ครบทุกเรื่องแล้วกับหนัง Ghibli หาดูยาก ล็อตสุดท้ายบน Netflix

ครบทุกเรื่องแล้วกับหนัง Ghibli หาดูยาก ล็อตสุดท้ายบน Netflix

ครบทุกเรื่องแล้วกับหนัง Ghibli หาดูยาก ล็อตสุดท้ายบน Netflix
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ล็อตสุดท้ายอีก 7 เรื่องของสตูดิโอจิบลิที่ปล่อยสตรีมมิงให้ดูกันแล้วในเดือนเมษายน ก่อนหน้านี้ What The Fact เคยนำเสนอหนังจิบลิทั้ง 2 ล็อตก่อนหน้าในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ในโอกาสที่นี่จะเป็นล็อตสุดท้ายปิดจบครบถ้วนทุกเรื่องที่สตูดิโออันดับ 1 เรื่องแอนิเมชันของญี่ปุ่นนำหนังการ์ตูนคลาสสิกขึ้นหิ้งมาให้ได้ชมกันถึงบ้าน เราก็จะขอย้อนกลับไปเล่าถึงประวัติของสตูดิโอแห่งนี้เมื่อ 48 ปีก่อน รวมถึงไปทำความรู้จักกับ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” ผู้ก่อตั้งและผู้กำกับมือหนึ่งผู้เป็นหัวใจของจิบลิด้วย (หากใครต้องการอ่านรายชื่อหนังแนะนำก็ข้ามไปที่ด้านล่างได้เลย)

ฮายาโอะ มิยาซากิ รับรางวัลเกียรติยศจากเวทีออสการ์ เมื่อปี 2014

ฮายาโอะ มิยาซากิ รับรางวัลเกียรติยศจากเวทีออสการ์ เมื่อปี 2014

จุดเริ่มต้นของสตูดิโอนั้นคือตอนที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ ได้พบกับแอนิเมเตอร์รุ่นพี่อย่าง อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ตอนทำงานที่สตูดิโอผลิตแอนิเมชันชื่อ โตเอ (Toei Doga) ในปี 1963 ในเวลานั้นสตูดิโอได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการผลิตการ์ตูนขนาดสั้นออกฉายทางโทรทัศน์มากกว่าเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ต้นทุนและเวลาผลิตมากกว่า พวกเขาอดทนรอเวลากว่า 20 ปี จนได้สร้าง Nausicaa of the Valley of the Wind (1984) และประสบความสำเร็จจึงได้ตัดสินใจก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli หรืออ่านว่า “จิ-บุ-ริ” ในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า “ลมร้อนที่พัดผ่านพื้นทะเลทรายซาฮารา” เป็นคำศัพท์ที่นักบินอิตาเลียนเอาไว้ใช้เรียกเครื่องบินสอดแนมของตัวเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งฮายาโอะตั้งชื่อนี้เพราะหลงใหลในเครื่องยินเป็นการส่วนตัว (และถูกนำเสนอในหนังเรื่อง Wind Rises (2014) ด้วย)

อิซาโอะ ทาคาฮาตะ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในปี 2018 ในวัย 82 ปี

อิซาโอะ ทาคาฮาตะ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในปี 2018 ในวัย 82 ปี

ฮายาโอะ มิยาซากิ โทชิโอะ ซูซูกิ ผู้บริหารสูงสุดของ Ghibli ในปัจจุบัน ในงานศพของอิซาโอะ ทาคาฮาตะ_2

ฮายาโอะ มิยาซากิ และโทชิโอะ ซูซูกิ ผู้บริหารสูงสุด Ghibli ในปัจจุบัน ที่งานศพของอิซาโอะ ทาคาฮาตะ

ออฟฟิศของสตูดิโอ Ghibli ตั้งขึ้นในพื้นที่เช่าเพียง 1 ชั้นในเขตคิจิโคติ ชานเมืองโตเกียว ปี 1985 ทีมงานทั้ง 70 คนยังมีสถานะเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว (พร้อมจะเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ) เพื่อสร้างหนัง Lupita: Castle in the Sky (1986) ที่ต่อมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สตูดิโอจึงอาจหาญสร้างหนังเรื่องต่อไปพร้อมกันถึงสองเรื่องคือ My Neighbor Totoro (1988) และ Grave of the Firefiles (1988) ที่ฮายาโอะและอิซาโอะแยกกันกำกับตามลำดับ ซึ่งกับ My Neighbor Totoro ก็มีความเสี่ยงเพราะเนื้อหาของหนังขายยาก ท้ายที่สุดหนังทั้ง 2 เรื่องจึงถูกเสนอขายให้กับโรงหนังแบบแพ็กคู่ ปราฏว่าหนังประสบความล้มเหลวทางรายได้ แต่โด่งดังมากบนเวทีรางวัล และถูกยกย่องจากเวทีประกวดหลายแห่ง ส่วนเจ้า Totoro ก็มีบริษัทผลิตของเล่นมาซื้อสิทธิ์ไปผลิตออกขาย และได้รับความนิยมสูงในเวลาต่อมา

ความสำเร็จของสตูดิโอเริ่มเห็นผลชัดเจนเมื่อ Kiki’ Delivery (1989), Only Yesterday (1991), Porco Rosso (1992) และ Pom Poko (1994) ทำสถิติเป็นหนังญี่ปุ่นที่ทำรายได้สูงสุดของแต่ละปีที่หนังเข้าฉาย เอาชนะหนังฮอลลีวูดได้ทั้งหมด นอกจากน้้น Pom Poko (1994) ยังเป็นภาพยนตร์ตัวแทนประเทศญี่ปุ่นของ ส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในปี 1995 อีกด้วย แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เข้ารอบถึง 5 เรื่องสุดท้าย ส่วนภาพยนตร์ที่ทำให้ Ghibli คว้ารางวัลออสการ์ ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมในปี 2002 ก็คือ Spirited Away (2001)

Pom Poko: ปงโปโกะ ทานูกิป่วนโลก (1994)

Pom Poko

Pom Poko (1994)

เรื่องราวเริ่มต้นที่ภูเขาทามะ ภูเขาเล็ก ๆ ลูกหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองโตเกียว ที่แห่งนี้เป็นเขตอาศัยของเหล่าทานูกิมาช้านาน แต่ภูเขาแห่งนี้ที่เป็นแหล่งพักพิงอันอุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของพวกมันกำลังจะถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์ โครงการพัฒนาเมืองแห่งใหม่บริเวณภูเขาทามะเริ่มต้นขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและปริมาณประชากรในเมือโตเกียวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมืองที่สร้างเสร็จจะถูกตั้งชื่อว่า Tama New Town เมื่อเป็นดังนี้ เหล่าทานูกิจึงพร้อมใจกันออกมาต่อต้านโดยมี “กอนตะ” และ โชคิจิ” สองทานูกิหนุ่มหัวก้าวหน้าเป็นผู้นำฝูง แผนการแรกของพวกเขาก็คือการฟื้นฟูศิลปะการแปลงร่างซึ่งถูกหลงลืมไป เพื่อออกไปแปลงร่างหลอกมนุษย์ให้ตกใจกลัวและหนีออกไปจากภูเขาทามะ ส่วนแผนการที่สองคือ การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์เพื่อให้รู้เท่าทัน จากการดูโทรทัศน์ต่าง ๆ ที่มนุษย์ผลิตขึ้น

Pom Poko (1994)

Pom Poko (1994)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Heisei Tanuki Gessen Ponpoko เป็นผลงานกำกับและเขียนบทโดย อิซาโอะ ทาคาฮาตะ แฝงแง่คิดเรื่องการพยายามต่อสู้เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์จากน้ำมือมนุษย์ จุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากการนำนิยายมาดัดแปลง แต่เป็นความคิดแรกเริ่มของฮายาโอะ โดยมีการออกแบบเจ้าตัวทานูกิให้มีความแตกต่างกัน 3 คือ ทานูกิที่หน้าตาเหมือนจริง ทานูกิที่หน้าตาค้ลายมนุษย์ ยืนสองขาสวมเสื้อผ้า พูดคุยกันด้วยภาษามนุษย์ และสุดท้ายทานูกิที่เน้นการวาดด้วยลายเส้นที่เรียบง่าย ตอนที่เข้าฉาย Pom Poko กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นในปีนั้น และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่ไม่ได้เข้าไปถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย

Whisper of the Heart: วันนั้น…วันไหน หัวใจจะเป็นสีชมพู (1995)

Whisper of the Heart

Whisper of the Heart (1995)

“ชิสึคุ” เด็กนักเรียนหญิงชั้นมัธยมต้นธรรมดา ๆ คนหนึ่ง อาศัยอยู่กับครอบครัว ด้วยนิสัยรักการอ่านและความช่างสังเกตทำให้เธอได้รู้จักกับเด็กหนุ่มชื่อว่า “เซจิ” โดยบังเอิญ ทุกครั้งที่ชิสึคุหยิบหนังสือจากห้องสมุดกลับไปอ่านจะต้องมีชื่อของเซจิเขียนอยู่บนบัตรยืมหนังสือก่อนเธอทุกครั้งไป วันหนึ่งเธอได้พบกับแมวแปลกหน้าสีขาวตัวหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ ชิสึคุตัดสินใจเดินตามแมวตัวนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไปหยุดอยู่ที่ร้านขายของเก่าแห่งหนึ่ง และที่ร้านแห่งนี้เอง ชิสึคุได้พบกับตุ๊กตาแมวที่ชื่อ “บารอน” และ “นิชิ” เธอจึงได้ออกเดินทางสู่โลกแห่งจินตนาการและได้รู้จักกับเซจิ เด็กหนุ่มที่เธอเฝ้ามองมาตลอดอีกด้วย จนกระทั่งเซจิบอกกับเธอว่า เขาตัดสินใจเดินทางไปอิตาลีเพื่อไปฝึกฝนการเป็นช่างทำไวโอลินมืออาชีพ ซึ่งนั่นหมายความว่า ความสัมพันธ์ที่กำลังไปได้ดีของพวกเขาทั้งคู่อาจจะต้องจบลง

Whisper of the Heart

Whisper of the Heart (1995)

ภาพยนตร์ที่มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Mimi wo Sumaseba ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันของ อาโออิ ฮิอิรากิ โดยมี โยชิฟุมิ คอนโดะ เป็นผู้กำกับ ส่วนฮายาโอะทำหน้าที่เขียนบทและเป็นโปรดิวเซอร์ โยชิฟุมิเป็นเพื่อนสนิทที่รู้ใจมากคนหนึ่งของฮายาโอะ ก่อนหน้าจำกำกับเรื่องนี้เขาทำหน้าที่ Animation Supervisor และออกแบบตัวละครหนังของ Ghibli มาแล้วมากมาย ในทีแรกฮายาโอะตั้งใจจะส่งมอบไม้ต่อการดูแลสตูดิโอแห่งนี้ให้โยชิฟุมิหลังจากเขาวางแผนเกษียณ แต่กลายเป็นฝั่งโยชิฟุมิที่ด่วนจากไปเสียงกันด้วยวัย 47 ปี เมื่อปี 1998 หรือ 3 ปีให้หลังหนังเรื่องนี้ออกฉาย เพลง Theme ของเรื่องอย่าง “Kantori roodo” (Country Road) ดัดแปลงมาจากเพลังดังอย่าง “Take Me Home, Country Roads” เพลงแนวคันทรีของ John Denver อีกด้วย

Howl’s Moving Castle: ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ (2004)

Howl’s Moving Castle

“โซฟี” สาวน้อยวัย 18 มีอาชีพเป็นนักทำหมวก วันหนึ่งโซฟีเดินทางไปหาน้องสาว ระหว่างทางเธอเกือบถูกทหารลวนลามและได้รับความช่วยเหลือจาก “ฮาวล์” พ่อมดหนุ่มเจ้าเสน่ห์ โซฟีไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์วันนั้นจะสร้างปัญหาให้กับเธอในอนาคต ในคืนนั้นเองเธอก็ถูก “แม่มดแห่งทุ่งร้าง” ซึ่งเป็นแม่มดที่แอบชอบฮาวล์อยู่ สาปให้เธออยู่ในร่างหญิงชรา และทำให้โซฟีไม่สามารถเล่าเรื่องที่โดยสาปให้คนอื่นได้รู้ โซฟีจัดสินใจหนีไป ระหว่างทางเธอได้พบกับหุ่นไล่กาที่พูดไม่ได้ หุ่นไล่กาพาเธอเดินทางไปยังปราสาทเดินได้ของฮาวล์ โซฟีได้เจอกับฮาวล์แต่เขาจำไม่ได้ว่าเป็นเธอ และโซฟีก็ได้พบกับ “คาลซิเฟอร์” แหล่งพลังที่ทำให้ปราสาทเดินได้ คาลซิเฟอร์ยื่นข้อเสนอว่าจะถอนคำสาปให้กับเธอ ถ้าเธอสามารถถอนเวทมนตร์ที่ฮาวล์สะกดคาลซิเฟอร์ไว้ในปราสาทได้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน

Howl's Moving Castle

Howl’s Moving Castle (2004)

หลังจากทิ้งงานกำกับไปหลายปี ฮายาโอะ มิยาซากิ กลับมากำกับหนังเรื่องนี้เป็นผลงานลำดับที่ 8 ของเขา นั่นเป็นตอนที่ Spirited Away ไปคว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว และคนในวงการหนังทั้งโลกได้รู้จักและตั้งตารอผลงานชิ้นต่อไปของสตูดิโอแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อย หนังที่มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Haura no Ugoku Shiro สร้างมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันนี้ของ Diana Wynne Jones แต่ฮายาโอะก็ได้ดัดแปลงเนื้อหาของหนังให้ต่างจากฉบับหนังสือไปพอสมควร ซึ่ง Jones ก็ไม่ได้ติดขัดอะไร แถมยังชื่นชมว่าดัดแปลงได้ดี หนังที่ฮายาโอะตั้งใจสอดแทรกแนวคิดเรื่องการต่อต้านสงครามและความรุนแรงผ่านพฤติกรรมของพ่อมดฮาวล์ (ฮายาโอะให้สัมภาษณ์ว่า เขาเริ่มงานสร้างหนังเรื่องนี้ตอนสหรัฐฯ ประกาศสงครามกับประเทศปอิรักซึ่งทำให้เขาหดหู่มาก) ไปไกลถึงการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมในปี 2005

Ponyo on the Cliff by the Sea: โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย (2008)

Ponyo on the Cliff by the Sea (2008)

ณ โลกใต้ท้องทะเลลึก นอกจากจะเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลมากมายแล้วก็ยังเป็นที่อาศัยของพ่อมดแห่งท้องทะเล “ฟูจิโมโตะ” ด้วย เขามีลูกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “โปเนียว” ซึ่งสิ่งที่โปเนียวแตกต่างจากคนอื่นนั้น คือการมีร่างกายเป็นมนุษย์ แต่มีลำตัวคล้ายปลาทองสีชมพู มีใบหน้าเป็นคน และสามารถพูดภาษาคนได้ วันหนึ่งโปเนียวหนีออกไปเที่ยวนอกบ้านและบังเอิญหลุดเข้าไปติดอยู่ในขวดแก้วและลอยขึ้นฝั่งไปยังโลกเบื้องบน เหตุการณ์นั้นทำให้เธอได้พบกับ “โซซึเกะ” เด็กชายวัย 5 ขวบเป็นครั้งแรก โซซึเกะช่วยโปเนียวออกจากขวดแก้วได้แต่ทำให้เขาต้องบาดเจ็บ โปเนียวตกหลุมรักเขาจนอยากกลายร่างเป็นมนุษย์ ฟูจิโมโตะรู้เข้าจึงใช้เวทมนตร์เข้าขัดขวางแต่ก็เวทมนตร์นั้นไม่มีอำนาจเพียงพอจะกักขังโปเนียวเอาไว้ การหนีออกจากบ้านอีกครั้งของโปเนียวก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิเข้าท่วมเมืองเล็ก ๆ ที่โซซึเกะอาศัยอยู่จนทั้งเมืองจมสู่ใต้น้ำ

Ponyo on the Cliff by the Sea (2008)

หลังจากเสียชื่อเสียงไปพอสมควรกับ Tales from Earthsea (2006) ที่ให้ลูกชายคนโตมากำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิเลยหวนกลับมานั่งกำกับ Gake no ue no Ponyo เรื่องนี้เอง คำว่า Ponyo เป็นคำที่เขาคิดขึ้นมาเองเพื่อใช้แทนเสียงเรียกของการสัมผัสสิ่งที่อ่อนนุ่ม นั่นคือ “โปเนียว” เจ้าหญิงปลาทองนั่นเอง หนังเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างสูง เว็บไซต์ Rotten Tomatoes ให้คะแนนไว้สูงถึง 92% และทำรายได้สุดสัปดาห์เปิดตัว 3 วันแรกในสหรัฐฯ ไปสูงถึง 3.5 ล้านเหรียญฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติที่ภาพยนตร์แอนิเมชันของญี่ปุ่นจะทำได้ แสดงให้เห็นว่า ฐานแฟนหนังของ Ghibli ในสหรัฐฯ ได้เกิดขึ้นแล้ว

From Up on Poppy Hill: ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (2011)

From Up on Poppy Hill (2011)

From Up on Poppy Hill (2011)

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในปี 1964 ตอนที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังรีบเร่งพัฒนาเมืองเพื่อให้พร้อมรับการเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน “อูมิ” เด็กสาววัย 16 ปี อาศัยอยู่บนบ้านพักบนเนินเขาของท่าเรือโยโกฮามา ทุกเช้าเธอจะต้องชักธงขึ้นสู่ยอดเสาเปรียบดังการส่งคำอธิษฐานถึงพ่อที่เสียชีวิตไปแล้วจากการเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี อูมิได้พบกับ “ชุน” ชายหนุ่มรุ่นพี่ซึ่งอยู่โรงเรียนเดียวกัน ชุนเป็นสมาชิกของชมรมวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ ผู้มีความมุ่งมุ่นอย่างแรงกล้าที่จะรักษาตึกละตินควอเตอร์ อาคารสถาปัตยกรรมแบบยุโรปเก่าแก่ที่กำลังจะถูกทุบทิ้งเอาไว้ให้ได้ ตึกแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของหลายชมรมที่ล้วนแต่อยากรักษาตึกแห่งนี้ไว้ การบูรณะตึกคืบหน้าไปพร้อมกับความสัมพันธ์ของอูมิและชุน แต่แล้วพวกเขาก็ได้พบความจริงว่า ทั้งคู่อาจเป็นพี่น้องพ่อเดียวกันแต่คนละแม่ ซึ่งจะทำให้ความรักของพวกเขาเป็นไปไม่ได้

From Up on Poppy Hill

From Up on Poppy Hill (2011)

ผลงานเรื่องนี้เป็นผลงานแก้ตัวอย่างแท้จริงของผู้กำกับโกโร่ มิยาซากิ ลูกชายคนโตของฮายาโอะที่ไม่ประสบความสำเร็จไปกับ Tales from Earthsea (2006) มาถึงเรื่องนี้ที่มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Kokurikozaka kara เขียนบทโดยฮายาโอะ และเคโกะ นิวะ ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกันของ เท็ตสึโระ ซายามะ ออกฉายครั้งแรกวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 2011 และทำรายได้เปิดตัว 3 วันแรกไปถึง 587 ล้านเยน หนังได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์จนไปคว้ารางวัลจากสองเวทีใหญ่ของญี่ปุ่นคือ รางวัล Animation of the Year (2012) จากการประกวด Tokyo Anime Award ครั้งที่ 11 และ Japan Academy Prize ครั้งที่ 35 เพลงธีมของเรื่องคือเพลง Sukiyaki ของ คิว ซาคาโมโตะ ซึ่งมีความหมายว่า “แหงนหน้ามองขึ้นฟ้าแล้วจงเดินหน้าต่อไป”

When Marnie Was There: ฝันของฉันต้องมีเธอ (2014)

When Marnie Was There

When Marnie Was There (2014)

“อันนา” เด็กผู้หญิงวัย 12 ขวบกำลังนั่งวาดภาพอยู่คนเดียวในสวนสาธารณะที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน แต่เธอกลับรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น อันนามีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงนักด้วยโรคหอบหืดทำให้เธอทำกิจกรรมอะไรหนัก ๆ ไม่ค่อยได้ เธอไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ของครอบครัวซาซากิที่เธอมาอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งพวกเขาและเธอก็ดูเย็นชาและห่างเหินกัน ด้วยคำแนะนำของหมอ อันนาถูกส่งตัวไปพักกับครอบครัวโออิวะชั่วคราวที่หมู่บ้านชายทะเลเล็ก ๆ ในจังหวัดฮอกไกโด เพื่อจะทำให้อาการของเธอดีขึ้นจากอากาศบริสุทธิ์ ก่อนจะถึงเธอได้เห็นไซโลประหลาดที่ถูกทิ้งร้างและคฤหาสน์ร้างทรงยุโรปที่ตั้งอยู่ริมน้ำโดยบังเอิญ ต่อมาในคืนที่เธอต้องไปร่วมงานเลี้ยงโดยไม่เต็มใจ เธอหนีออกไปขึ้นเรือและพายออกไปยังทะเลสาบก่อนจะมุ่งหน้าไปยังคฤหาสน์ ที่นั่นเองเธอได้พบกับ “มาร์นี่” เด็กผู้หญิงผมสีทองที่เคยปรากฎในความฝันของเธอ ทั้งสองคนสนิทกันอย่างรวดเร็ว แม้อันนาจะไม่รู้ว่า มาร์นี่มีตัวตนจริงหรือไม่ เป็นคนหรือเป็นวิญญาณ?

When Marnie Was There

When Marnie Was There (2014)

When Marnie Was There เป็นวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกที่ถูกแต่งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1967 โดยนักเขียนและนักวาดภาพประกอบ Joan G. Robinson เคยถูกพิจารณาว่าเป็นหนึ่งที่ควรได้รับรางวัลอันทรงเกียรติของอังกฤษที่มอบให้กับวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน และเป็น 1 ในหนังสือ 50 เล่มที่ฮายาโอะแนะนำให้อ่าน ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย ฮิโรมาเสะ โยเนบายาชิ จากเรื่อง The Borrower Arrietty (2010) เขียนบทโดย เคโกะ นิวะ หนังเลือกใช้เพลงธีม “Fine on the Outside” ของนักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน Priscilla Ahn ที่แต่งเพลงนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2005 และไม่เคยถูกนำไปใส่ไว้ในอัลบั้มไหนเลย จนกระทั่งข่าวการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้รู้ถึงหูเธอที่ชอบสตูดิโอและเคยได้อ่าน When Marnie Was There จึงรีบติดต่อไปยังโปรดิวเซอร์ของหนังเพื่อขอให้ใช้เพลงนี้ของเธอประกอบ

ในเดือนสิงหาคม ปี 2014 หนึ่งเดือนให้หลัง When Marnie Was There ออกฉายในโรงภาพยนตร์ โทชิโอะ ซูซูกิ ผู้บริหารและผู้อำนวยการสร้างของสตูดิโอ Ghibli ประกาศหยุดการสร้างภาพยนตร์ชั่วคราวและจะมีการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ ซึ่งมีผู้วิเคราะห์กันว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากการประกาศเกษียณอายุจากการทำหนังของฮายาโอะ หลังจากหนังเรื่อง Wind Rises (2014) ที่เป็นการทิ้งทวน และหนังสองเรื่องหลังของสตูดิโออย่าง The Tale of Princess Kaguya (2013) และ When Marnie Was There (2014) ทำรายได้ต่ำกว่าที่คาดหมายเอาไว้มากและเสี่ยงขาดทุนด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 โกโร่ มิยาซากิ ผู้กำกับจาก From Up on Poppy Hill (2011) ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาและคุณพ่ออยู่ระหว่างพัฒนาหนังจากนิยายที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า How do you live? ผลงนเขียนของ เคนซาบูโร โยชิโน นักเขียนชื่อดังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเขาเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1937 และมีแผนจะได้ชมกันอย่างเร็วในปี 2021 นี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook