"นาคา นาคี" ไม่มีวัน...ความรักกันไม่ได้!!!

"นาคา นาคี" ไม่มีวัน...ความรักกันไม่ได้!!!

"นาคา นาคี" ไม่มีวัน...ความรักกันไม่ได้!!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีค่ะคุณกิตติ เทยเห็นสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นแบบนี้แล้วก็อดอนาถใจไม่ได้ ฝนฟ้าก็มาหนักแต่ก็หายวับไว จะไหว้วานให้ฝนปรอยดับฝุ่นซะหน่อยก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลยแม่ ประเทศนี้นี่นะคะ โน่นก็ติด นี่ก็ขัด “อยู่กันดีดีไม่ได้ใช่มั้ย หะ!!!!” ความโกรธขึ้นหัวหู ประหนึ่งจะกลายร่างเป็นพญานาค แล้วพ่นไฟใส่ทุกคนให้รู้แล้วรู้รอด เพราะเป็นนาคนี่นะคะ นอกจากจะสำแดงฤทธิ์ได้ แถมยังจะได้บันดาลฝนโปรยให้ได้ชุ่มฉ่ำ เผื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง

เพราะงั้นสัปดาห์นี้ มาค่ะ เรามาว่ากันด้วยโลกของ “นาค” ในโลกละครไทย 

“นาค” เป็นสัตว์ในหมวดหมู่นิยายปรัมปราของไทยเราเอง มีอิทธิพล ตามคติศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน (สันสกฤต: नाग Nāga) คือเป็นงูใหญ่มีหงอน อาศัยในเมืองบาดาล แปลงกายเป็นมนุษย์ได้ มักแสดงในสามร่างคือ มนุษย์มีงูที่ศีรษะ งู หรือครึ่งงูครึ่งมนุษย์ ส่วนนาคเพศหญิงเรียกว่านาคี นาคผู้เป็นหัวหน้าเรียกว่าพญานาค ถือเป็นสัตว์เทพเจ้าที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องปรัมปราในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะในไทยเราเอง “นาค” ก็ปรากฎอยู่ในวัฒนธรรมไทย และเป็นมากกว่าสัตว์ในหมวดหมู่นิยายปรัมปรา หากแต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของหลายความเชื่อ หลายภูมิภาค และปรากฏชัดเจนในภาคอีสานและวัดวาต่างๆ

iStockนาค

ชาวฮินดูถือว่า นาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่างๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ และเมื่อวัฒนธรรมถูกโอนถ่ายมายังบ้านเรา นาคจึงเป็นที่ศักการะบูชาและวนเวียนอยู่กับ “แม่น้ำ” เป็นสำคัญ การกราบไหว้บูชานาค จึงเป็นเรื่องการขอฝนและการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ที่แห้งแล้งอย่างภาคอีสาน นาคเลยยิ่งกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับคนไทยมากขึ้นไปอีก

ในส่วนของละครไทย เท่าที่เทยจะไปเฟ้นหามาได้ ละครไทยที่เกี่ยวข้องกับนาคนั้น ก็ปรากฎอยู่ไม่ต่ำกว่า 6 เรื่องด้วยกัน “มณีนาคา-แก้วกุมภัณฑ์-บ่วงนาคราช-มณีสวาท-กาษา นาคา-นาคี” นี่ยังไม่รวม ละครจักรๆ วงศ์ๆ อีกมากมายที่มีตัวละครนาคอยู่แล้วอีกค่ะ ซึ่งเนื้อหาก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องภพชาติ การปกปิดตัวตนความเป็นนาค การรักข้ามชนชั้น และอุปสรรคของการเป็นนาคต่อสังคมองค์รวมทั่วไป

มณีนาคา

ซึ่งบทประพันธ์ต่างๆ ได้ใช้เรื่องราวเดียวกับสมัยพุทธกาล ที่เราอาจจะเคยได้ยินว่า มีพญานาคตนหนึ่งนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วได้เกิดศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ แต่อยู่มาวันหนึ่งเข้านอนในตอนกลางวัน หลังจากหลับแล้วมนต์ได้เสื่อมกลายเป็นงูใหญ่ จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า จึงรับบท ฉันจะโทรฟ้องพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบ ให้พระภิกษุนาคนั้นสึกออกไป เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า นาค ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน ภายหลังมาก่อนที่จะอุปสมบท ผู้ขอบวชจะต้องถาม อันตรายิกธรรม รวม 8 ข้อเสียก่อน ในจำนวน 8 ข้อนั้น มีข้อหนึ่งถามว่า "ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า" จึงเรียกการบวชนี้ว่า "บวชนาค"

เป็นการยืนยันว่าในทางความเชื่อเดิมนั้นศาสนาพุทธมองว่า “นาค” เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต่อให้มีอิทธิฤทธิ์แปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ แต่พื้นเพเดิมก็ยังคงเป็นสัตว์ ไม่สามารถเข้าหานิพพานของพระพุทธองค์ได้ และหากมีความมุมานะที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวภักดิ์ ก็ต้องบำเพ็ญเพียรมากกว่าคนอื่นเสียก่อน ซึ่งในเนื้อบทประพันธ์ที่เกี่ยวกับนาค ก็มักจะนำเรื่องราวของ “ชนชั้น” มาเป็นสัญลักษณ์ในเรื่องของ “ความรัก” จึงจะปรากฎว่าในละครไทยแทบทุกเรื่อง “นาค” ไม่สามารถรักกับมนุษย์ได้ เพราะอยู่คนละชนชั้นนั่นเอง

ก็อาจจะมีบ้างที่สลับขั้ว มนุษย์ก็รักกับนาคไม่ได้ เพราะเป็นความหยิ่งทะนงตนในเผ่าพันธ์ุของตัวเอง จึงมีบางเรื่องที่พระเอกไม่สามารถรักกับนางเอกที่เป็นนาคได้ เพราะนางฝั่งเมืองบาดาล ไม่ยินยอมด้วยกฎเกณฑ์ของเมืองศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่ตัวนางเอกที่เป็นลูกสาวของพญานาคราช จำเป็นต้องสละยศถาบรรดาศักดิ์เสียก่อน หรือเสียสละอะไรบางอย่างก่อน เป็นชนชั้นที่จะเสมอกันเสียก่อนถึงจะรักกันได้

นาค ในภาพยนตร์ นาคี 2

ซึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจของสิ่งนี้ก็คือ “เพศของนาค” ทำให้เส้นเรื่องการถืออำนาจนั้นแตกต่าง อย่างที่เทยได้กล่าวไปในตอนต้นว่า นาคที่เป็นผู้ชาย มักจะถูกเรียกได้ว่าเป็น “พญานาค” ส่วนผู้หญิงจะเป็น “นาค” เฉยๆ เมืองบาดาลในแทบทุกเรื่อง จะเป็นการปกครองโดยนาคเพศชาย และดูเหมือนจะมีอิทธิฤทธิ์สูงกว่านาคผู้หญิง และสามารถชี้เป็นชี้ตายได้มากกว่า ในขณะที่นาคผู้หญิงนั้นจะต้องก้มหน้ารับชะตากรรมแห่งความเป็นเดรัจฉาน รักเขาไม่ได้ ไม่มีวันที่ความรักนั้นจะเป็นจริง เกิดมาเป็นนาคแล้วยังเป็นผู้หญิงที่มันเวรกรรมซ้อนกรรมชัดๆ เลยนะคะแม่

แน่นอนว่าในโลกเฟมินิสต์ 2019 นี่ก็มีความเบ้ปากใส่ไปตามๆ กัน

แต่ในส่วนของละครไทยนั้น บทประพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับนาค มักจะได้รับการหยิบมาทำอยู่บ่อย เนื่องจากมีส่วนผสมอยู่สองอย่างที่ทำให้เรื่องตื่นตระการตา คือเสื้อผ้าหน้าผมที่อย่างไรก็ต้องมีการใช้ชุดไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง จะประยุกต์บ้างหรือไทยเดิมบ้างก็แล้วแต่ ก็จะเพิ่มความงดงามให้กับเรื่องได้ และบวกกับเอฟเฟกต์ให้ตระการตา เพราะนาคแทบทุกเรื่องจะต้องมีพลังวิเศษ แปลงกายได้ เสกสิ่งต่างๆ ได้เช่นกัน รวมถึงหากเส้นเรื่องทำได้สมจริง และกลมกลืนไปกับพื้นเพเดิมของวัฒนธรรมท้องถิ่น ละครก็จะได้ฐานแฟนเพิ่มขึ้นไปด้วย

ละครเรื่อง นาคี ที่นำแสดงโดย แต้ว ณฐพร และ เคน ภููภูมิ

ดังจะเห็นได้จากละครที่เทยไม่พูดถึงไม่ได้เลยในหมวดนาค อย่าง “นาคี” ที่โดยเรตติ้งถล่มทลาย ด้วยบทโทรทัศน์ที่มีคำพูดท้องถิ่นสมจริง และใช้วิธีขึ้นซับไตเติ้ลเอา รวมถึงงาน CG ตัวนาคที่สมจริง เนียนกริบ ประหนึ่งงูบาซิลิกซ์จากฮอกวอตส์ก็ไม่ปาน แถมเนื้อเรื่องก็ยังพูดถึงความทันสมัย ความเป้นคนแปลกประหลาดในหมู่บ้าน ความไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในเรื่องความต่างของชนชั้นและความรัก นำไปสู่โศกนาฏกรรมความรักในตอนท้าย 

นาคีกลายเป็นละครเรื่องแรกของไทยที่สามารถต่อยอดตัวเองกลายเป็น “The Movies” ฉายหนังใหญ่ได้ด้วยอย่าง “นาคี 2” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฎในละครไทยมาก่อน และสิ่งที่ละครเรื่องนี้ได้สร้างปรากฎการณ์ขึ้นก็คือ การทำให้ละครกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันอีกด้วย ตัวนักแสดง ไม่เพียงแต่ต้องแสดงอยู่ในจอ หากแต่จำเป็นต้องนำตัวเองลงไปทำการสักการะและเป็นตัวแทนของคนดูละคร เพื่อบูชาพญานาค หรือเจ้าแม่นาคี ด้วย โดยทางผู้จัดและทางช่องได้เรตติ้งโกยกระจัดกระจาย และในส่วนของวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ดูกลมเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้นด้วย 

นาคีจึงนับเป็นละครที่เกี่ยวกับนาคที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในหน้าละครไทยก็ว่าได้ 

คู่ขวัญ ณเดชน์ - ญาญ่า กับบทบาทสำคัญในหนังเรื่อง นาคี 2

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็อาจจะมีให้เห็นในเรื่องเครื่องรางของขลังที่เกี่ยวข้องกับพยานาค โดยเฉพาะเรื่องของ “บ่วงนาคราช” ซึ่งยืนพื้นมาจากนิทานพื้นบ้าน “พระสุธนต์-มโนราห์” ว่าการจะจับกินรีหรือนางมโนราห์ได้นั้น จำเป็นต้องใช้ไอเท็มพิเศษก็คือ “บ่วงนาคบาศ” ที่มีเพียงผู้มีบุญหรือเชี่ยวชาญพงไพรเท่านั้น ถึงจะค้นพบ “บ่วงนาค” เลยเป็นของวิเศษที่อยู่คู่กับไทยมายาวนานเช่นกัน ละครและบทประพันธ์ก็มีการหยิบยกเรื่องราวนี้ มาแต่งเติม ให้กลายเป็นละครแนวแฟนตาซีบวกความสยองขวัญเข้าไปด้วย เพิ่มความลึกลับและอำนาจมืดของไอเท็มชิ้นนี้ให้ดูลึกลับน่าค้นหาเข้าไปอีก

อีกเรื่องที่เทยอยากจะหยิบยกขึ้นมาก็คือ “กาษา-นาคา” ซึ่งเหล่ากะเทยมักจะหยิบยกมาสวมบทบาท ใส่เขี้ยวเล็บตบตีกันเป็นประจำ ด้วยการที่เรื่องนี้เป็นส่วนผสมที่แปลกใหม่ โดยการนำตำนานดั้งเดิมที่ว่านาคนั้น มีศัตรูคู่ปรับตลอดกาล อย่าง “ครุฑ” ซึ่งเป็นพาหนะของทวยเทพ มีอิทธิฤทธิ์เหนือกว่า มาต่อสู้กับงูที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน คราวนี้บทประพันธ์ก็จับมาแต่งเนื้อแต่งตัวซะใหม่ ให้เนื้อเรื่องอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน ให้ครุฑและนาคกลายเป็นผู้หญิงสองคนที่มีความแค้นกันอยู่แล้วในชาติพันธุ์เดิม และยังเกิดใหม่มาแย่งชิงคนรักกันอีก ดุเด็ดเผ็ชร้อนขวัญใจกะเทยเจ้าค่ะ

ละครเรื่อง กาษา - นาคา

แต่หากคุ้ยลงไปที่ความน่าฉงนสงสัยในเรื่องโลกบาดาลนี้ แม้ว่าเรื่องของนาคจะเป็นเรื่องของชนชั้น การกดทับการมีอยู่ ลามไปจนถึงเครื่องรางของขลัง ยันการตบตีแย่งชิงกันของครุฑและนาคก็ตาม เรื่องของนาค มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่อง “ความเป็นผู้หญิง” ตัวละครนาคที่ปรากฎมักจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็น “นาคี” มากกว่า “พญานาค” เส้นเรื่องมักจะพูดผ่านตัวละครเอกหญิงที่ลักษณะสดใสงดงาม มีกริยางดงามอ่อนช้อย กุลสตรีสมสมัย แต่มักจะมีความจริงที่เก็บซ่อนอยู่ ความน่ากลัวของความเป็น “นังงูพิษใหญ่” บ้างก็เป็นการพยายามปกปิดตัวตน บ้างก็เป็นการกุมความลับบางอย่างหรือของขลังบางอย่างไว้ และท้ายที่สุด ก็จะต้องพบรักกับมนุษย์ผู้ชายที่มีโปรไฟล์ดี มักเป็นหนุ่มชาวกรุงผู้ไม่เชื่อเรื่องงมงาย แต่ก็จะตกกับดักเรื่องที่ว่าความจริงนั้นมีมากกว่าสายตาที่คุณมองเห็น และจบลงที่โศกนาฏกรรมที่ว่า หากนางเอกไม่สามารถปกปิดความโกรธเกรี้ยว อารมณ์รุนแรงหรือเป็นพิษไว้ได้ เธอก็ย่อมจะต้องสูญเสียตัวตน กลายเป็นนาคไปตลอด รวมถึงเสียคนรักไปในที่สุด

นับเป็นการสะท้อนค่านิยมที่สังคมไทยมองผู้หญิงไว้เป็นประชากรชั้นรองเหมือนกันนะคะเนี่ยคุณกิตติ

อย่างไรก็ดี ในสังคมสมัยใหม่ ก็เป็นส่วมผสมทางวัฒนธรรมใหม่และเก่าที่ดำเนินไปด้วยกัน คนรุ่นใหม่มองละครเหล่านี้ ก็มักจะมองในแว่นของความแฟนตาซี นาคา หรือ นาคี นี่ก็ไม่ต่างอะไรจาก “สัตว์วิเศษและถิ่นที่อยู่” ในจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ขนาดล่าสุด Disney Studio ก็ยังประกาศอนิเมชั่นเจ้าหญิงเรื่องใหม่อย่าง Raya The Last Dragon ที่ยืนพื้นมาจากตำนาน Naga หรือนาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ด้วย ซึ่งในขณะที่แว่นของคนรุ่นใหม่ดำเนินไป คนรุ่นเก่าเอง ก็ยังคงกราบไหว้และมีวัฒนธรรมศรัทธาเจ้าแม่นาคี หรือพญานาคอย่างเหนียวแน่นในภูมิภาคท้องถิ่น วัดวาอาราม ไปยันรางทรงพญานาคก็ยังมีให้เห็นอยู่ประปราย หรืออาจรวมไปถึงประเพณีที่จัดขึ้นมาในเชิงท่องเที่ยว แต่ทว่ามีเรื่องของความเชื่อบูชาพญานาคอยู่เป็นเบื้องหลัง

ละครสมัยใหม่หากจะหยิบยกเรื่องนาคขึ้นมาทำ ก็คงต้องมีการหาจุดกึ่งกลางระหว่างแว่นคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ให้ลงตัวพอดิบพอดี ยังไม่รวมการหาจุดยืนประเด็นทางเพศที่ดูเหมือนเรื่องราวของนาค นี่ก็เป็นการเหยียดชาติพันธุ์อยู่พอควร

ก็เอาน่า… เอกลักษณ์ไทย ยังไงมันก็ต้องปรับได้ซักวันนึงนั่นแหละเนอะ ละครและสื่อก็ช่วยๆ กันปรับไปค่ะ

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 35 ภาพ

อัลบั้มภาพ 35 ภาพ ของ "นาคา นาคี" ไม่มีวัน...ความรักกันไม่ได้!!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook