เทป 8 แทร็ก หนึ่งในนวัตกรรมทางเสียงเพลงที่สาบสูญ โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

เทป 8 แทร็ก หนึ่งในนวัตกรรมทางเสียงเพลงที่สาบสูญ โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

เทป 8 แทร็ก หนึ่งในนวัตกรรมทางเสียงเพลงที่สาบสูญ โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเอ่ยถึง "เทป 8 แทร็ก" (8 tracks cassette) เชื่อว่าคนฟังเพลงยุคนี้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์จะทำหน้างุนงง และมีเครื่องหมายคำถามผุดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ก็ไม่แปลกครับ เพราะเทป 8 แทร็กเลิกผลิตไปนานกว่า 30 ปีแล้ว ทั้งที่ยุคของมัน ผู้ผลิตและคนฟังเพลงทั่วโลกเชื่อว่ามันจะเป็นทางช่วยอีกทางของคนฟังเพลงที่ออกนอกบ้าน แล้วต้องการฟังเพลงไปด้วย พูดให้กระชับขึ้นก็คือ มันสามารถช่วยได้คุณฟังเพลงได้ขณะขับรถ ไม่ต้องพึ่งพาแต่เพลงจากวิทยุอีกต่อไป ในยุคของ 8 แทร็กมีแผ่นเสียงเป็นตลาดหลัก 8 แทร็กเป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น และยิ่งมีคาสเซ็ตต์ที่ใช้งานง่ายกว่าเพิ่มเข้ามา 8 แทร็กก็เลยเสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา


- จุดกำเนิดของเทป 8 แทร็ก

บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เป็นเจ้าแรกที่ผลิตเครื่องเล่นเทป 8 แทร็กขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในรถยนต์ที่ผลิตออกขายในสหรัฐอเมริกา ฟอร์ด มัสแตง เป็นรถรุ่นแรกที่ออกมาพร้อมกับเครื่องเล่น 8 แทร็กในห้องคนขับ

วันที่ 15 กันยายน 1965 คือวันแรกที่เทป 8 แทร็กออกสู่ตลาด และมีขายเฉพาะในร้านขายอะไหล่รถยนต์เท่านั้น ทุกคนคาดหวังว่ามันจะไปได้ดี แต่การณ์กลับไม่ใช่อย่างที่คาด เพราะมันทำประโยชน์ได้น้อยมาก เกะกะ ดูแลทำความสะอาดยาก และมีปัญหายิบย่อยเวลาใช้ฟังเพลง แต่เทป 8 แทร็กก็ได้รับรางวัลหลายสาขา มันถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นในปี 1964 โดย Bill Lear เจ้าของ Lear Jet Corporation ร่วมกับบริษัท Ampex, Ford, Motorola และบริษัทแผ่นเสียง RCA Victor เหล่านี้เป็นหลักประกันได้ว่า 8 แทร็กจะต้องเป็นซอฟต์แวร์ที่ก้าวขึ้นมาตีคู่กับแผ่นเสียงได้ไม่ยาก แต่เพราะจุดอ่อนและข้อปลีกย่อยต่างๆของตัวมันเอง จึงเป็นได้แค่ปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดนตรี เช่นเดียวกับแผ่นเสียงที่เคยทำเป็นระบบ 4 ทิศทาง (Quadraphonic) เพื่อให้เหนือชั้นกว่าสเตอริโอที่เป็นระบบ 2 ทิศทาง มันประสบความสำเร็จในช่วงกลางยุค70s เท่านั้น แต่เพราะแผ่นแบบ 4 ทิศทางต้องใช้ลำโพง 2 คู่ หน้ากับหลัง ทำให้สิ้นเปลืองและมีแผ่นเสียงที่ผลิตออกมาให้ฟังในระบบนี้น้อยมาก สุดท้ายก็เลิกผลิตไป


- 8 แทร็กเล่นอย่างไร

ในตลับ 8 แทร็ก มีแกนสำหรับเก็บเทปอยู่แกนเดียว (ส่วนคาสเซ็ตต์มี 2 แกนเพื่อเก็บ/ส่งอย่างที่เราทราบกัน) ตัวเส้นเทปถูกแบ่งออกเป็น 8 ร่องหรือแทร็ก (เหตุนี้จึงเรียกว่า 8 แทร็ก) เวลาเล่น หัวอ่านกดลงบนเส้นเทปเพียง 2 แทร็กเพื่ออ่านสัญญาณออกมาเป็นสเตอริโอ สายเทปมีลักษณะต่อเนื่องกันหมด จึงทำให้เล่นได้ตลอดไม่มีสุด เว้นแต่เราจะกดหยุดเล่นเอง ซึ่งคาสเซ็ตต์เป็นแบบมีหัวและท้ายเชื่อมติดกับแกน หากเล่นสุดก็หยุดเอง หรือกลับด้านเพื่อเล่นใหม่

จุดอ่อนของ 8 แทร็กที่ทำให้คนฟังเพลงเบื่อหน่ายและทำให้คาสเซ็ตต์มาแทนที่มันได้อย่างง่ายดายมีหลายหลากประการ เริ่มจากตัวตลับที่ค่อนข้างใหญ่ มีขนาดใหญ่เท่ากับตลับคาสเซ็ตต์สองตลับรวมกัน พูดง่าย ๆ ถ้าเอาตลับ 8 แทร็กมาพับครึ่งก็จะเหลือขนาดเท่าตลับคาสเซ็ตต์ อีกประการก็คือ ในตลับมีรีลเทปอันเดียว ทำให้เล่นได้อย่างเดียว ไม่สามารถกรอเร็วเพิ่งถอยหลังหรือเดินหน้าแบบคาสเซ็ตต์ได้ หากมันเล่นไปถึงเพลงที่ไม่ชอบ คุณก็ต้องทนฟังไปจากกว่าจะจบ กรอข้ามไม่ได้ ไม่เคยมีสถิติว่า 8 แทร็กจุเทปที่เล่นได้นานกี่นาที เพราะส่วนใหญ่เป็นเพลงยกอัลบัมของแต่ละศิลปินที่มีความยาวตั้งแต่เกือบ 30 นาทีไปจนถึง 40 นาที ข้อมูลบางแหล่งก็ว่ายาวสุดที่ 45 นาที 

 istock-1031048956istockphotoเทป 8 แทร็ก

เทป 8 แทร็กได้รับความนิยมในสหรัฐฯตั้งแต่กลางยุค 60s'-ปลายยุค 70s' แต่เลิกผลิตอย่างเป็นทางการราวปี 1988 ซึ่งเทปม้วนสุดท้ายที่ผลิตออกจำหน่ายเป็นชุด Greatest Hits ของ Fleetwood Mac ส่วนในบ้านเราเริ่มเสื่อมความนิยมตั้งแต่กลางยุค70s เพราะเทปคาสเซ็ตต์ที่ออกมาตีตลาดนั่นเอง มันเริ่มหายหน้าไปจากร้านค้าในสหรัฐฯ ราวปลายปี1982 กระทั่งปี1988 หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นของหายากในหมู่นักสะสม โดยเฉพาะงานในช่วงที่มันผลิตออกขายน้อยมาก อาทิ อัลบัม Texas Flood ของ Stevie Ray Vaughan หรืออัลบัม Live 1975-85 ที่ผลิตออกขายเป็นบอกซ์เซ็ตทั้งแผ่นเสียง, คาสเซ็ตต์, ซีดี และ 8 แทร็ก

ผมทันเห็นและได้จับต้อง 8 แทร็ก แต่เป็นช่วงวัยเด็กที่ยังไม่ทราบว่ามันเป็นซอฟต์แวร์อย่างหนึ่งในการฟังเพลง ช่วงปี1969 (พ.ศ. 2512) ผมมักถูกพี่ๆลากไปไหนมาไหนด้วยเสมอ ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือไปเป็นเด็กเฝ้ารถให้พี่ๆนั่นเอง รถคันที่ว่าก็คือ Renault R10 รถสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งมีเครื่องยนต์อยู่กระโปรงหลัง มีเครื่องเล่นเทป 8 แทร็กด้วย ไม่ทราบว่าสมัยนั้นติดตั้งเข้าไปยากเย็นแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ผมสนุกกับการจับ 8 แทร็กยัดเข้าเครื่องเล่น ซึ่งก็อารมณ์คล้าย ๆ จับม้วนวิดีโอ VHS ยัดเข้าเครื่องนั่นแหละครับ เพราะตลับมาค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับมือของผมในวัย 7-8 ขวบ ส่วนเพลงที่เปิดเป็นเพลงฮิตในยุคนั้นซึ่งไม่ได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง คงหนีไม่พ้น The Beatles, The Mamas and The Papas, The Sandpiper, Andy Williams รวมทั้งได้อานิสงส์จากวิทยุที่มักเปิดคลื่นเพลงที่จัดโดย BBC ที่มีเพลงดีๆให้ฟังเสมอ แม้จะฟังดีเจพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ความทรงจำเกี่ยวกับ 8 แทร็กผมมีไม่มาก และเหมือนจะไม่ค่อยฝังใจเท่าใดนัก

อนึ่ง ประโยชน์ของ 8 แทร็กกับคาสเซ็ตต์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 8 แทร็กผลิตออกมาเพื่อใช้ฟังเพลงอย่างเดียว ส่วนคาสเซ็ตต์ผลิตออกมาเพื่อใช้บันทึกเสียง เช่น บันทึกเสียงจากแผ่นเสียงลงเทป แต่เมื่ออุตสาหกรรมดนตรีก้าวต่อไปไม่หยุด คาสเซ็ตต์ที่ง่ายต่อการเล่นและใช้งานจึงมาแทนที่ 8 แทร็กไปโดยปริยาย คาสเซ็ตต์เหนือกว่าในทุกกรณี ทั้งความยาวที่มีตั้งแต่ 30 ถึง 120 นาที ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา ราคาไม่สูงมาก และมีฮาร์ดแวร์รองรับทั่วไป

ปัจจุบัน 8 แทร็กวายไปจากอุตสาหกรรมดนตรีแล้ว เหลือแต่ความทรงจำและคุณค่าในรูปแบบของสะสม ที่ฮิปสเตอร์ใฝ่หา และเป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ทำให้ภาพต่อของวงการเพลงสมบูรณ์แบบเท่านั้นเอง

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook