Joker ยังตลกอยู่ไหม ถ้าข้างในฉันกำลังร้องไห้ (มองลึกถึงสังคมก็อตแธม)

Joker ยังตลกอยู่ไหม ถ้าข้างในฉันกำลังร้องไห้ (มองลึกถึงสังคมก็อตแธม)

Joker ยังตลกอยู่ไหม ถ้าข้างในฉันกำลังร้องไห้ (มองลึกถึงสังคมก็อตแธม)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งที่จัดได้ว่าโดดเด่นที่สุดสำหรับหนังเรื่อง Joker คือการแสดงของวาคีน ฟินิกซ์ ผู้รับทอาเธอร์ เฟล็ก ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า การสวมบทตัวละครนี้อาจจะทำให้เขาไปไกลถึงเวทีออสการ์ในสาขา “นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม” ปีหน้าเลยก็ว่าได้

 

ถ้าสังเกตให้ดีฉากต่างๆกว่า 95% ในหนังเรื่อง Joker ล้วนแล้วแต่มีนักแสดงวาคีน ฟินิกซ์อยู่นบนจอหนังแทบไม่ขาด จนเราอาจจะกล่าวได้ว่า เขาเป็นตัวเดินเรื่องที่สำคัญมากและโอบอุ้มทุกอย่างในหนังเอาไว้ชนิดอยู่หมัด การแสดงของเขาทำให้คนดูได้เห็นแง่มุมต่างๆซึ่งเปิดโอกาสให้คนดูได้ทำความเข้าใจตัวละครนี้ ไม่ใช่ในฐานะ “วายร้าย” แต่ในฐานะ “จำเลยของสังคม”

 

 

บทอาเธอร์ นั้นเป็นบทชายที่มีปัญหาในการควบคุมเสียงหัวเราะของตัวเอง เนื่องจากอาการผิดปกติทางร่างกาย อีกทั้งการเป็นชนชั้นชายขอบของสังคม ทำให้เขาต้องเผชิญกับปัญหาร้อยแปดและรุมเร้าเสียจนชีวิตของอาเธอร์นั้น ไร้สิ้นซึ่งแสงสว่างในการออกไปจากวังวนแห่งความทุกข์

 

สภาพสังคมที่ล้มเหลวของเมืองก็อตแธม ในช่วงปี 1970-1980 ในหนังเรื่องนี้ไม่ต่างจากสภาพเมืองนิวยอร์กในช่วงเวลาเดียวกัน (หรือกระทั่งสภาพสังคมของประเทศบางประเทศที่ไม่ไกลตัวเรานัก) ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมกลายเป็นวิกฤตที่ทำให้พลเมือง ต่างดิ้นรนต่อสู้เอาตัวรอดเพื่อปากท้องของตัวเอง หนังอย่าง Joker ถ่ายทอดฉากหลังที่ทำให้เรารู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า เมืองก็อตแธมนั้นมีสภาพตัวเมืองที่สกปรก เต็มไปด้วยผู้คนที่ยากจนข้นแค้นและไม่มีหนทางในการลืมตาอ้าปาก ในขณะที่บรรดาอภิสิทธิ์ชนหรือบรรดาชนชั้นบนที่มีจำนวนเพียงแค่หยิบมือ กลับเสวยสุขอยู่บนหอคอยงาช้าและไม่เคยเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่ของชนชั้นล่างและคนชายขอบ กระทั่งการคิดหาวิธีแก้ปัญหาทางสังคมของพวกชนชั้นปกครอง ก็เป็นวิธีการคิดแบบ “โลกสวย” แต่ไม่ได้เข้าใจปัญหาของคนระดับล่างที่แท้จริง

 

 

ท่ามกลางวิกฤติชีวิตของตัวละครอาเธอร์ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่เราได้เห็นเขาถูกกลุ่มวัยรุ่นทำร้ายร่างกาย ชีวิตตัวตลกที่เขาไม่ได้รู้สึก “ตลก” มาจากข้างใน ทำให้สถานการณ์ในชีวิตของเขาเริ่มถูกบีบคั้นมากขึ้น อย่างไรก็ตามชีวิตของเขาก็ยังเหลือที่พึ่งพิงทางใจ นั่นคือแม่ของเขาเพนนี เฟล็ก (ฟรานเชส คอนรอย) หญิงชราที่เลี้ยงดูฟูมฟักอาเธอร์มาตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งอาเธอร์ก็พยายามในทุกวิถีทางเพียงเพื่ออยากจะให้แม่ของเขามีความสุขที่สุด แม้ว่าโลกภายนอกจะโหดร้ายแค่ไหนก็ตาม

 

 

เหตุการณ์กลางเรื่องได้บีบคั้นให้อาเธอร์ตัดสินใจในการก่ออาชญากรรมบางอย่าง เพียงเพราะ “ฟางเส้นสุดท้าย” ได้ขาดลง การจับอาวุธปืนแล้วลั่นไกใส่คนที่ทำร้ายเขา ทำให้กลายเป็นการปลุกกระแสของมวลชนที่ถูกรุกรานมาอย่างยาวนาน แม้ว่าคนอย่างอาเธอร์จะไม่ได้คิดอะไรเกินเลยไปกว่าการป้องกันตัวเอง แต่ท้ายที่สุดการกระทำดังกล่าวได้สังคมในเมืองก็อตแธมเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

 

 

มิหนำซ้ำความฝันในชีวิตของอาเธอร์อีกอย่างที่เขาอยากจะทำให้ได้ ก็คือการได้รับโอกาสไปเป็น นักเดี่ยวไมโครโฟนบนเวที แม้เขาจะพยายามเรียนรู้หนทางในการก้าวสู่แสงไฟและเสียงหัวเราะ แต่ด้วยความผิดปกติของตัวอาเธอร์เอง ที่กลับมองความตลกในชีวิตแตกต่างจากจริตของคนทั่วไปในเมือง ทำให้เรื่องเขามองว่าตลก กลายเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่ตลกด้วย มิหนำซ้ำความพยายามในการขึ้นเวทีครั้งแรกกลับโดนรุมสับไม่มีชิ้นดีจากพิธีกรอย่างเมอร์เรย์ แฟลงคลินท์ (โรเบิร์ต เดอนีโร) ผู้ดำเนินรายการคนโปรดของอาเธอร์ ที่นำภาพบันทึกการแสดงบนเวทีของอาเธอร์มาออกอากาศทางโทรทัศน์และทำให้คนดูทั่วเมืองก็อตแธมรู้สึกตลก (แกมสมเพชเวทนาเขา) ยิ่งทำให้อาเธอร์รู้สึกเหมือนถูกพรากความรู้สึกอันดีที่เขาเคยชื่นชมและบูชาชายคนนี้มาโดยตลอด

 

จากคนชายขอบสู่ตัวตลกผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวเพียงเพราะเขาเชื่อเสมอว่า การเป็นตัวตลกนั้นเทียบเท่ากับการสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้อื่น เมื่อผู้อื่นหัวเราะด้วยความสุขแล้ว โลกของเราก็จะน่าอยู่ขึ้น แต่เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของอาเธอร์ที่ทำให้เขาไม่ได้มีความสุขจากภายใน สิ่งที่เขาแสดงออกมาจึงเป็นแค่เพียง “ความพยายามที่จะมีความสุข” แต่กลับแฝงไปด้วยความทุกข์ตรมในจิตใจ จนกระทั่งสภาพสังคมได้บีบบังคับให้เขาก้าวกระโดดไปเป็นอาชญากร ผู้ปฏิวัติสังคม และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการลุกขึ้นต่อต้านระบบแห่งชนชั้นในภายหลัง เพียงเพราะว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทำมาเนิ่นนานนั่นเอง

 

 

ถึง Joker จะหยิบเอาชื่อตัวละครวายร้ายจากดีซีคอมิกซ์มาเล่าใหม่ แต่การขึ้นจอครั้งนี้แตกต่างกว่าโจ๊กเกอร์ในทุกครั้งที่เราเคยได้ชม เมื่อทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ถูกทำให้คนดูได้ “เข้าใจ” การกำเนิดของวายร้ายที่น่าเห็นใจมากกว่าครั้งไหนๆ ตัวละครอย่างอาเธอร์ได้กลายเป็นตัวแทนของคนที่ไร้ที่ยืนในสังคมและผลักให้เขาเดินไปยังสุดขอบเหว สิ่งที่เขาทำได้คือการเลือกว่าจะกระโดดลงเหวไป หรือลุกขึ้นมาสู้เพื่อตัวเอง ท้ายที่สุดเขาก็เลือกที่จะสู้ แต่แค่สู้ในแบบที่ชนชั้นปกครองอย่างโทมัส เวย์น (แบรต คัลแลน) หรือ บรูซ เวย์น อาจจะไม่มีวันเข้าใจเลยด้วยซ้ำไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook