ชวนดู "เนื้อใน" รวด ซีรีส์หญิงที่ข้างนอก "แกร่ง" แต่ข้างใน "เน่า"

ชวนดู "เนื้อใน" รวด ซีรีส์หญิงที่ข้างนอก "แกร่ง" แต่ข้างใน "เน่า"

ชวนดู "เนื้อใน" รวด ซีรีส์หญิงที่ข้างนอก "แกร่ง" แต่ข้างใน "เน่า"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากคนที่ไม่ได้ดูละครไทยมาหลายปี เหตุผลเพราะความที่ตัวเองไม่มีเวลา ในการติดตามอะไรยาวๆ และส่วนมากก็เทใจไปดูซีรีส์ตะวันตกเสียมากกว่า เมื่อโอกาสประจวบเหมาะกับสถานการณ์กักตัวอยู่บ้าน การที่เราได้โอกาสเปิดทีวีและได้ดูรีรันของ “เนื้อใน” ซีรีส์จากช่อง GMM TV ที่มีนักแสดงอย่างคริส หอวัง และ รถเมล์-คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์ เป็นตัวเดินเรื่องสำคัญ

 

 

ผู้หญิงไทยกับสังคมแบบไทยๆ

เนื้อใน เป็นนิยายผลงานการเขียนของกฤษณา อโศกสิน ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2539 และยังไม่เคยได้รับการดัดแปลงเป็นละครทีวีสักครั้ง จนกระทั่ง GMM TV หยิบมาสร้างเป็นครั้งแรก ซึ่งแกนหลักของเรื่องโฟกัสไปที่เข็มเพชร (คริส หอวัง) หญิงสาวจากครอบครัวไทยเชื้อสายจีนที่ต้องเผชิญหน้ากับการโดนดูถูกมาจากคนรอบตัวมาตลอดชีวิต จนกระทั่งวันหนึ่งเธอกลายเป็นเจ้าของธุรกิจร้านเพชรที่ประสบความสำเร็จ และมีปลี เป็นเพื่อนและหญิงสาวข้างกาย ซึ่งอุปนิสัยตรงกันข้าม ประกอบกับปลียังเป็นสาวหัวอ่อนไม่สู้คน ซีรีส์จึงพาคนดูไปสำรวจชีวิตของผู้หญิงทั้งสองอย่างเจาะลึก ว่า “บริบทของสังคม” ทำร้ายผู้หญิงเหล่านี้ในมุมไหนบ้าง

 

 

ลูกสาวคนจีนและหน้าที่ของผู้หญิง

แรงขับเคลื่อนที่โดดเด่นละชัดเจนที่สุดของตัวละครเข็มเพชร คือการที่เธอเติบโตมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่ให้ความสำคัญกับ “ลูกชาย” มากกว่า “ลูกสาว” ในตอนที่เธอยังร่ำเรียนมหาวิทยาลัย ภาระในการทำงานบ้านทั้งหมดคือหน้าที่ของเธอ ลูกชายในบ้านเปรียบเหมือนเทวดา ลูกสาวนั้นหนาเป็นขี้ข้าที่ทำอะไรก็ผิดไปทุกสิ่ง ค่านิยมที่เป็นมรดกตกทอดมาหลายยุคสมัย ผ่านคำสอนของแม่เข็มเพชรที่ต้องปะทะกับความเชื่อนี้กับลูกสาวอยู่บ่อยครั้ง

เข็มเพชรรู้สึกมาโดยตลอดว่าเธอจะต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้ และเธอจะต้องไม่เป็นผู้หญิงโง่ๆที่แต่งงานเพื่อเป็นสะใภ้ในบ้านคนจีน ภาพอนาคตที่เราได้เห็นตัวละครนี้ เข็มเพชรจึงประสบความสำเร็จในฐานะอาชีพการงาน มีสามีอย่างสกุล (กอล์ฟ-อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา) ที่ดีและคอย “รับฟัง” เมียมาโดยตลอด และคงไม่ผิดนักที่จะเรียกเข็มเพชรว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้คอยจัดการทุกอย่างในบ้านรวมถึงชีวิตคนรอบตัว ราวกับว่าเธอจะต้องกำหนดทุกอย่างในชีวิตให้ได้

 

 

จะเห็นได้ว่าแรงกดทับทางสังคมในวัยเด็กของเข็มเพชร คือแรงผลักสำคัญในชีวิต และเป็นตัวกำหนดอุปนิสัยของเธอ แต่ถึงอย่างนั้นแล้วความพยายามก้าวหน้าในชีวิตของเข็มเพชร แม้เธอจะไม่สืบต่อความคิดดังกล่าว แต่เข็มเพชรก็ใช้วิธีกดทับผู้หญิงคนอื่นทางอ้อมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแผนการว่าจ้างหญิงขายบริการไปหลอกทำพี่ชายตัวเองท้อง คอยหาผู้ชายให้เพื่อนสนิทอย่างปลีโดยยัดเยียดความหวังดีนั้นผ่านแผนการต่างๆ หรือกระทั่งบอกว่า “ร้านของฉันต้อนรับลูกค้าเมียน้อย ไม่เหมือนบางร้านที่ทำตัวไฮโซกว่า” แต่ไม่นานนัก เข็มเพชรกลับด่าคนที่เธอเกลียดว่าเป็นสัตว์ชั้นต่ำ เพราะสุดท้ายแล้ว “เนื้อใน” ของเข็มเพชรเองก็เหยียดคนอื่นอยู่ในทีอยู่แล้ว

 

 

รอยยิ้มบนความสำเร็จ แต่แผลใจที่ไม่เคยจางของเข็มเพชร

ตอนแรกของ “เนื้อใน” เปิดฉากมาด้วยความสำเร็จในการที่เข็มเพชรได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จด้านอาชีพการงาน แต่เราจะเห็นได้ว่า ในทุกครั้งที่ตัวละครนี้ได้รับรางวัลอะไรก็ตาม เธอจะไม่เคยรู้สึก “มีความสุข” อย่างแท้จริง เพราะตลอดเวลา เข็มเพชรไม่เคยพอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับ เนื่องจากเธอเป็นคนที่ต้องการให้ ความสนใจของคนรอบตัวจะต้องพุ่งมาหาเธอโดยตลอด

บาดแผลในจิตใจ การถูกดูถูกมาโดยตลอดชีวิต การผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จของเธอ คือการก้าวข้ามหัวเพื่อนร่วมงาน ตะเกียกตะกาย จนได้ดิบได้ดี แต่ราเชน (อาร์ต-พศุตม์ บานแย้ม) น่าจะเป็นคนเดียวที่เท่าทันเกมและแผนการต่างๆของเข็มเพชร ซึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าหากเขาเป็นกระจกเงา เงาของเข็มเพชรและราเชนคือภาพสะท้อนของกันและกันในเวอร์ชั่นต่างเพศนั่นเอง

 

 

การตั้งคำถามของโปรย กับความบื้อใบ้ของผู้ใหญ่ในสังคม

 โปรย : “ถ้าพ่อรักโปรย โปรยขอให้พ่อหยุดกินเหล้า ทำไมพ่อยังกินล่ะคะ”

ปลี : “พ่อเขาทำงานหนักน่ะลูก”

โปรย : “แม่ก็ทำงานหนักไม่เห็นกินเหล้าเลย ทำไมพ่อบอกทำงานหนักต้องกินเหล้าด้วย”

ปลี ได้แต่ยิ้มและไม่มีคำตอบใดๆ ตอบกลับนอกจากลูบหัวลูกสาวตัวเองแล้วบอกว่า “โถ่ลูก”

โปรย (ด.ญ คีตภัทร ป้องเรือ) ลูกสาวของปลีที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของแม่และราเชน เธอมองเห็นพฤติกรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในบ้านมาโดยตลอด แม้เธออาจจะช่วยเหลือแม่ไม่ได้ แต่เธอก็รับรู้ความเป็นไปมาโดยตลอด แม้เธอพยายามจะตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ด้วยแนวคิด “เป็นครอบครัวพร้อมหน้ายังไงก็ดีกว่า” ของแม่เธอ ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของสองแม่ลูกดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย ซ้ำยิ่งจะเลวร้ายขึ้นทุกที

 

 

จะเห็นได้ว่าความพยายามสร้างความครอบครัวแสนสุขของปลี คือความพยายามหลอกตัวเองไปวันๆเพื่อบอกตัวเองว่าวันนี้ฉันยังยิ้มได้ แต่ทุกวันที่เธอก้าวเท้ากลับบ้านและต้องเผชิญหน้ากับสามีตัวเอง ไม่ต่างอะไรจากฝันร้ายที่ไม่มีวันจบ เพราะเธอไม่รู้เลยว่า เธอจะโดนผัวซ้อมหรือโดนระบายอารมณ์ในรูปแบบไหน

จึงกล่าวสรุปได้ว่า เพราะแนวคิดของผู้ใหญ่ในสังคมในยุคสมัยหนึ่ง คือสิ่งตกค้างที่จะถูกส่งต่อให้ “เด็กและเยาวชน” ในรุ่นต่อไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และในอนาคตเยาวชนเหล่านี้ก็จะเติบโตมาและมีแนวคิดในการบอกตัวเองว่า “ฉันอยากเป็นคนแบบไหนและจะไม่ทำตามคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราตรงไหนบ้าง” นั่นเอง  

สุดท้ายแล้ว “เนื้อใน” จึงเป็นซีรีส์ที่มีอะไรมากกว่า ตัวละครหญิงร้ายเสียงดัง แต่เมื่อเจาะลึกเข้าไปแล้วเราจะเห็นถึงโครงสร้างสังคมไทยที่หล่อหลอมให้คนในสังคมเป็นเฉกเช่นทุกวันนี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook