Bohemian Rhapsody เป็นมากกว่าหนังชีวประวัติของเฟรดดี เมอร์คิวรี และ Queen โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

Bohemian Rhapsody เป็นมากกว่าหนังชีวประวัติของเฟรดดี เมอร์คิวรี และ Queen โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

Bohemian Rhapsody เป็นมากกว่าหนังชีวประวัติของเฟรดดี เมอร์คิวรี และ Queen โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อันที่จริงแทบไมต้องกล่าวถึงหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป เพราะช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายแหล่งข่าว หลายเว็บบันเทิงและดนตรี ตลอดจนเพจต่างๆ ล้วนกล่าวถึงกันไปเกือบหมดแล้ว และยังชื่นชมไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย ยิ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจและควรค่าแก่การชมขนาดไหน ที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้อาจจะไม่เน้นที่ตัวหนังมากนัก แต่อยากโฟกัสไปที่งานเพลงและความยิ่งใหญ่ของ Queen ที่มีเฟรดดีเป็นฟรอนต์แมนมากกว่า

การสร้างหนังที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง ตัวละครมีอยู่จริงเป็นเรื่องที่ยากเย็นพอสมควร Bohemian Rhapsody เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคความยากเย็นตรงจุดนี้ไปได้ อย่างแรก ทีมงานสอบผ่านในการหานักแสดงที่มีบุคลิกและลักษณะเฉพาะตัวที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับสมาชิกทั้งสี่ของ Queen ให้มากที่สุด รามี มาเลก (เฟรดดี) กวิลิม ลี (ไบรอัน เมย์) โจเซฟ แมซเซลโล (จอห์น ดีคอน) และเบน ฮาร์ดี (โรเจอร์ เทย์เลอร์) ที่ทุกคนต้องเรียนรู้และเลียนแบบคนที่พวกเขาต้องมาสวมบทบาทให้ดีที่สุด ซึ่งทุกคนก็สอบผ่านสบาย ทั้งที่ยามปกติ พวกเขาแทบไม่มีส่วนคล้ายสมาชิกวง Queen เท่าใด แต่เมื่อเมกอัปและปรับแต่งทรงผมเพิ่มเข้าไป พวกเขาแทบจะเป็นสมาชิกของ Queen ตัวจริงไปเลย ยิ่งลีลาบทบาทบนเวทีได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ยิ่งทำให้ต้องยอมรับโดยดุษณีว่าทีมงานหาคนได้เหมาะสมจริงๆ แม้แต่ตัวประกอบ (ซึ่งความจริงเป็นพ่องาน Live Aid) อย่างเดอร์มอต เมอร์ฟี (บ๊อบ เกลดอฟ) ก็เหมือนตัวจริงด้วยทรงผมทรงรังนกกระจอกสุดยอดนิยมของบ๊อบในยุคนั้น

Bohemian Rhapsody ไม่ใช่หนังเพลงล้วน ไม่ใช่หนังชีวประวัติหรือสารคดีของใครเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการนำหลายอย่างมาผสมผสานกัน ทั้งบทเพลง ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาแล้วจริง มีใส่ไข่ไปบ้างเพื่อประโยชน์ของผู้ชม ที่สำคัญ ชีวประวัติของตัวละครสำคัญทั้งด้านบวกและลบไปพร้อมๆกัน ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนชอบดูหนัง ชอบฟังเพลงแม้ไม่ใช่แฟนเพลงของ Queen ก็ดูได้ ยิ่งเป็นแฟน Queen ด้วยแล้ว นับว่าคุ้มมาก เพราะจากการที่ผมติดตาม Queen มาตั้งแต่ยุค 70s ยังไม่เคยเห็นหนังเกี่ยวกับพวกเขาเลย มีแต่คอนเสิร์ตจากช่วงที่เฟรดดียังมีชีวิต คอนเสิร์ตทริบิวต์เฟรดดี และคอนเสิร์ตในนาม Queen ที่พอล รอดเจอร์สทำหน้าที่ร้องนำ ตามด้วยอดัม แลมเบิร์ตที่มาเล่นคอนเสิร์ตในบ้านเราร่วมกับ Queen มาแล้ว

 

image2

image5

 

คนที่เป็นแฟนตัวจริงเสียงจริงของ Queen ดูแล้วต้องเกิดอาการสะดุด มีข้อสังเกตและมีที่ให้จับผิดหลายจุด ที่เด่นมากเกี่ยวกับไทม์ไลน์ที่ดูจะเหลื่อมไปมา เช่น ช่วงที่ Queen บุกอเมริการาวปี 1976 เริ่มเล่นเป็นวงเฮดไลน์ในสถานีที่ที่จุคนได้หลักพัน ซึ่งเป็นช่วงที่ออกอัลบัม A Day at the Race แต่ดันมีเพลง "Fat Bottom Girl" โผล่มาให้ได้ยินซะงั้น ทั้งที่เพลงนี้อยู่ในอัลบัม Jazz ปี 1978 หรือฉากถกเถียงกับค่ายเพลง แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าตัดขาดจาก EMI ไปซุกปีก Elektra แทน จุดที่ดีชวนเซอร์ไพรส์ก็มี เช่น นำเพลง "Doing All Right" มาใช้ในช่วงที่เฟรดดีเพิ่งเข้าร่วมวง ทั้งที่ไม่มีใครคิดว่าจะได้ฟังเพลงนี้ด้วยซ้ำ ส่วนความรู้สึกว่าทำไมไม่เอาเพลงนี้มาใส่ เพลงนี้ไม่ควรใช้ ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องความชอบของแต่ละคนครับ ต่อให้เลือกเพลงถูกใจแค่ไหน ถ้าไบรอันกับโรเจอร์ไม่เห็นด้วยก็จบ เพราะสิทธิ์ขาดอยู่ที่สองคนนี้

ในมุมมองของคนที่ไม่ใช่แฟน จะด้วยเพราะไม่ได้ฟัง Queen แต่แรก หรือเกิดไม่ทัน ได้ยินแต่กิตติศัพท์ น่าจะเป็นกลุ่มที่ดูหนังได้รสชาติกว่ากลุ่มอื่น เพราะพวกเขาไม่ได้ฟังเพลงมาตามไทม์ไลน์ ไม่เคยดูไลฟ์ Bohemian Rhapsody จะสนุกสนาน ดูได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องกังวลกับการจับผิด และได้ฟังเพลงชั้นเยี่ยมของ Queen ตลอดจนคอนเสิร์ต Live Aid ที่ถ่ายทอดออกมาได้ใกล้เคียงของจริงมากจนน่าทึ่ง

 image9

image7

 

ผู้เขียนกับ Queen

ความรู้สึกของผมกับ Queen เปรียบได้กับการฟังนักดนตรีดีกรีดอกเตอร์ในแต่ละสาขามาเล่นดนตรีให้ฟัง ดนตรีที่เต็มไปด้วยเนื้หาสาระ บันเทิง และมนต์เสน่ห์ที่ยากจะลืมเลือน ผมฟังงานของ Queen ตามไทม์ไลน์เกือบทั้งหมด ตั้งแต่อัลบัม New of the World แล้วย้อนไปฟัง 5 อัลบัมแรกของวง มาจมกับ Jazz และ Live Killers จนเป็นอัลบัมที่ชอบมาก จากวงที่เคยประกาศกร้าวว่าไม่ใช้ซินธิไซเศอร์กับงานของตนเอง แต่แล้วเมื่อเทคโนโลยีการบันทึกเสียงก้าวหน้า พวกเขาจึงต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง เมื่อออกอัลบัม The Game ที่แฟนเพลงได้ฟังเสียงซินธ์ตั้งแต่อินโทรเพลงเปิดอัลบัม Play the Game กันเลย ผมเริ่มเว้นห่างจาก Queen หลังจากฟังอัลบัม Hot Space ที่พวเกขาปรับเปลี่ยนสไตล์ดนตรีเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค '80s หลายคนจึงหันหลังให้พวกเขาด้วยความผิดหวัง ดนตรีฮาร์ดร็อคแบบยุค70s เริ่มหายไป

ตั้งแต่อัลบัมแรกชื่อเดียวกีบวงในปี 1973 ไล่เรียงไป Queen II, Sheer Heart Attack จนถึง Night at the Opera พวกเขาพัฒนาขึ้นทุกด้าน ทั้งฝีไม้ลายมือ การแต่งเพลง จากเพลงร็อค/ฮาร์ดร็อค, พร็อกร็อค, แกลมร็อค ไปสู่โอเปราร็อค และฮาร์ดร็อคเต็มสูบ รูปแบบการแต่งเพลงของเฟรดดีเน้นความรัก โรแมนติก แฟนตาซี ประวัติศาสตร์ ที่มีเปียโนเป็นตัวเดินเรื่องขณะที่ไบรอันถนัดเนื้อหาไซไฟที่มีซาวน์ดกีตาร์สุดมันเป็นตัวขับเคลื่อน เพลงในยุคนั้นล้วนแต่เป็นเพลงคุณภาพ อาทิ "Keep Yourself Alive", "Seven Sea of Rhye", "Orge Battle", "Funny How Love Is", "Now I'm Here", "Killer Queen", "'39", "Love of My Life" และเพลงตัวแทนของพวกเขาที่หนังใส่รายละเอียดการถือกำเนิดของเพลงนี้ไว้ค่อนข้างละเอียดอย่าง Bohemian Rhapsody

ช่วงอัลบัม News of the World สถานการณ์วงเริ่มนิ่ง แม้ประสบความสำเร็จในการบุกตลาดอเมริกา เมื่อ Jazz ออกในปี 1978 Queen เพิ่มเติมความสำเร็จด้วยซิงเกิล "Bicycle Race/Fat Bottomed Girls", "Don't Stop Me Now", "Mustapha" พร้อมตระเวนเวิร์ลด์ทัวร์จนเป็นที่มาของ Live Killers อัลบัมแสดงสดที่ดีที่สุด ทรงพลังที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีร็อคโลก

ความเปลี่ยนแปลงของวงเริ่มเด่นชัดตั้งแต่ The Game ปี 1980 มีเพลงร็อคแอนด์โรลที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อนอย่าง "Crazy Little Thing Called Love" ที่ติดอันดับ 1 ชาร์ตซิงเกิลของอเทริกาเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับอัลบัมที่ขึ้นอันดับ 1 ทั้งอังกฤษและอเมริกา ถึง Hot Space อัลบัมที่มีบีตเพลงเต้นนำ ซาวด์ผสมดนตรีคนดำเป็นหลักฐานว่า Queen เปลี่ยนไปมากขึ้น แต่ The Works อัลบัมต่อมาในปี1984 ก็มีซิงเกิลดังอย่าง "Radio Ga Ga" และ "I Want to Break Free" จากนั้นเฟรดดีก็แยกไปทำอัลบัมเดี่ยวกับสังกัด Sony

หลังจากนี้ไปจนกระทั่งถึงช่วงที่เฟรดดีเสียชีวิต หนังไม่ได้เน้นเท่าไหร่ จนรู้สึกว่าห้วนไป กระนั้น ทีมงานก็ตอบแทนคนดูด้วยความอลังการของคอนเสิร์ต Live Aid 1985 ที่เกือบสมบูรณ์แบบด้วยความยาวเกือบ 20 นาที อันเป็นไฮไลต์ของหนัง ให้ความรู้สึกราวกับนำคอนเสิร์ตในวันนั้นกลับมาให้แฟนๆได้ดูอีกครั้งในอิริยาบถที่คุ้นตา และบางฉากที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจากคอนเสิร์ตจริง

 

 image4

 

คนที่ไม่ใช่แฟน Queen ไม่ได้ผูกพันกันจากผลงานเพลง Bohemian Rhapsody น่าจะทำให้พวกคุณรัก Queen และเฟรดดีได้อย่างง่ายดาย ส่วนคนที่เป็นแฟนเพลงอยู่แล้ว คุณจะยิ่งรักและเข้าใจพวกเขามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับบางช่วงชีวิตของเฟรดดี ขอแค่คุณชอบฟังเพลงสากล หนังเรื่องนี้พลาดไม่ได้ครับ

 

 

 

Photos : BohemianRhapsodyTickets.com

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ Bohemian Rhapsody เป็นมากกว่าหนังชีวประวัติของเฟรดดี เมอร์คิวรี และ Queen โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook