[รีวิว]ดิว..ไปด้วยกันนะ-รีเมคเกาหลีด้วยบาดแผลก้าวข้ามวัยสไตล์มะเดี่ยว

[รีวิว]ดิว..ไปด้วยกันนะ-รีเมคเกาหลีด้วยบาดแผลก้าวข้ามวัยสไตล์มะเดี่ยว

[รีวิว]ดิว..ไปด้วยกันนะ-รีเมคเกาหลีด้วยบาดแผลก้าวข้ามวัยสไตล์มะเดี่ยว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ณ.ปางน้อยในปี 1997 ดิว (โอม-ภวัต) เด็กใหม่ที่เพิ่งย้ายโรงเรียนมาจากเชียงใหม่ได้พบและก่อความสัมพันธ์กับ ภพ (นนท์-ศดานนท์)เด็กหนุ่มลูกครึ่งจีนในพื้นที่ แต่ด้วยยุคสมัยที่ยังต่อต้านความรักระหว่างเพศเดียวกันก็ทำให้ทั้งคู่ต้องพรากจากกัน จนกระทั่ง 23 ปีต่อมา ภพ (เวียร์ ศุกลวัฒน์) ได้หวนกลับมาเป็นครูยังปางน้อยอีกครั้งโดยมี อร (ญารินดา บุนนาค)ภรรยาของเขาติดตามมาด้วย แต่ในใจเขาก็ยังคงอยากตามหาดิวเพื่อสะสางเรื่องราวที่ติดค้างกันในอดีต ส่วนที่โรงเรียน ภพ ก็ได้มีโอกาสพบกับ หลิว (ปั๋น-ดริสา) เด็กสาวหัวดีแต่ดื้อที่ครูใหญ่ฝากให้ดูแล แต่แล้วความใกล้ชิดระหว่าง ภพ กับ หลิว ก็ทำให้เกิดข้อครหาขึ้น

 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับว่า เนื้อหาต่อไปนี้พยายามจะเขียนไม่ให้สปอยล์ที่สุด แต่สำหรับใครที่เคยผ่านตาผลงานต้นฉบับของเกาหลีอย่าง Bungee Jumping of Their Own (번지점프를 하다) หนังโรแมนติกปี 2001 ที่ขึ้นชื่อเรื่องสร้างความเหวอแตกระดับหลายริกเตอร์กับบทสรุปความสัมพันธ์ของคู่รักที่ถูกความตายพลัดพรากในครึ่งเรื่องแรกที่สร้างทั้งความซาบซึ้งและชวนฉงนกับฉากจบอันเป็นปริศนาที่ให้คนดูคิดเอาเองก็ย่อมพอจะเดาปลายทางที่ ดิว..ไปด้วยกันนะ จะเดินทางไปถึงได้ไม่ยากนัก แต่โดยส่วนตัวแล้ว แม้จะถูกระบุยี่ห้อว่าเป็นหนังรีเมค แต่กับ Bungee Jumping of Their Own ก็ถือเป็นโจทย์ยากระดับคณิตศาสตร์โอลิมปิกเลยทีเดียว ด้วยว่าหนังผสมผสานทั้งความแฟนตาซี ความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ไปจนถึงความเลื่อนไหลทางเพศ ที่หนังต้นฉบับถ่ายทอดไว้ได้น่าประทับใจและชวนคิดจนถึงทุกวันนี้ แต่ในเมื่อมันมาอยู่ในมือของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีรกุล ที่เล่นยกเครื่องปั้นหน้าหนังและตัดสลับเหตุการณ์ตลอดจนเปลี่ยนรายละเอียดจนแทบเหมือนหนังคนละม้วนแล้วผสมผสานเรื่องราวบาดแผลในช่วงเวลาแห่งการเติบโตที่ตนถนัดลงไปก็ย่อมไม่อาจคาดหวังอะไรที่น้อยไปกว่าผลงานที่ท้าทายความคิดคนดูเหมือนผลงานที่ผ่านมา  

โปสเตอร์ Bungee Jumping of Their Own (2001)

ความกล้าหาญแรกที่มะเดี่ยวเลือกตัดผ่ายกเครื่องบทหนังโดยหยิบยกจุดพีคที่คอหนังต้นฉบับซูฮกมาไว้ในครึ่งเรื่องแรกแทน ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องแลกกับการทิ้งเซอร์ไพร์สที่ Bungee Jumping of Their Own เคยมอบให้คนดู โดยหนังเปลี่ยนรายละเอียดความรักคู่พระนางต้นฉบับในวัยเรียนมหาวิทยาลัย กลายมาเป็น ดิว กับ ภพ วัยรุ่น ม.ปลายในโรงเรียนชนบทยุค 90 ที่เพลงอัลเธอเนทีฟอย่าง ก่อน ของโมเดิร์นด็อก หรือ ดีเกินไป ของ สไมล์ บัฟฟาโล  ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนทางเลือกใหม่ ๆ ทั้งที่สังคมในสมัยนั้นยังใช้คำว่า เบี่ยงเบนทางเพศ และใช้กระบวนการทางทหารและแพทย์มาใช้บำบัดพฤติกรรมรักร่วมเพศอยู่เลย ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าการเซ็ตสถานการณ์ภายใต้การควบคุมของทหารเอย การจำกัดกรอบเรื่องเพศเอย เป็นกลไกของบทหนังที่พยายามบีบบังคับให้ตัวละครไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ และแม้เราจะไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าการจำกัดกรอบโลกทัศน์เรื่องเพศในหนังเป็นความจริงสักกี่มากน้อย แต่ในทางกลับกันมันก็ให้ภาพสังคมไทยที่ไร้ประชาธิปไตย หมดสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตตัวเองโดยเฉพาะกับเพศทางเลือกอย่าง LGBTQ และกล่าวอย่างไม่เกินจริงบทหนังของมะเดี่ยวยังละเอียดละออด้วยรายละเอียดด้านชาติพันธุ์ ความเชื่อ ที่ถูกส่งต่อผ่านระบบครอบครัวของทั้ง ดิว และ ภพ ที่ช่วยทำให้เรื่องราวมีมิติมากกว่าแค่เรื่อง เด็กผู้ชายสองคน มาจิ้นกันแบบผิวเผินและที่สำคัญประเด็นบาดแผลระหว่างทางเติบโตของวัยรุ่นที่มะเดี่ยวเคยปูไว้ตั้งแต่ รักแห่งสยาม เกรียนฟิคชัน หรือตอนแรกของ โฮม ความรัก ความสุข ความทรงจำ ก็ถูกนำมาเน้นย้ำผ่านเรื่องราวของดิวและภพจนสามารถเชื่อมต่อเป็นจักรวาลหนังวัยรุ่นของมะเดี่ยวได้อย่างไม่ขัดเขินเลยทีเดียว

ภพ (นนท์-ศดานนท์)เด็กหนุ่มลูกครึ่งจีนในพื้นที่

ดิว (โอม-ภวัต) เด็กใหม่ที่เพิ่งย้ายโรงเรียนมาจากเชียงใหม่ได้พบและก่อความสัมพันธ์กับ ภพ (นนท์-ศดานนท์)เด็กหนุ่มลูกครึ่งจีนในพื้นที่

แต่แน่นอนล่ะว่าพอผ่าตัดและเปลี่ยนองค์ประกอบบทหนังใหม่ความท้าทายของมะเดี่ยวคือ ครึ่งเรื่องหลังที่ต้องคิดว่าทำยังไงให้ยังคงเรื่องราวความสัมพันธ์ต้องห้ามแบบหนังเกาหลีต้นฉบับไว้ได้ ซึ่งต้องยอมรับนะครับว่าพอย้ายจุดพีคมาไว้ตอนต้นและทำท่าเหมือนจะพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่กลับถูกบังคับให้เดินจุดพลิกผันตามบทหนังต้นฉบับจนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การพูดเรื่อง LGBTQ แผ่วบางและหมดพลังทั้งที่อุตส่าห์ปูไว้ตอนต้นเรื่องเสียน่าสนใจและหนักแน่นจนไม่อาจคาดหวังอะไรที่น้อยไปกว่าความดุเดือดได้ แต่เมื่อถึงครึ่งหลังและหนังจำต้องเดินไปในทางที่ถูกกำหนดเลยกลายเป็นพลังของหนังมันแผ่วตามไปด้วย และแน่นอนอย่างที่บอกไปแล้วว่า ความเหวอแตก มันถูกยกไปกล่าวถึงในครึ่งเรื่องแรกแล้วเลยกลายเป็นว่าครึ่งหลังกับแนวทางที่หนังพยายามเดินไปให้เห็น “การซ้ำรอย” เพื่อนำไปสู่บทสรุปความรักของหัวใจดวงเดิมก็เลยดูไม่น่าเชื่อถือเท่าใดนัก ยังดีที่ได้การแสดงอันหนักแน่นของ เวียร์ ศุกลวัฒน์  ญารินดา บุรราค และ ปั๋น-ดริสา มาโอบอุ้มเรื่องราวภายใต้การกำกับที่ยังคงแม่นยำของมะเดี่ยวก็คงพอจะยกประโยชน์ให้จำเลยได้อยู่บ้าง

เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารส ในบท ภพ เมื่อต้องกลับมาเป็นครูที่ปางน้อย

ปั๋น-ดริสา ในบท หลิว เด็กสาวหัวดี แต่ดื้อที่ ภพ ต้องมาดูแล

เช่นเคยที่หนังของมะเดี่ยวมักจะสร้างนักแสดงวัยรุ่นฝีมือฉกาจไว้ประดับวงการเสมอ สำหรับ ดิว..ไปด้วยกันนะ ก็ได้ นนท์-ศดานนท์ ที่เอาลุคแบดบอยมาทำให้ ภพ กลายเป็นหนุ่มในฝันของสาวๆได้ไม่ยาก แถมบทดราม่าก็ยังแสดงได้ลื่นไหลทีเดียว รวมถึง ปั๋น ดริสา ที่บอกเลยว่างานเดบิวต์เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรที่น้อยไปกว่าบททดสอบโหดหินเลย ทั้งต้องรับบทเด็กมัธยมปลายหัวดื้อที่รู้สึกแปลกแยกจนต้องคบกับผู้ชายถ่อย ๆ แถมเธอยังต้องแบกจุดพลิกผันของเรื่องราวและถ่ายทอดออกมาให้น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งจากผลงานที่เห็นด้วยตาเปล่าแล้วก็ต้องบอกว่าเธอสอบผ่านได้อย่างสวยงามและถือว่ามะเดี่ยว เคี่ยวกรำและเค้นเอาการแสดงที่ดีที่สุด ธรรมชาติที่สุดของเธอออกมาจนคนดูอดหลงรักเธอไม่ได้แน่นอน และไม่เพียงรุ่นเล็กเท่านั้นรุ่นใหญ่อย่าง อาภาศิริ นิติพล ก็ไม่ให้เสียชื่อ แม่แห่งชาติ เพราะเธอสามารถถ่ายทอดบทแม่ของดิวได้ชวนใจสลายมาก ๆ ใครดูซีนสารภาพความในใจกับดิวแล้วไม่ร้องไห้ก็ถือว่าใจแข็งมาก ส่วน เวียร์ ศุกลวัฒน์ ก็สานต่อโอกาสในการพิสูจน์ฝีมือบนจอเงินถัดจากหนังมนิลา โดยเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่ติดค้างในใจของ ภพ ที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีบาดแผลได้อย่างน่าชื่นชม

กล่าวอย่างเป็นกลางที่สุดแล้ว ดิว…ไปด้วยกันนะ ก็จัดเป็นงานหนังไทยคุณภาพในระดับที่น่าสนับสนุนนั่นแหละครับ เพียงแต่การต้องเดินตามร่องรอยของหนังต้นฉบับอาจทำให้หนังไม่สามารถพูดประเด็นหลักอย่างเสรีภาพของ LGBTQ ในไทยได้อย่างหนักแน่นเหมือนที่ปูไว้ตอนแรก แต่เหนืออื่นใดมันคือหนังที่ดูแล้วทำงานกับหัวใจที่สุดเรื่องหนึ่งของปี ตั้งแต่ต้นเรื่องยันหนังจบขึ้นต้นเอนด์เครดิตว่าอุทิศให้แก่ นพดล ขันรัตน์ ผู้ถ่ายทอดช็อตโดรนสวยๆสื่อความหมายอันลึกซึ้งให้หนังแต่ไม่มีโอกาสได้ชมผลงานในวันนี้เนื่องจากเขาเสียชีวิตไปเมื่อหลายเดือนก่อน ดังนั้นช็อตโดรนต่างๆในหนังจึงเป็นเหมือนของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เขาได้มอบให้ผู้กำกับและคนรักของเขาแทนคำขอบคุณที่อยู่ข้างกันตลอดเวลาที่เจ็บป่วย และคงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่ามันเป็นของขวัญที่งดงามที่สุดในโลก…

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook