จะเปิดหรือไม่เปิด ส่องสถานการณ์โรงหนังโลก โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

จะเปิดหรือไม่เปิด ส่องสถานการณ์โรงหนังโลก โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

จะเปิดหรือไม่เปิด ส่องสถานการณ์โรงหนังโลก โดย ก้อง ฤทธิ์ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในระหว่างที่ทุกคนยังรอวันที่จอหนังในประเทศไทยจะสว่างขึ้นอีกครั้ง มีข่าวอัปเดตสถานการณ์ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะกระทบชิ่งยาวไปถึงงานออสการ์ และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อโรงหนังในไทยด้วย

หลายสำนักข่าวรายงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน ว่าสมาคมผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา (National Association of Theatre Owners) วางเป้าว่า โรงภาพยนตร์ในอเมริกาจะกลับมาเปิดได้ในวงกว้างปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจะตรงกับฤดูกาล “หนังซัมเมอร์” แต่ในบางพื้นที่ที่สถานการณ์ไวรัสโคโรนาไม่รุนแรง โรงหนังอาจจะกลับมาได้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์การระบาดในตอนนี้เป็นอย่างไร จะคลี่คลายลงอย่างที่ฝ่ายสาธารณสุขของสหรัฐฯ คาดการไว้หรือไม่

iStock

ฝ่ายเจ้าของโรงยอมรับว่าเดาไม่ได้จริงๆ ว่าคนดูจะตอบสนองอย่างไรเมื่อโรงหนังเปิด ความเป็นไปได้มีสองทาง คือคนจะยังกลัว ไม่ไว้ใจ และมองว่าโรงหนังยังเป็นสถานที่เสี่ยง กับอีกทางหนึ่งคือตรงข้าม คนอาจจะอัดอั้นที่ต้องอยู่บ้านมานาน และจะแห่กันมาดูหนังจนเต็มโรง ซึ่งทั้งสองทฤษฎีนี้น่าจะไม่ต่างอะไรกับเมื่อโรงหนังในไทยเปิดทำการ

หนังใหญ่ที่เชื่อวาจะมารอต้อนรับโรงเปิดมีหลายเรื่อง เช่น Tenet ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ตอนนี้ยังลงวันที่เป็น 17 กรกฎาคม, Mulan และ Wonder Woman ซึ่งวางวันที่ไว้กลางกรกฎาคมเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้หนังหลายเรื่อง เลื่อนวันยาวไปดักหน้าไว้แล้ว เช่น James Bond: No Time to Die ไปปลายปี, Fast and Furious 9 ไปปีหน้าเลย หนังใหญ่ของดิสนีย์อย่าง Black Widow และอนิเมชัน Soul ของพิกซาร์ ยังรอดูท่าทีและไม่มีวันฉายแน่นอน

เป็นไปได้มากว่าโรงหนังในประเทศไทย น่าจะเปิดได้ก่อนโรงหนังในอเมริกา เพราะสถานการณ์โควิดในไทยดูไม่รุนแรงเท่า ดังนั้นสมมติว่าโรงหนังในไทยเปิดได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (จะต้นหรือกลางเดือนก็แล้วแต่) แสดงว่าจะไม่มีหนังฮอลลีวูดใหม่ๆ มาลงจอ เพราะอย่างไรเสียก็ต้องรอหนังเข้าที่อเมริกาก่อน ในช่วงก้ำกึ่งนี้อาจจะเป็นช่วงทองของหนังไทยที่จะได้พื้นที่ (เพราะหนังไทยที่ต้องเลื่อนวันฉายไปก็มีเกือบสิบเรื่อง) หรือแม้แต่หนังฝรั่งอินดี้ (ที่ไม่ใหม่นัก) และมีผู้จัดจำหน่ายซื้อมารอไว้ รวมทั้งหนังคลาสสิก ที่เริ่มมีตลาดคนดูมากขึ้นในช่วงหลัง โรงหนังในอเมริกาก็มีแผนว่าจะเอาหนังคลาสสิกมาเข้าก่อนเช่นกัน หากโรงหนังเปิดได้เร็วตั้งแต่เดือนมิถุนายน  ซึ่งจะว่าไปนี่เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้คนดูหนังรุ่นใหม่ๆ มีทางเลือกหลากหลายและได้ดูหนังที่อาจจะไม่เคยมีโอกาสได้ดูบนจอใหญ่มาก่อน

แต่สตูดิโอก็ไม่วางใจ หนังหลายๆ เรื่องอาจจะถูกปล่อยลงออนไลน์ (แบบเก็บเงิน) แทนที่จะรอความชัดเจนทางโรงหนัง

โดมิโนตัวถัดไปได้แก่เทศกาลหนังในช่วงครึ่งปีหลังทั้งหลาย ที่มักใช้เป็นอีเวนท์เพื่อเปิดตัวหนังรางวัล เช่น เทศกาลเวนิส หรือเทศกาลโตรอนโต้ ที่หลังๆ เป็นศูนย์รวมหนังออสการ์มาตลอด หากสองเทศกาลดังกล่าวจัดไม่ได้ หรือต้องเลื่อน หรือเกิดเหตุอะไรก็แล้วแต่อันเนื่องมาจากปัญหาโควิด หนังที่รอเปิดตัวจะทำอย่างไร จะหาที่ลงและสร้างข่าวให้คนสนใจอย่างไร ถามเลยไปถึงว่า แล้วรางวัลออสการ์ปีหน้า จะยอมอ่อนข้อขนาดเอาหนังที่ไม่เข้าโรง (หากโรงยังเปิดไม่ได้จริงๆ) แต่ฉายทางออนไลน์อย่าง Netflix หรือ Amazon มาเข้าประกวดหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้หากพูดแบบนี้นี่เอาไปยิงทิ้งแน่ๆ เพราะออสการ์ไม่ยอมรับหนังที่ไม่เข้าโรงฉาย คือถึงจะเข้าในระยะสั้นๆ หรือแค่บางโรงก็ยังได้ แต่ประเภทไม่เข้าโรงเลย ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์

iStock

ปัญหาของเทศกาลหนังยังซับซ้อนไปอีก เมื่อเทศกาลที่สำคัญที่สุดในโลก คือเทศกาลหนังเมืองคานส์ ตอนแรกที่ว่าจะย้ายไปจัดเดือนกรกฎาคม ตอนนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะฝรั่งเศสยังห้ามการจัดอีเวนท์ที่มีคนรวมตัวกันมากๆ ต่อไปถึงเดือนกรกฎาคม คานส์จึงกำลังหารือว่าจะปรับทัพอย่างไร เช่นอาจจะไปจัดรวมกับเวนิส หรือจะเลื่อนไปอีก (แต่ไม่ทำเทศกาลออนไลน์แน่นอน หัวเด็ดตีนขาด) ทั้งหลายทั้งปวงนี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปไม่ใช่เพียงในยุโรปหรืออเมริกา แต่สำหรับคนจัดจำหน่ายหนัง และคนดูหนังทั้งโลกด้วย

ระหว่างนี้เราในฐานะผู้ชมก็ดูหนังสตรีมมิงกันไป แล้วเฝ้าภาวนาว่าโรงหนังจะกลับมาส่องแสงสว่างได้ในไม่ช้านี้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 25 ปี

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ จะเปิดหรือไม่เปิด ส่องสถานการณ์โรงหนังโลก โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook