ทำ Tribute Album เพื่ออะไร ยกย่องหรือแค่เพลง cover? | Sanook Music

ทำ Tribute Album เพื่ออะไร ยกย่องหรือแค่เพลง cover?

ทำ Tribute Album เพื่ออะไร ยกย่องหรือแค่เพลง cover?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องโดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

 

ตลาดดนตรีโลกในช่วงปลายยุค80-กลาง90s มีกระแสทางการค้าในวงการเพลงอยู่ 2 อย่างที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันเหมือนจะรู้จักสุภาษิตไทยว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” อย่างแรกคือ การทำอัลบั้มแบบ Unplugged โดยให้ศิลปินเล่นเพลงของตัวเองแบบอะคูสติก และเล่นในห้องส่งที่มีคนดูเพียงไม่กี่ร้อยคน ก็ประสบความสำเร็จอยู่หลายปี โดยอัลบั้ม Unplugged ของเอริก แคลปตันขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอย่างที่ทราบกัน


อย่างหลังคือ การทำอัลบั้ม Tribute ซึ่งจริงๆก็ทำกันมาก่อนหน้านั้น แต่ไม่ได้โดดเด่นและเน้นการค้าอย่างในช่วงที่ระบุตอนต้น กระแสเกิดขึ้นในช่วงที่วงอัลเทอร์เนทีฟร็อคและกรันจ์กำลังได้รับความนิยมสุดขีดพอดี เราจึงได้ฟังอัลบั้มทริบิวต์ดีๆ รวมเพลงจากหลายศิลปินที่พร้อมใจกันเล่นเพลงของศิลปินที่พวกเขายกย่องและได้รับอิทธิพลทางดนตรีมา อีกทั้งไม่ต้องเล่นแบบก๊อปต้นฉบับ หรือเล่นให้เหมือนของเดิมด้วย ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้งานทริบิวต์แตกต่างจากงานคัฟเวอร์ นอกจากนี้อัลบั้มทริบิวต์ส่วนใหญ่มักวางแผนผลิตก่อน

แล้วค่อยทาบทามศิลปินให้มาบันทึกเสียง แต่บางอัลบั้มก็เล่นง่ายโดยรวบรวมเพลงที่ศิลปินต่างๆร้องคัฟเวอร์ไว้ต่างกรรมต่างวาระ แล้วนำมาผูกรวมเป็นอัลบั้มเดียวออกขายในช่วงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อครุ่งเรือง ค่ายเพลงสากลยักษ์ใหญ่ในบ้านเราออกงานทริบิวต์มาหลายชุด ทั้งประสบความสำเร็จและไม่ จะขอแนะนำเฉพาะที่ยังพอตามหาซื้อซีดีหรือเทปมือสองฟังกันได้นะครับ อนึ่ง บางอัลบั้มแนะนำจากความชอบส่วนตัวด้วยครับ

01 COME TOGETHER: AMERICA SALUTES THE BEATLES
(1995 17 เพลง 17 ศิลปิน)

 

 

ไม่ง่ายเลยที่จะนำดาวดังคันทรีมาร้องเพลงของสี่เต่าทองกันได้อย่างพร้อมเพรียงเช่นนี้ และที่สำคัญ พวกเขาเป็นอเมริกันที่ปกติไม่ค่อยแยแสกับศิลปินฝั่งอังกฤษเท่าไหร่ เท่านั้นไม่พอ พวกเขายังนำเพลงของสี่เต่าทองมาถ่ายทอดในสไตล์คันทรีของตัวเองได้อย่างมีเสน่ห์และไม่ทำลายบรรยากาศดั้งเดิมด้วย ไฮไลต์ก็คือ ซูซี บอกกัสร้องเพลง All My Loving โดยมีเชต แอตกินส์เล่นกีตาร์

02 IF I WERE A CARPENTER  (คลิกฟังเพลง)
(1994 14 ศิลปิน 14 เพลง)

รวมดาวศิลปินในแวดวงอัลเทอเนตีฟและกรันจ์ที่ไม่น่าจะเล่นเพลงของ Carpenters ได้ไพเราะและน่าฟังขนาดนี้ อีกทั้งสอดแทรกแนวทางของตนเองเข้าไปอย่างกลมกลืน เพลงเด่นคือ Yesterday Once More โดย Redd Kross Superstar โดย Sonic Youth Let Me be the One โดยแมตธิว สวีต จริงๆก็เด่นหมดแหละครับ ลดหลั่นกันไปตามชื่อชั้นของแต่ละศิลปิน

 

03 COMMON THREAD: THE SONGS OF THE EAGLES   (คลิกฟังเพลง)
(1993 13 เพลง 13 ศิลปิน)

 

เป็นงานที่ศิลปินคันทรีฝั่งอเมริกาต้องทำกันวันยังค่ำ ออกช่วงที่ The Eagles ก็กำลังเตรียมทำอัลบั้ม Hell Freezes Over พอดี ทั้ง 13 ศิลปินล้วนเป็นขาใหญ่ที่มีในแวดวงอเมริกันคันทรีทั้งสิ้น ยิ่งร้องเพลงของ The Eagles ด้วยน้ำเสียงของตัวเอง ทำให้ได้บรรยากาศและไพเราะราวกับเป็นเพลงของพวกเขาเอง ที่ไม่ควรพลาดคือ I Can’t Tell You Why โดยวินซ์ กิล Best of My Love โดย Brooke & Dunn


04 STONE FREE: A TRIBUTE TO JIMI HENDRIX  (คลิกฟังเพลง)
(1993 14 เพลง 17 ศิลปิน)


ศิลปินหลายหลากจากแวดวงต่างกัน ทั้งบลูส์รุ่นพ่อ ฮิป-ฮอป นิวเวฟ แจ๊ซ อัลเทอร์เนทีฟ กรันจ์ ไปจนถึงครอสโอเวอร์ ก็เลยมีเครดิตตั้งแต่ บัดดี กาย แพ็ต เมธีนี The Pretenders P.M. Dawn เรื่อยเรียงไปจรด Seal ที่ร่วมร้องกับเจฟ เบก เลยทีเดียว ภาพรวมเลยออกมาเหมือนมั่วๆ แต่หากแยกฟังเป็นเพลงๆ จะฟังได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุดครับ เพราะแต่ละรายก็โชว์ลีลากีตาร์กันแบบไม่มีอั้นกันเลย


05 KISS MY ASS: CLASSIC KISS REGROOVED
(1994 12 เพลง 14 ศิลปิน)


คล้ายงานทริบิวต์เฮนดริกซ์ตรงที่ศิลปินค่อนข้างจับฉ่าย แต่จริงๆแล้ว แต่ละรายก็ได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจาก Kiss ทั้งสิ้น ทุกคนมี Kiss ในหัวใจและเล่นเพลงของ Kiss กันอย่างดีเยี่ยม ที่เซอร์ไพรส์คือ โยชิกิ จาก X-Japan ก็มีส่วนร่วม วง Kiss มาเล่นดนตรีเพลง Hard Luck Woman แต่การ์ธ บรูกส์ เจ้าพ่อคันทรีป๊อปร้องนำ หรือ Calling Dr. Love ที่ได้สมาชิกวง Tool, RATM, Faith No More มาเล่นร่วมกัน


06 BACK AGAINST THE WALL  (คลิกฟังเพลง)
(2005 26 เพลง หลายศิลปิน)


เป็นโปรเจกต์พิเศษที่บิลลี เชอร์วูด นักดนตรีในแวดวงฮาร์ดร็อค/โปรเกรสสีฟร็อครวบรวมนักดนตรีฝีมือดีมาผลิตอัลบั้มทริบิวต์หลายชุด เล่นหลายเชสชัน แล้วแต่ว่าใครถนัดเล่นเพลงของวงไหน บางชุดก็มีจำหน่ายในบ้านเรา จะเห็นรายชื่อนักดนตรีดังจากวง Deep Purple, Jethro Tull, Asia, Yes, Styx, Genesis, Doors, Kiss, King Crimson, ELP และอีกมากมายสลับหน้ากันมาเล่นเพลงของ Pink Floyd ที่ฟังอย่างไรก็เทียบต้นฉบับไม่ได้ แต่ก็เป็นอีกรสชาติหนึ่งที่ฟังง่ายและมีลายเซ็นของแต่ละแฝงอยู่


07 DRAGON ATTACK: A TRIBUTE TO QUEEN
(1997 12 เพลง หลายศิลปิน)


การทำงานและนักดนตรีคล้ายงานทริบิวต์ Pink Floyd แต่ชุดนี้เน้นนักดนตรีจากแวดวงฮาร์ดร็อค/เฮฟวี เมทัลเป็นหลัก โดยมีบิลลี เชอร์วูดร่วมเล่นในหลายเพลงและโปรดิวซ์ เป็นอัลบั้มที่เน้นฝีมือกีตาร์ฮีโรระดับขึ้นหิ้งของยุคนั้นเลยครับ อย่างอิงเว มัลม์สทีน (Rising Force), คริส อิมเพลลิตเทรี (Impellitteri), บรูซ คูลิก (ex-Kiss), จอห์น, เปตรุกชี (Dream Theater), Jake E. Lee (Badland), สกอต เอียน (Anthrax) รวมทั้ง เลมมี จาก Motorhead ด้วย จะด้อยกว่าอัลบั้มทริบิวต์อื่นๆนิดก็ตรงที่เล่นเคารพต้นฉบับมากไปนิดครับ

08 WE’RE A HAPPY FAMILY: A TRIBUTE TO RAMONES
(2003 17 เพลง หลายศิลปิน)


เกิดจากไอเดียของจอห์นนี ราโมน และลงมือทาบทามศิลปินให้มาร่วมงานด้วยตัวเอง ซึ่งได้ระดับหัวแถวมาร่วมงานคับคั่ง อาทิ Metallica, Red Hot Chili Pepper, U2, Rob Zombie, Marilyn Mason, Green Day, Rancid, Offspring รวมทั้งเอ๊ดดี เวดเดอร์ และทอม เวตส์ ดึงสายพังก์และร็อคมาเต็มพิกัด คัดมาแต่เพลงเด่น และเล่นกันอย่างถึงลูกถึงคน ภาพรวมจึงออกมาดีมาก ให้อารมณ์ของดนตรีพังก์ นิวเวฟ อิเลกทรอนิก ฮาร์ดร็อค และกรันจ์ร็อคครบครัน


09 THE SMITHS IS DEATH  (คลิกฟังเพลง)
(1996 10 เพลง 10 ศิลปิน)


อัลบั้มที่เกิดจากนิตยสารฝรั่งเศสชื่อ Les Inrockuptibles รวบรวมขึ้นเพื่อออกในวาระครบรอบ 10 ปีอัลบั้ม The Queen is Dead ของ The Smiths นั่นเอง ศิลปินที่มาร่วมงานเป็นวงอังกฤษที่กำลังมาแรงและครองอันดับเพลงในช่วงนั้นเป็นหลัก เราจึงได้ฟังเพลงของ Smiths โดย The Boo Radleys, Placebo, Supergrass, Bis, The Divine Comedy และอีกหลายวง ซึ่งก็ทำได้ดีพอสมควร แต่เสียงของ Mossissey เป็นลายเซ็นของ Smiths ไปแล้ว ก็เลยฟังให้หายคิดถึงได้อย่างเดียว

 

10 THE BRIDGE: A TRIBUTE TO NEIL YOUNG  (คลิกฟังเพลง)
(1989 14 เพลง 14 ศิลปิน)


เป็นงานช่วงต้นที่กระแสอัลบั้มทริบิวต์เริ่มเป็นที่สนใจ บวกกับดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ กรันจ์ร็อคและอเมริกันร็อคกำลังครองตลาด และวงที่มาเล่นดนตรีก็ล้วนมีนีล ยัง เป็นฮีโรในใจของพวกเขา ทุกเพลงเล่นในสไตล์ของแต่ละศิลปิน โดยที่ยังมีเค้าโครงต้นฉบับหลงเหลืออยู่บ้าง เพลงเด่น Winterlong โดย Pixies After the Gold Rush โดย Flaming Lips Lotta Love โดย Dinosaur Jr. Helpless โดย นิก เคฟ ชื่อ The Bridge เป็นโรงเรียนการกุศลช่วยเหลือเด็กพิการที่ก่อตั้งโดยนีล ยังและภรรยาของเขา

 

____________________________

สั้นๆเกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Record Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook