1985 (ดูภาพประกอบ) แต่ละเพลงกำหนดเรตเอาไว้ชัดเจน เริ่มจาก สำเร็จความใคร่/เซ็กซ์, ยาเสพติด/แอลกอฮอล์, ถ้อยคำรุนแรง, ลึกลับ ไสยศาสตร์

thefilthyfifteen

สิงหาคม 1985 บริษัทแผ่นเสียง 19 บริษัทพร้อมใจกันตอบรับการรณรงค์อย่างพร้อมเพรียงด้วยการติดสติกเกอร์ "Parental Guidance: Explicit Lyrics" บนปกแผ่นเสียงของศิลปินในค่ายที่ออกจำหน่าย ทางสภาสูงเปิดให้มีการประชุมในวันที่ 19 กันยายน 1985 โดยมีตัวแทนจาก PMRC และศิลปินในวงการดนตรีสามคน ประกอบด้วย Dee Snider (นักร้องนำวง Twisted Sister) Frank Zappa (นักดนตรีร็อค, โปรดิวเซอร์) และ John Denver (นักดนตรี/นักร้องเพลงคันทรี่ร็อค) รวมทั้งสว. Paula Hawkins, Al Gore และผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งสองฝ่ายต่างนำหลักฐานมาประกอบ มาหักล้างกัน ฝ่าย PMRC โจมตีเรื่องปกอัลบั้มที่สื่อความรุนแรง (Pyromania ของ Def Leppard) ปกที่สื่อความอุบาทว์ชั่วร้าย (อัลบั้ม W.A.S.P. ของ W.A.S.P.)และปกอนาจาร อัลบั้ม W.O.W. ของ Wendy O. Williams) รวมทั้ง MV เพลง "Hot for Teacher" ของ Van Halen และเพลง "We're Not Gonna Take It" ของ Twisted Sister ฝ่ายถูกกล่าวหาก็ตอบโต้เช่นกัน Zappa ว่าเนื้อหาเพลงเป็นเรื่องของผู้แต่งที่จินตนาการขึ้น อาจใช้ถ้อยคำที่ชวนให้ตีความไปบ้าง แต่มันไม่ใช่ความจงใจหรือเจตนา John Denver ปฏิเสธว่าเพลง "Rocky Mountain High" ไม่ได้เกี่ยวกับยาเสพติดอย่างที่กล่าวหา Dee Snider ตอบโต้ Tipper Gore ว่าคนที่คิดว่าเพลง "Under the Blade" เกี่ยวกับการทรมานก่อนมีเซ็กซ์ก็คงมีแต่ในใจของเธอเท่านั้น

pyromania

wasp_wasp_30439459

wendywilliams

สติกเกอร์ Parental Advisory

1 พฤศจิกายน 1985 ฝ่าย PMRC กำหนดระบบการจัดเกรดของเพลงในอุตสาหกรรมดนตรีให้เหมือนกับกำหนดเกรดของภาพยนตร์ ซึ่ง RIAA (สมาพันธ์อุตสาหกรรมบันทึกเสียงอเมริกา) ตอบรับด้วยดี หลังจากปฏิเสธไปแล้วครั้งหนึ่ง 1 พฤศจิกายน 1985 ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง อัลบั้มเพลงที่ถูกกล่าวหาและถูกตั้งข้อสังเกตต้องติดสติกเกอร์ Prental Advisory เพื่อเตือนไปถึงบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กที่ซื้ออัลบั้มเหล่านั้นไปฟัง ผลตอบรับแรกสุดก็คือ ร้าน Walmart เชนสโตร์เจ้าใหญ่ปฏิเสธในการรับอัลบั้มเพลงที่ติดสติกเกอร์ที่ว่าไปวางขายในร้าน ด้วยเหตุผลว่าการไม่มีงานที่สุ่มเสี่ยงวางขายในร้านมันคือการป้องกันที่ดีที่สุด ขณะที่ Phillip Bailey นักร้องนำวง Earth Wind and Fire อ้างว่าการติดสติกเกอร์ที่ว่า มีส่วนทำให้อัลบั้มนั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นในบางท้องถิ่นด้วยซ้ำ

เหตุการณ์นี้ยังไม่มีข้อยุติอย่างเป็นรูปธรรม แต่สติกเกอร์ทีว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเพลงในอเมริกา เป็นการแบ่งเรตอย่างชัดเจน เหมือนจำกัดอายุผู้ฟังไปโดยปริยาย แต่จะว่าไปแล้วอัลบั้มส่วนใหญ่ที่ต้องแปะสติกเกอร์นี้มักเป็นศิลปินแนว Heavy Metal, Rap, Hip-Hop, Punk, Hardcore เป็นส่วนใหญ่ เพราะศิลปินเหล่านี้ไม่ค่อยประนีประนอมกับเพลงรักเท่าไหร่ เน้นต่อต้านสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะศิลปินพังก์และฮาร์ดคอร์มักแต่งเพลงด่ารัฐบาลจนเป็นเรื่องปกติตามวิถีประชาธิปไตยของอเมริกา

สำหรับบ้านเรา เรื่องเนื้อหาเพลงสากลเป็นประเด็นรองครับ เราชอบเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะเป็นหลัก เมื่อชอบศิลปินรายใด ซื้อผลงานฟัง แล้วค่อยมาดูเนื้อเพลงกันอีกที ต่อให้พวกเขาด่ารัฐบาลในประเทศพวกเขา มันก็ยังเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ดี ยิ่งเพลงแร็ปยิ่งไกลตัว เพราะนั่นเป็นเพลงเกี่ยวกับระบบสังคมของเขา ทางที่ดี ฟังเพลงที่เราชอบทำนองเป็นอันดับแรกดีกว่าครับ อย่างน้อยเราก็มีความสุขที่ได้ฟังเพลงเหล่านั้นครับ

nofx

รายชื่อศิลปินที่โจมตี PMRC ยุคนั้นในบทเพลงของตนเอง โดยเฉพาะเอา Tipper Gore มาล้อเลียน

- Judas Priest ตอบโต้ PMRC ในเพลง "Eat Me Alive" และเพลง "Parental Guildance" ในอัลบั้ม Turbo ปี 1986

- NOFX ตั้งชื่อแอลพีที่ออกปี 1987 ว่า The P.M.R.C. Can Suck on This

- Megadeth ประชด PMRC และด่า Tipper Gore ในเพลง "Hook in Mouth" ในอัลบั้ม So Far, So Good...So What ปี 1988

- Warrant ด่า Tipprt Gore ในเพลง "Ode to Tipper Gore"

และอีกมากมายที่มีทั้งแสดงการต่อต้านบนเวทีเวลาแสดงสด หรือเขียนด่าในไลเนอร์ โน้ตของซีดี เหล่านี้คือการโต้กลับของศิลปินที่เห็นว่า PMRC ไม่เข้าใจศิลปะ ไม่เข้าใจดนตรี ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของนักดนตรี ส่วน PMRC ก็อ้างว่าทำเพื่อความถูกต้องของสังคม ประชาธิปไตยต้องอยู่ในขอบเขต ศิลปินต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกินเลยของตนเอง ดูเหมือนจะกลายเป็นเส้นขนานไปแล้ว โชคดีที่บ้านเราไม่มีเหตุการณ์ขนาดนี้ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ครับ ขออย่าให้เกิดในรุ่นเราก็แล้วกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook