แด่ผู้ก่อตั้ง Tower Records ผู้ลาลับ กับตำนานร้านซีดีที่คอดนตรีหลงรักตลอดมา และตลอดไป | Sanook Music

แด่ผู้ก่อตั้ง Tower Records ผู้ลาลับ กับตำนานร้านซีดีที่คอดนตรีหลงรักตลอดมา และตลอดไป

แด่ผู้ก่อตั้ง Tower Records ผู้ลาลับ กับตำนานร้านซีดีที่คอดนตรีหลงรักตลอดมา และตลอดไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

28 มีนาคม 2016 ผู้เขียนอยู่ในโรงฉายภาพยนตร์ ณ ห้างสรรพสินค้าชื่อดังใจกลางกรุงเทพฯ เบื้องหน้าคือจอภาพยนตร์ที่กำลังทำหน้าที่เหมือนเช่นทุกวันที่ผ่านมา เพียงแต่ว่า หนังที่กำลังฉายอยู่นั้นไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ที่มาพร้อมความระทึกใจขั้นสุด ไม่ใช่หนังผีตุ้งแช่ที่กระตุกต่อมตกใจได้เป็นระยะ แต่กลับเป็นสารคดีอันเรียบง่ายที่ว่าด้วยยุคแห่งความรุ่งเรืองและตกต่ำของร้านขายซีดีที่เป็นตำนานในวงการดนตรีโลกอย่าง Tower Records (ทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์) ภายใต้ชื่อ All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records ผลงานการกำกับของ Colin Hanks และการนำเข้ามาฉายของ Documentary Club

วันเวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 ปีนับจากวันนั้น 4 มีนาคม 2018 คือวันที่ Russ Solomon ผู้ก่อตั้งอาณาจักร Tower Records ได้เสียชีวิตลงที่บ้านพักของเขาที่ซาคราเมนโต สหรัฐอเมริกา ในวัย 92 ปี ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน

ใช่แล้ว ... เรายังจดจำใบหน้าของมิสเตอร์โซโลมอนได้เป็นอย่างดี เพราะหากจะว่ากันตามจริง เขาคือตัวละครสำคัญผู้ขับเคลื่อนภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าว

เขาคือลูกชายเจ้าของร้านขายยา ชายผู้กล้าได้กล้าเสีย  ชอบสังสรรค์ เป็นนักลงทุนตัวยง และมีใจรักดนตรีและศิลปะ

Russ Solomon

แน่นอนว่าเด็กเจเนอเรชั่นใหม่อาจทำหน้างงสงสัยว่า Tower Records คืออะไร? แต่เราเชื่อมั่นเหลือเกินว่า คอดนตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปคงคุ้นเคยกับป้ายสีเหลืองขนาดใหญ่ที่มาพร้อมตัวอักษรสีแดงเด่นเป็นสง่าเป็นแน่

และที่สำคัญ หลายคนไม่ได้มองว่า Tower Records เป็นเพียงร้านขายซีดี ... แต่สถานที่แห่งนี้คือ “อาณาจักรทางเสียงเพลง

ปี 1960 คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ต่อยอดสู่ความยิ่งใหญ่ Tower Records สาขาแรกเปิดให้บริการที่เมืองซาคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา บ้านเกิดเมืองนอนของ Russ Solomon นั่นแหละ เพียงแต่ในตอนนั้น โลกของนักฟังเพลงยังมีเพียงแผ่นเสียงที่มอบความสุขให้กับพวกเขา Tower Records ในยุคแรกจึงทำหน้าที่เป็น “ร้านขายแผ่นเสียง” เพียงอย่างเดียว แต่กระนั้น ความหลากหลายในแนวเพลงที่มีวางจำหน่ายในร้านทำให้ความนิยมค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และ Tower Records ก็กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่คอดนตรีต้องไปเดินหาและขุดคุ้ยแผ่นเสียงที่เปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่ามาไว้ในครอบครอง

โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ... มนุษย์ต้องยอมรับในสัจธรรมข้อนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างให้แปรผัน แผ่นเสียงเริ่มได้รับความนิยมลดลง สู่ยุคที่เทปคาสเสตต์เข้ามามีบทบาท มาจนถึง Compact Disc หรือ ซีดี ในช่วงยุค 80s ที่พกพาสะดวก ใช้การง่าย แถมคุณภาพเสียงก็ชัดใส ระหว่างนั้น Tower Records ก็ยังเป็นหัวหอกสำคัญในการเป็นแหล่งรวมพลคนรักเสียงเพลง สาขาได้แผ่ขยายไปกว่า 200 แห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

และโลกก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ... แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กลับทำให้ Tower Records จมดิ่งและตกต่ำถึงขั้นล้มละลาย

การมาเยือนของ MP3 หรือการดาวน์โหลดไฟล์เสียงจากเว็บไซต์ต่างๆ (ตอนนั้นหลายคนคงคุ้นเคยกับ Napster หรือแผ่น Pirates เป็นอย่างดี) ได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการฟังเพลงให้กับทุกคนบนโลก เพียงคลิกเดียวคุณก็ได้ฟังเพลงโปรดที่อยากฟัง ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทาง เสียเวลาเดินหา เสี่ยงดวงว่าอัลบั้มที่คุณหยิบขึ้นมานั้นจะถูกอกถูกใจ หรือถูกจริตคุณหรือไม่ ในทางกลับกัน ร้านขายซีดีเพลงก็ค่อยๆ เหงาหงอย ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ศิลปินเลิกผลิตซีดี และวัฒนธรรมการฟังเพลงในแบบเดิมๆ ก็ค่อยๆ ล้มหายตายจาก

อย่างที่เกริ่นไปในช่วงแรก Russ Solomon ในขณะนั้นคือชายหนุ่มผู้กล้าได้กล้าเสียกับทุกเรื่อง เขาอยากนำพา Tower Records ไปสู่คอดนตรีทั่วทุกมุมโลก จึงทำการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว และไม่ได้คำนึงถึงปัญหาที่กำลังงอกเงยมากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดเมื่อปี 2004 อาณาจักรแห่งเสียงเพลงดังกล่าวก็ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย ด้วยภาระหนี้สินในตอนนั้นที่มีอยู่ประมาณ 80-100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 2 ปีถัดมา Russ Solomon ก็ประกาศปิดกิจการอย่างเป็นทางการ เหลือเพียงกว่า 80 สาขาที่ญี่ปุ่นและไอร์แลนด์ที่แยกออกมาบริหารด้วยตนเอง

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา คอดนตรีชาวไทยเริ่มคุ้นเคยกับป้ายร้านสีเหลือง ตัวอักษรสีแดงในช่วงยุค 90s ยุคแห่งดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ยุคแห่งการออกจากกรอบเดิมๆ และ Tower Records ก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะ “ความหลากหลาย” ที่ต่อยอดมาจากร้านต้นฉบับ ทำให้ในแต่ละสาขา อาทิ เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ (เซ็นทรัลเวิลด์ ในปัจจุบัน), เอ็มโพเรียม หรือ สยาม ก็จะมีมนต์เสน่ห์ที่แตกต่างกันไป อีกทั้งร้านย่อยๆ เหล่านี้ยังเคยสร้างตัวตนและความทรงจำให้กับศิลปินอย่าง เอ๋-กิตติศักดิ์ บัวพันธุ์ นักร้องนำวง Ebola, จีน-กษิดิศ สำเนียง หรือแม้กระทั่ง ตั้ม-สุวิชชา สุภาวีระ หรือ Dajim ที่เคยเป็นพนักงานร้าน Tower Records มาแล้วอีกต่างหาก

ยังจดจำการไปยืนใส่เฮดโฟนฟังเพลงที่ทางร้าน Tower Records ขึ้นเชลฟ์แนะนำกันได้ใช่ไหมล่ะ?

นอกจากกองซีดีพะเนินเทินทึก หลากหมวด หลายแนว การที่เราพุ่งตรงไปยังตำแหน่งที่ Tower Records แนะนำอัลบั้มเด็ดในช่วงนั้นๆ ก็ถือเป็นความตื่นเต้นในอีกรูปแบบหนึ่ง รวมไปถึงการหยิบอัลบั้มของศิลปินที่เราไม่รู้จักมาก่อน เดินไปยังเคาน์เตอร์ จ่ายเงิน กลับบ้าน ใส่แผ่นซีดีลงในเครื่องเล่น และลุ้นว่าเราจะ “ได้ยิน” อะไร นับเป็นมนต์เสน่ห์ที่เรายังนึกถึงอยู่ร่ำไป

แน่นอนว่า Tower Records ในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากยุคเทปผีซีดีเถื่อนเช่นเดียวกัน จนในที่สุดก็มีชะตากรรมไม่ต่างจากร้านต้นกำเนิดที่สหรัฐอเมริกา แต่หากมองไปรอบๆ ในบ้านเราก็ยังมีตำนานร้านขายซีดีที่ยังคงมีลมหายใจอยู่ ไม่ว่าเป็น น้อง ท่าพระจันทร์, โดเรมี หรือแม้แต่ ดีเจสยาม ที่แม้ว่าขนาดร้านจะเล็กลง แต่ก็ยังยืนหยัดที่จะเป็นแหล่งจำหน่ายเสียงดนตรีกันต่อไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการฟังเพลงอีกคราในยุคนี้ กับเหล่าบริการสตรีมมิ่งทั้งหลายที่ใช้ง่าย และแสนจะสะดวกสบาย

การสูญเสียของ Russ Solomon ผู้ก่อตั้ง Tower Records ในครั้งนี้ คอดนตรีที่มีประสบการณ์ร่วมกับตำนานร้านขายซีดีและแผ่นเสียงดังกล่าวคงรู้สึกใจหาย และคงระลึกถึงชายผู้นี้ไปตลอดกาล  

และหากจะบอกว่า Tower Records คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของวงการดนตรีโลก ทุกคนคงไม่กล่าวปฏิเสธ และแม้ว่าหากในวันหนึ่ง ร้านขายซีดีเพลงจะไม่หลงเหลืออีกต่อไป ทว่าการให้คุณค่ากับผลงานเพลงจากศิลปินทุกคนย่อมเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การคงไว้ ... มิใช่หรือ?

เพราะ No music, no life. หากไร้ซึ่งเสียงเพลง ชีวิตคงหมดความหมาย

 

Story by: Chanon B.
Photos by: GettyImages, noisey.vice.com

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ แด่ผู้ก่อตั้ง Tower Records ผู้ลาลับ กับตำนานร้านซีดีที่คอดนตรีหลงรักตลอดมา และตลอดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook