“ชะตาธิปไตย” มองนักการเมืองในฐานะมนุษย์

“ชะตาธิปไตย” มองนักการเมืองในฐานะมนุษย์

“ชะตาธิปไตย” มองนักการเมืองในฐานะมนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนบอกผมว่ายุคสมัยนี้มันช่างมืดมนเสียเหลือเกิน ผมมักบอกว่ามันยังไม่ถึงกับ “มืดมน” นะครับ โอเค แค่อาจจะสลัวรางนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับมืดมนหรอก เพราะถ้ามืดมนจริงๆ หนังสารคดีอย่าง “ชะตาธิปไตย” คงจะไม่ได้ฉายแน่ๆ การที่หนังเรื่องนี้ได้ลงจอฉายในบ้านเราก็อาจจะเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างที่ดีก็ได้นะครับ

แม้อันที่จริงหนังของ นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล เรื่องนี้ก็เกือบจะไม่ได้ฉายเหมือนกันนะครับ เพราะตัวหนังนั้นเริ่มถ่ายทำราวปี 2554 หลังจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาและเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ตัดต่อจนแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2556 แต่ก็เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปลายปีก่อนที่จะกลายเป็นการยึดอำนาจรัฐประหารในปีต่อมาอย่างที่เราท่านทราบกันดี “ชะตาธิปไตย” ของหมอเดชาก็เลยประสบชะตากรรมเคว้งคว้างไร้ธิปไตยต่อไปอีกหลายปี จนกระทั่งเรามีโอกาสได้เลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมานั่นแหละครับ แม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ประหลาดอย่างไรก็ตาม แต่อย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ก็นำมาซึ่งแสงสว่างบางอย่างให้หมอเดชานำ “ชะตาธิปไตย” มาตัดต่อใหม่และได้ฉาย อย่างนี้แล้วจะบอกว่ามืดมนไปหมดเลยก็คงจะไม่ได้นะครับ

ผมมองว่าโดยเนื้อแท้ “ชะตาธิปไตย” ไม่ใช่หนังการเมืองในแง่ที่หนังพยายามทำความเข้าใจความหลากหลายและความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองสักเท่าไหร่เลยนะครับ อาจจะไม่ใช่เลยด้วยซ้ำ เพราะแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ “ชะตาธิปไตย” เป็นก็คือ การเป็นหนังที่พูดถึงเนื้อแท้ของมนุษย์ เป็นหนังที่พยายามทำความเข้าใจ “คน” (ในที่นี้ ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ เพื่อนนักศึกษาแพทย์ศิริราชรุ่น 92 ร่วมรุ่นกับ นพ. เดชา ผู้กำกับ) ว่า อะไรทำให้คนคนหนึ่ง-แถมยังเป็นหมอเสียด้วย-เดินเข้าสู่สนามการเมือง

ที่ผ่านมาเมื่อเราพูดถึง “นักการเมือง” น้อยครั้งนะครับที่เราจะนึกถึงเรื่องดีๆ ส่วนใหญ่เรามักจะมองว่า พอเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “นักการเมือง” ปุ๊บ เราก็มักจะนึกถึงวาทกรรมประเภท “โกงกิน” บ้าง “ทำเพื่อพวกพ้อง” บ้าง “เข้ามาหาผลประโยชน์” บ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยนะครับ นักการเมืองแบบนั้นก็มีอยู่จริงแหละ แต่ก็ไม่ได้แปลว่านักการเมืองทุกคนเป็นแบบนั้นทั้งหมด ปัญหาใหญ่ที่เรามีต่อนักการเมืองก็คือ เรามองนักการเมืองในรูปแบบเดียวกัน คือเป็นปีศาจ ชั่วร้าย ไม่รักชาติ ฯลฯ โดยที่มองข้ามสองเรื่องใหญ่ๆ ไปก็คือ หนึ่ง ทุกอาชีพชั่วร้าย เป็นปีศาจได้ทั้งนั้น กับสอง นักการเมืองเป็นอาชีพ และที่ประกอบสัมมาชีพเป็นนักการเมืองก็เป็นคน เป็นมนุษย์เหมือนเราๆ ท่านๆ

“ชะตาธิปไตย” มองนักการเมืองด้วยสายตาแบบนั้นแหละครับ หมอเดชามองทั้งสามคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และมากไปกว่านั้นอีก หมอมองมนุษย์ทั้งสามเหล่านั้นในฐานะ “เพื่อน” ของพวกเขา “ชะตาธิปไตย” จึงนำเสนอชีวิตจริงของหมอชลน่าน, หมอภูมินทร์ และหมอบัญญัติ ในแบบที่ลึกซึ้งและ “รัก” ในตัว subject ในแบบที่พวกเขาเป็นจริงๆ

พอผู้กำกับมีสายตาแบบนั้น ในหนัง “ชะตาธิปไตย” เราจึงได้เห็นความเจ็บปวด บาดแผลของหมอทั้งสาม เห็นแรงขับที่ทำให้เขากลายมาเป็นผู้สมัคร สส. ลงหาเสียงรับเลือกตั้ง เห็นความมุ่งมั่น เห็นความท้อแท้ เห็นความเหนื่อยล้า เห็นไฟในดวงตาคุโชน คงไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่าทั้งหมดนั้นคือองค์ประกอบของการเป็นมนุษย์ องค์ประกอบในการดิ้นรนใช้ชีวิตที่ทำงานการเมืองนั่นเอง

แม้จะพยายามแล้วที่จะเป็นกลาง แต่โดยรวมมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้กำกับจะมีน้ำเสียงและทัศนะเอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลยนะครับ อย่างไรเสียหนังก็ต้องมี “น้ำเสียง” อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว (เลี่ยงไม่ได้ต่อให้พยายามเลี่ยง) แต่ก็ต้องชื่นชมในความพยายามเป็นกลางของหมอเดชาครับ ผมดูแล้วยังแอบสงสัยว่า หมอเขาแบ่งเวลาในหนังของทั้งสามคนเท่าๆ กัน ในทุกๆ พาร์ตของหนังด้วยหรือเปล่า ดูมันเท่าเทียมกันดี แต่แอบรู้สึกว่าพอแบ่งเท่าๆ กันแล้วหนังเลยยาวไปนิดหนึ่ง และฟุตเตจบางตอนก็มีแมสเสจซ้ำๆ

แต่โดยรวม “ชะตาธิปไตย” ก็ถือเป็นมิติใหม่ของหนังไทยหรือแม้แต่หนังสารคดีไทยนะครับ มีไม่กี่เรื่องที่จะพูดถึงนักการเมืองด้วยมุมมองแบบนี้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เดียดฉันท์นักการเมืองเกินไปนัก ก็ไปดูกันนะครับ

 

ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง ชะตาธิปไตย 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ “ชะตาธิปไตย” มองนักการเมืองในฐานะมนุษย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook