มาทำความรู้จักดนตรี Soft Rock และ AOR โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

มาทำความรู้จักดนตรี Soft Rock และ AOR โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

มาทำความรู้จักดนตรี Soft Rock และ AOR โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เอ่ยถึง AOR หลายคนคงทำหน้างง มันคืออะไร เกี่ยวอะไรกับเพลง จริงๆ แล้ว AOR (น่าจะเป็นคำที่สูญพันธุ์แล้วในปัจจุบัน) ใช้เรียกเพลงป๊อปร็อคในช่วงปลายยุค '70s ถึง '80s หรือเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา มันเป็นอักษรย่อครับ ซึ่งย่อมาจาก Adult Oriented Rock หรือ Adult On Radio เหล่านี้ล้วนหมายถึงดนตรีร็อคสำหรับผู้ใหญ่ ร็อคเบาๆ หรือดนตรีร็อคที่ผู้ใหญ่เล่นเพื่อให้ผู้ใหญ่ฟัง บางครั้งเราอาจพบเห็นในหมวด FM Rock, Melodic Rock หรืออื่นๆ แต่ความหมายรวมก็อย่างที่กล่าวไว้ครับ

หากจะย้อนประวัติของ AOR หรือ Soft Rock ก็ต้องย้อนไปช่วงกลางยุค '60s เป็นต้นมาครับ จากดนตรีร็อค แอนด์ โรลมาเป็นร็อค แล้วผสมกับแนวเพลงต่างๆที่มีอยู่ในแวดวง จนเป็นโฟล์กร็อค คันทรีร็อค ไซคีเดลิกร็อค ป๊อปร็อค ฯลฯ จะสังเกตได้ว่าไม่ว่าจะเรียกอย่างไร มี "ร็อค" พ่วงด้วยเสมอ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าทั้งหลายทั้งปวงคือหลักของเพลงที่กล่าวมาเป็นเพลงร็อคครับ

เพลงร็อคในยุคนั้น เมื่อเพิ่มเสียงประสาน เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย เครื่องเป่าหรือแม้แต่กีตาร์อะคูสติก มันมีส่วนทำให้เพลงเบาและนุ่มขึ้น ฟังง่ายขึ้น ใครที่ฟังครั้งแรกก็ชอบ ร้องตามได้ มีบรรยากาศชื่นมื่น ชวนสนุก จึงเป็นที่มาของดนตรี Soft Rock ที่ฟังประนีประนอมกับคนฟังมากขึ้น ไม่ก็ตามด้วย "บับเบิลกัม" (ความหมายก็คือเพลงที่ฟังปุ๊บชอบปั๊บ ไพเราะติดหูง่าย เหมือนหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วหวานถูกใจ เคี้ยวไปจึงเริ่มหายหวานและจืดในที่สุด ภายในเวลาไม่กี่นาที) ไปถึง MOR (Middle of the Road) ที่นำมาจากชื่อวงดนตรีจากสกอตแลนด์ที่เล่นดนตรีป๊อปร็อคกึ่งคันทรีสไตล์อังกฤษ กระทั่งกลางยุค '70s ยุครุ่งเรืองสุดขีดของศิลปินประเภทนักร้อง/นักแต่งเพลงที่มักจะแต่งเพลงไพเราะ เนื้อหาดีชวนประทับใจ ขณะที่วงการเพลงมีเพลงร็อคมากมาย ส่วนใหญ่มีเสียงกีตาร์แรงๆ จังหวะหนักแน่น ทำให้ผู้ใหญ่วัยทำงานหรือวัยเกษียณฟังไม่ไหว ฟังไม่ติดหู ฟังแล้วเบื่อง่าย เพลงของนักร้อง/นักแต่งเพลงเหล่านี้จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนฟังกลุ่มนี้

สมัยนั้นจะฟังเพลงเหล่านี้ได้ ต้องฟังรายการวิทยุครับ รายการเพลงยุคนั้น มีดีเจที่รอบรู้เรื่องเพลงและรู้ว่าคนฟังกลุ่มไหนต้องการฟังเพลงประเภทใด บางคนจึงนำเพลงช้าเพียงเพลงเดียวในอัลบัมมาเปิด ซึ่งไม่ใช่ซิงเกิล ไม่ใช่เพลงดังด้วยซ้ำ แต่เขารู้ว่าเพลงนั้นต้องมีคนชอบอย่างแน่นอน การฟังเพลงทางวิทยุจึงเป็นทางออกหลักของคนฟังเพลงทั่วโลก FM Rock จึงเป็นอีกชื่อหนึ่งที่เพลงสไตล์นี้ถูกเรียกขาน ศิลปินสายนักร้อง/นักแต่งเพลงที่ได้รับความนิยมในยุคนั้นก็มี James Taylor, Cat Stevens, Carole King, Carly Simon, Jackson Browne, Dan Fogelberg, Christopher Cross รายที่เป็นวงดนตรีก็มี The Boobie Brothers, Steely Dan, Toto, Fleetwood Mac, Heart, Blondie, Santana และอีกมากมายนับร้อยๆ ศิลปิน พวกเขาล้วนเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลและบทบาทอย่างมากในวงการดนตรียุค '70s ข้ามไปถึง '80s เลย

scorpionsSteffen Kugler/Getty ImagesScorpions at 2009 Echo Music Award Show

ดีเจบ้านเราในยุค '70s เก่งมากครับ อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าพวกเขารู้ว่าเพลงไหนเหมาะกับคนฟังกลุ่มไหน เพลงแบบไหนคนฟังอยากฟัง ด้วยเหตุนี้ วงร็อคบางวงที่เล่นดนตรีหนัก แต่ในเมื่อมีเพลงช้าเพียหนึ่งเดียวปนมาในอัลบัม มันจึงกลายเป็นสิ่งที่คนไม่ฟังร็อคก็ฟังได้สนิทใจ ฟังแล้วชอบ อย่างที่เราเคยผ่านมาแล้วเช่น "Holiday" ของ Scorpions หรือ "Everybody Needs a Friend" ของ Wishbone Ash ที่คนส่วนใหญ่เพราะเล่นด้วยกีตาร์อะคูสติก ทำนองช้า ไพเราะ เหมาะกับการหัดแกะเล่นกีตาร์ ไม่ต้องใช้เทคนิคชั้นเทพเล่น แต่เชื่อหรือไม่ ศิลปินเจ้าของเพลงไม่ค่อยปลื้มเพลงข้าของตัวเองนัก แม้จะแค่บางราย แต่ส่วนใหญ่ทำเพลงช้าเหล่านี้มาเพื่อเป็นช่วง interlude ของอัลบัมมากกว่า เรียกว่าเป็นเพลงเบรกอารมณ์คนฟังก็ได้ครับ ไม่เหมาะกับการเล่นไลฟ์ เราจึงไม่ค่อยได้ยินศิลปินเหล่านี้นำเพลงช้ามาเล่นเท่าไหร่ อย่างราย Scorpions จำเป็นต้องเล่นเพราะพวกเขารู้ว่าแฟนเพลงบางภาคพื้นของโลกคลั่งไคล้เพลงช้าเหล่านี้มาก ปัจจุบันพวกเขาอายุมากขึ้น เข้าหลัก 60-70 ปี การเล่นเพลงช้าเหล่านี้ก็ช่วยให้เบาแรงได้แยะเหมือนกัน อีกมุมหนึ่ง คนฟังและศิลปินก็ต้องขอบคุณดีเจบ้านเราด้วย ที่นำเพลงช้าของพวกเขามาเปิดบ่อยจนกลายเป็นเพลงที่คนฟังชื่นชอบและรีเควสต์กันมากที่สุด

ย่างเข้ายุค '80s ธุรกิจดนตรีมี MTV คราวนี้เพลงช้าหรือเร็วไม่ใช่ประเด็นอีกแล้ว ขอให้ทำคลิปวิดีโอออกมาให้ถูกใจคนฟังก็พอ เราจึงได้เห็นศิลปินในยุคนั้นมากันเต็มยศ ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ทั้งที่เพลงก็งั้นๆ ยุคนั้นธุรกิจดนตรีจึงเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง คุณภาพของเพลงอาจมากขึ้นหรือเท่าเดิม แต่ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ ด้านวิชวลที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อธุรกิจดนตรี ขณะเดียวกันดนตรี Soft Rock/AOR ก็ถูกกลืนหายไปด้วยธุรกิจนี้ กลายเป็นสไตล์ดนตรีที่ไม่มีใครพูดถึง อย่างมากก็รำลึกในชื่อของ FM Rock และกลายเป็น Pop Rock ในที่สุด

ย้ำอีกครั้งครับ AOR ไม่ใช่แนวดนตรี แต่เป็นชื่อเรียกดนตรีร็อคประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมช่วงปลายยุค60-ปลาย70s ที่มีท่วงทำนองฟังง่าย ไพเราะ ติดหูง่าย เน้นกลุ่มคนฟังผู้ใหญ่เป็นหลัก และผู้แต่งเพลงและเล่นดนตรีก็เป็นผู้ใหญ่เช่นกัน ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของดนตรีร็อค, คันทรีและ Black Contemporary ครับ (สองแนวหลังเป็นดนตรีที่เป็นรากเหง้าของอเมริกมานาน) ไม่มีแจ๊ซ คสาสิคัลมาปะปนเลย

สุดท้ายครับ ขอฝากกลุ่มคนรักดนตรี Soft Rock & AOR บนเฟซบุ๊กไว้ด้วยครับ เป็นกลุ่มของ Music Lover ตัวจริงครับ ผมก็เป็นสมาชิกในกลุ่มนี้ด้วย สมาชิกและแอดมินนำเพลงสไตล์นี้มาโพสต์ให้ฟังกันทุกวัน แต่ละเพลงล้วนไพเราะ น่าฟัง มีคุณภาพจากยุค60 จนถึงปัจจุบันเลยครับ อยากร่วมสนุกโพสต์เพลงหรือเข้าไปฟังเพลงเชิญสมัครเข้ากลุ่มได้เลยครับ ทุกคนอยู่กันอย่างอบอุ่น แบ่งปันกันครับ ลองดูนะครับ แล้วจะสะกด Leave Group ไม่เป็นเลยครับ (มุกนะครับ)

 

20 The 70s AOR Songs

ถือโอกาสคัดเพลง Soft Rock/AOR ในอดีตมาให้ลองหาฟังกันครับ มีตั้งแต่ปลายยุค60 ถึงปลาย '70s กันเลย รวมหมดทั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกาครับ หลายเพลงน่าจะคุ้นหูกันมานานครับ

01 Stay - Jackson Browne

02 The Best of My Love - The Eagles

03 Longer - Dan Fogelberg

04 Handy Man - James Taylor

05 It's too Late - Carole King

06 You're So Vain - Carly Simon

07 Sailing - Christopher Cross

08 Windy - The Association

09 I'd Really Love to See You Tonight - England Dan & John Ford Coley

10 Magic - Pilot

11 Everything I Own - Bread

12 Happy Together - The Turtles

13 Listen to the Music - The Doobie Brothers

14 Dreams - Fleetwood Mac

15 Saturday Night - Bay City Rollers

16 Love Hurts - Nazareth

17 A Horse With No Name - America

18 Yellow River - Christie

19 Love Grows (Where My Rosemary Go) - Edison Lighthouse

20 Stumblin' In - Chris Norman & Suzy Quatro

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook