ศราวณี ลูกสะใภ้สายการเมืองของแม่อังฯ นางเอกคู่กรรมที่ถูกลืม

ศราวณี ลูกสะใภ้สายการเมืองของแม่อังฯ นางเอกคู่กรรมที่ถูกลืม

ศราวณี ลูกสะใภ้สายการเมืองของแม่อังฯ นางเอกคู่กรรมที่ถูกลืม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้สถานการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงค่อนข้างคุกรุ่น การเรียกร้องเสรีภาพในแถบเอเชียนี้มันซับซ้อนเหลือเกินค่ะคุณกิตติขา พอเทยได้ดูข่าวเหตุการณ์ เห็นผู้คนวิ่งพล่านผ่านสงครามกลางเมือง ความกะเทยก็มองมันเป็นหนังเป็นละครไปหมด พลางมานั่งคิดว่าเอ๊ ในไทยนี่ มีเหตุการณ์เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยเหตุการณ์ที่ไหนปังๆ ฟาดๆ บ้าง ก็เห็นทีจะหนีไม่พ้น 14 ตุลา 2516 ที่ทุกคนคงจะคุ้นหูคุ้นตากันดี และละครที่พูดถึงเหตุการณ์นี้เท่าที่เทยจำได้ก็คือ “คู่กรรม 2” แต่กลายเป็นว่าพอไปถามๆ ใครเข้า เขาหน้าตายใส่เทยกันหมด เหมือนว่าเรื่องราวของคู่กรรมภาคต่อ มันละลายเลือนหายไปในหน้าสื่อเฉยเลย ถึงขั้นว่าแบบ เหรอ คู่กรรมมีภาคสองด้วยเหรอแก

ในเมื่อไม่มีใครขุด ได้ค่ะ เทยขุดเอง

คู่กรรม หรือ The Sunset at Chaophraya (เจ้าพระยาอัสดง) เป็นบทประพันธ์อันลือเฟื่องเลื่องชื่อของ “ทมยันตี” ซึ่งฉบับนวนิยายมีรวมทั้งสิ้น 2 เล่มสองภาค คือ คู่กรรม และ คู่กรรม 2 เริ่มแรกได้ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารศรีสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2508 และรวมเล่มเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 หลังจากนั้น นางก็ตีพิมพ์มาหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน และด้วยความป็อปความปัง ครองใจนักอ่านชาวไทยมาเนิ่นนาน คู่กรรม ถูกผลิตเป็นภาพยนตร์มาแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง และเป็นละครโทรทัศน์มาแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้งเลยทีเดียว

แน่นอนค่ะ เนื้อเรื่องเล่าแล้วเล่าอีกก็ซ้ำจนช้ำ เกี่ยวกับหญิงสาวที่ชื่อ “อังศุมาลิน” ที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้พบรักกับ “โกโบริ” นายทหารหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาในไทยช่วงนั้น จนเกิดเป็นเรื่องราวความรักระหว่างกันท่ามกลางความขัดแย้ง จนนำไปสู่โศกนาฎกรรมความรักแห่งคลองบางกอกน้อย กับวลีอมตะสุดคลาสสิค “ผมจะไปรอคุณที่ทางช้างเผือก” แล้วก็ บึ้ม!!! ...แอ่ก ลาก่อน 

เอกลักษณ์ที่ยึดครองใจคนอ่านนิยายและคนเสพย์หนังละครมาได้หลายยุคหลายสมัย คือเรื่องราวที่พยายามจะบอกว่า “ความรัก” อยู่เหนือ “ความขัดแย้งและสงคราม” เสมอ แม้ว่าความเกลียดชังจะทวีรุนแรงเท่าไหร่ หากเมื่อเราได้รักใครซักคนแล้วไซร้ พลังอำนาจของมันก็จะทลายกำแพงความเกลียดนั้นลงอย่างง่ายดายสิ้น แถมตัวละครเอกอย่าง “อังศุมาลิน” นั้น ก็เป็นผู้หญิงที่อยู่ในขนบความไทย เป็นลูกพระน้ำพระยาเก่า มีการศึกษาดี เล่นดนตรีไทย แถมยังมีมุมดื้อดึงพองามตามสมัย สามารถพิชิตใจชายได้โดยง่าย

ด้านเรื่องราวปูมหลังที่เป็นสงครามโลกก็ยิ่งฉุดชูให้กองหนังกองละครนั้น สร้างโปรดักชั่นงานเอฟเฟกต์ระเบิดต้องยิ่งใหญ่อลังการทุกครั้งที่หยิบยกมาทำไม่ว่าจะกี่เวอร์ชั่น เพราะมันก็ต้องย้อนหลังไปสมัยยุคสร้างชาติของจอมพล ป. บ้านเมืองมีทหารญี่ปุ่นวิ่งไปมาทั่ว รวมถึงลูกระเบิดตูมตามที่ตกใส่พระนคร ก็ยิ่งขับชูความรักที่เป็นเรื่องสวยงามให้ผลิบานท่ามกลางความโหดร้าย ดูอ่อนละมุนหวาน น้ำตาลกราบแม่ได้ดีทีเดียว

คู่กรรม จึงเป็นภาพจำที่คนไทยแทบจะทุกยุคทุกสมัย จดจำได้คุ้นตาดี แต่ทว่าจริงๆ แล้วเรื่องราวของคู่กรรมนั้น ยังมีอีกภาคที่เข้มข้นอยู่ และดูเหมือนภาคนี้จะถูกจงใจทำให้ลืมไปอย่างแปลกๆด้วยค่ะคุณขา 

คู่กรรม เวอร์ชั่นภาพยนตร์ก็มี

“คู่กรรม 2” เป็นบทประพันธ์ที่เขียนโดยทมยันตีเช่นกัน แต่ทว่าภาคนี้ ถูกผลิตเป็นภาพยนตร์เพียงแค่หนึ่งครั้ง และละครโทรทัศน์อีกหนึ่งครั้งเช่นกัน โดยเรื่องราวกล่าวถึงรุ่นลูกและชีวิตช่วงบั้นปลายของอังศุมาลิน เนื้อเรื่องดำเนินอยู่ในช่วงเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และสิ่งที่น่าสนใจก็คือตัวละครอีกตัวที่เป็นเหมือนภาพสะท้อนอังศุมาลินและเป็นนางเอกของภาคนี้ ก็คือ “ศราวณี หลานสาวของบ้านญาติอีกบ้านในครอบครัวเดียวกันกับอังศุมาลินนั่นเอง ที่เหมือนบ้านนั้นกับบ้านนี้จะไม่ถูกกันเสียเท่าไหร่ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจคือสองตัวละครแห่งคู่กรรมนี้ มีความเหมือนและต่างกันตามยุคสมัยมากเลยทีเดียวค่ะ

หากเราย้อนกลับไปดูตัวละคร “อังศุมาลิน” แล้ว ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นผู้หญิงที่อยู่ในขนบความไทย แต่ด้วยความสมัยนิยมในยุคนั้น ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน บวกกับอังศุมาลินเองก็เป็นหนึ่งในลูกหลานชนชั้นนำ เธอจึงเข้าถึงการศึกษาที่ค่อนข้างก้าวหน้า ทำให้เธอมีความเป็นหญิงนักสู้อยู่มากโข ต้นเรื่องของคู่กรรมภาคแรก เธอเกลียดทหารญี่ปุ่นเข้ากระดูกดำ เพราะมองว่าเป็นชาติที่มารุกรานและนำสงครามมาสู่ประเทศ มิหนำซ้ำ เธอยังแอบคบหากับ “วนัส” สมาชิกเสรีไทยที่เป็นขบวนการใต้ดินในตอนนั้น เพื่อช่วยส่งข่าวให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรอีกด้วย อังศุมาลินเอง จึงสามารถกล่าวได้ว่า เธอก็ไม่ใช่ผู้หญิงอนุรักษ์นิยมจนเชยสะบั้นขนาดนั้น หรือมีความคิดฝักใฝ่เข้าข้างฝ่ายอักษะ จนกลายเป็นสาวอวยเผด็จการใดใด เธอยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยม จนกระทั่งโกโบริเข้ามาในชีวิตของเธอนั่นแหละ

หนูนา-บี้ สุกฤษฎิ์ ก็เคยสวมบทบาทใน คู่กรรม มาแล้ว

โกโบริเองต่างหากที่เป็นทหารหนุ่มที่แปลกประหลาดชวนชมวดคิ้ว ตั้งคำถามใส่เธอว่า “ถ้าตัดเรื่องสงครามออกไป คุณกับผมจะรักกันได้ไหม” เอ๊า ตัวเป็นทหารญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความเผด็จการโหดร้าย แต่ใจนายหล่อไปอีก และแน่นอน อังศุมาลินถึงจะไม่ยอมเปิดใจ จนกลายเป็นวลี “เล่นตัวจนผัวตาย” แต่ในท้ายที่สุด เธอก็เข้าใจว่า เออ ไม่ต้องตึงอุดมการณ์ขนาดนั้นก็ได้ ฉันก็รักกับศัตรูได้เหมือนกัน 

เอ๊าแม่ ได้เหรอ แต่ก็เอาเถอะ สงครามมันโหดร้ายอ่ะเนอะ ความรักแบบไม่สนหลักการใดใดมันก็เกิดขึ้นได้อยู่แม่ หนูพอเข้าใจ

แต่กับ “ศราวณี” ในคู่กรรมสองนั้นเธอต่างออกไป ศราวณีเป็นนักศึกษา ที่ “โยอิชิ” ลูกชายของอังศุมาลิน ได้สอนเธอในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศราวณีเป็นเด็กสาวที่จริงจังกับอุดมการณ์ทางการเมืองหนักเบอร์กว่าอังศุมาลินมาก เธอเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านการใช้สินค้าญี่ปุ่นร่วมกับ ศนท. (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ในสมัยนั้น รวมถึงกลายเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอมในช่วงท้ายเรื่องอีกด้วย และถึงแม้โยอิชิและอังศุมาลินจะพยายามทัดทานเธอ ดึงเธอกลับมาให้เห็นคุณค่าของความรักตัวเองและรักคนรอบตัวก่อนเรื่องนอกบ้าน เธอก็ไม่ยอม และบุกตะลุยไปจนถึงเหตุการณ์สำคัญในตอนท้ายแบบยืนหนึ่งทีเดียว 

โดนัท มนัสนันท์ เคยรับบท ศราวณี ใน คู่กรรม 2

แต่ด้วยมุมมองของผู้ประพันธ์ เนื้อเรื่องในคู่กรรม 2 แม้ว่าจะร้อนแรงด้วยประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไร เนื้อเรื่องยังคงให้ “ความรัก” ยังชนะทุกอย่างอยู่เหมือนเดิม โดยในภาคสองนั้น บ้านของอังศุมาลินที่ริมคลอง ดูเหมือนจะเป็นสถานที่ร่มเย็นเดียวที่ทั้งโยอิชิและศราวณีจะยังแวะเวียนเข้ามาหา ในขณะที่อีกฝากของเจ้าพระยา ในรั้วธรรมศาสตร์นั้นแทบจะลุกเป็นไฟ สะท้อนให้เห็นว่า ความรักและสถาบันครอบครัวนั้น อบอุ่นกว่าความขัดแย้งใดใดทั้งมวล

ตามต้นฉบับนั้น อังศุมาลิน ได้ยอมละทิ้งสิ่งที่เธอเรียกว่า “ความเกลียดชัง” ไว้เบื้องหลัง และเลือกจะรักกับโกโบริโดยไม่สนอุดมการณ์ทางการเมืองที่เธอและเขาเห็นไม่ตรงกัน เพราะเธอเชื่อว่าถึงแม้เธอจะถูกบังคับให้แต่งงานกับโกโบริจนมีลูกด้วยกัน แต่ลึกๆ แล้วคนทุกคนย่อมต้องโหยหาความรักในท้ายที่สุด เธอจึงใช้สิ่งนี้ในการยึดโยงโยอิชิให้อยู่แต่กับบ้าน อย่าออกไปร่วมชุมนุมใดใด รวมถึงไม่อยากให้โยอิชิมีความสัมพันธ์กับศราวณี เพราะกลัวว่าเขาจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเธอ นั่นรวมถึงการไปร่วมชุมนุมกับเธอด้วย

แต่หญิงแกร่งอย่างนังหนูศราวณี เธอเป็นเด็กสาวที่บ้านแตกสาแหรกขาด บ้านของเธอเป็นศัตรูกับบ้านของอังศุมาลินมาตั้งแต่รุ่นพ่อ บ้านของเธอถูกปลูกฝังให้เกลียดบ้านของอังศุมาลินมาแต่แรก ตัวเธอเองจึงมีความคิดที่ค่อนข้างจะดูถูกความรักใคร่ปรองดองของบ้านป้าอังอยู่มาก รวมถึงเธอเองก็ไม่ใช่ญาติแท้ๆ แต่เป็นลูกหลานติดมาเลี้ยงอีกที ศราวณีจึงเป็นเด็กสาวที่ไม่มีฐานันดรผูกมัดใดใด ไม่มีใครรักเธอและเธอก็ไม่เหลือความรักให้ใคร เธอจึงอุทิศทั้งชีวิตเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ สนใจเรื่องทางสังคมมากกว่าเรื่องส่วนตัว แน่นอนว่าพลังนี้ดึงดูดโยอิชิให้ประทับใจในตัวเธอ เพราะเธอเหมือนแม่และพ่อของเขานั่นเอง

โรแมนติกเวอร์

เช่นเดียวกับ จอย ศิริลักษณ์ ก็เคยรับบท ศราวณี เช่นกัน

แต่ในความโรแมนติกนี้ โยอิชิและศราวณีก็ต้องก้าวข้ามค่านิยมทางสังคมหลายอย่าง เพราะทั้งคู่เองก็เป็นอาจารย์กับนักศึกษา แถมเป็นญาติกันอีก การจะรักกันนี่มันก็ฝืนกฎไปหลายข้อทีเดียว แถมเมื่อศราวณีรู้ว่าโยอิชิเป็นลูกทหารญี่ปุ่นมาก่อน เธอเองก็ต่อต้านเขาไปด้วยในช่วงที่เธอและเพื่อนๆ กำลังต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเพื่อรณรงค์การรักษาดุลการค้าให้ประเทศในตอนนั้น มันจึงต้องใช้เวลาและหลายเหตุการณ์กว่าทั้งสองจะอยู่ในจุดที่รักกันได้ นับว่าเธอเป็นผู้หญิงที่อุดมการณ์ไม่ยอมอ่อนลงเลย แม้จะมีความรู้สึกหวั่นไหวเข้ามาเจือปน เฟมินิสต์ต้องไหว้เลยนะคะเนี่ย

อย่างที่เทยได้กล่าวไป ว่าเรื่องราวของคู่กรรม 2 นั้น เดินอยู่บนเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2516 ซึ่งไกลจากภาคแรกที่เป็นสงครามโลกครั้งที่สองร่วม 30 ปี อังศุมาลินเข้าสู่วัยกลางคนและเริ่มให้คุณค่าเรื่องในบ้านมากกว่าเรื่องนอกบ้าน ป้าอัง จึงกลายเป็นนางร่มเย็นเป็นสุข คอยทัดทานไม่ให้ทั้งโยอิชิและศราวณีทำอะไรบุ่มบ่าม แม้สราวิณีจะกล่าวในวันที่เธอหลบมาที่บ้านของป้าอังหลังจากโดนทหารกวาดล้างนักศึกษาว่า “กระแสมันมาแล้ว หนูไม่อยากเลิก เพราะไม่รู้ว่าหลังจากนี้ จะได้มีพลังแบบนี้อีกหรือเปล่า” อังศุมาลินเธอก็ตอบศราวณีว่า “แต่กระแส ก็ไม่รู้ว่าจะพัดพาเราไปทางไหนเหมือนกันนะ” แน่นอน ศราวณีตอบทันที “พาไปหาการเปลี่ยนแปลงไงคะป้า” เมื่อรู้ว่าทัดทานเธอไว้ไม่ได้ อังศุมาลินก็ได้แต่บอกให้เธอกลับมาบ้านริมคลองได้ทุกเมื่อหากมีการกวาดล้างนักศึกษาอีก

ซึ่งถามว่าศราวณีฟังไหม โนค่ะ โน่น ขึ้นเวทีไฮปาร์คในอีกไม่กี่วันต่อมา วิ่งหนีกระสุนและรถถังไป แซ่บๆ 

จนนำไปสู่ฉากจบที่สะเทือนใจกลายเป็นภาพซ้ำ คู่กรรมภาคแรก อังศุมาลินวิ่งออกไปตามโกโบริที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยในขณะที่ระเบิดลงตูมตาม แต่ภาคนี้โยอิชิฝ่ายชาย กลายเป็นฝ่ายต้องวิ่งออกไปตามหาหญิงคนรักที่กำลังออกไปสู้ในสงครามกลางเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแทน ฉากสะเทือนใจจึงหนีไม่พ้นป้าอัง ที่แบกเอารูปโกโบริ วิ่งออกไปตามลูกอีกที ท่ามกลางถนนราชดำเนินในช่วงเช้ามืดของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังของเสรีภาพที่ถูกล้มล้าง และความโหดร้ายของบ้านเมืองที่เธอเห็นมากับหน้ากับตาถึงสองครั้ง ก็ทำให้เธอเกิดโรคหัวใจกำเริบ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

จึงนับว่านี่เป็นภาพสะท้อนของอุดมการณ์เสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมที่ล่มสลายในสองภาคเรื่องเดียว ผ่านตัวละครผู้หญิงสองยุคสองสมัยที่น่าสนใจมากๆ ค่ะ

อีกหนึ่งคู่ที่เคยรับบท โกโบริ และ อังศุมาลิน

แต่แน่นอน เนื้อเรื่องคู่กรรม 2 แตะการเมืองเบอร์เข้มขนาดนี้ มันจึงกลายเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงไม่ค่อยมีค่ายหนังหรือผู้จัดละคร จะได้หยิบยกมาทำกันมากนัก เพราะครั้งล่าสุดที่ออกอากาศในเวอร์ชั่นละคร เมื่อตัวละครเอกกล่าวเหตุการณ์สำคัญหรือบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ก็มีการเซนเซอร์ไม่ออกชื่อบุคคลนั้นจนบางไดอะล็อกบางตอนเสียงก็เงียบหายไปหลายฉากเลย จึงเป็นไปได้ว่าผู้จัดละครเองก็ไม่อยากจะแบกรับความเสี่ยง ที่จะไปแตะเรื่องการเมืองผ่านการนำคู่กรรม 2 มาสร้างอีกก็เป็นได้ หันไปทำละครที่เซฟตัวเองคงจะง่ายกว่ากระมัง

เช่นกัน ในทางสายกูรูทางการเมืองหลายคน ก็มีการกล่าวแจ้งแถลงไขถึงคู่กรรมว่า เป็นนวนิยายที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมจัดด้วยมุมมองของผู้เขียนอย่างทมยันตี เพราะตัวละครโกโบริเองก็พ่วงเอาแนวคิดแบบเผด็จการเบอร์สุดจากจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามาในเรื่องด้วย สังเกตได้จากฮีเอง ก็เป็นคนอยากได้แม่อังก็ต้องได้ จนสถานการณ์รอบตัวและเกมการเมืองบีบให้เธอต้องยอมจำนนแต่งงานกับเขาในที่สุด ซึ่งในโลกเสรีนิยม 2019 ที่เราๆ เธอๆ กำลังเรียกร้องสิทธิสตรีและความหลากหลายกันแบบนี้ จะให้มายอมแต่งงานกับคนที่ฉันไม่ได้รักล่ะก็ ก็ต้องมีวีนกันหน่อยล่ะ ถูกมะ

ยังไม่รวมว่าการให้คุณค่าความรักเหนืออุดมการณ์นั้น เป็นไปได้จริงหรือไม่ ความรักชนะทุกอย่างและจะคงอยู่ตลอดไปที่ทางช้างเผือก ท่ามกลางความขัดแย้งทางอุดมการณ์ที่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ ระเบิดลงตูมตาม แต่อยู่ดีดีคนสองคนที่อยู่คนละฝ่ายแต่แรก ก็เลือกจะลืมทุกอย่างแล้วรักกันเฉย ทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังเฉย สิ่งนี้จะเป็นไปได้ไหมในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นแม้ว่าในภาคสอง จะเป็นเรื่องของการเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้วก็ตาม แต่ท้ายที่สุด ตัวละครทุกตัวก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน และให้คุณค่าสถาบันครอบครัว มากกว่าเรื่องนอกบ้านเช่นเคยในตอนจบ ตามแนวคิดของผู้เขียนเองนั่นแล  

คู่กรรม

แต่ความน่าเสียดายก็คือ เนื้อหาของคู่กรรม 2 ที่กล่าวถึงความเป็นหญิงแกร่ง นักต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองแบบแม่ฟาดในฟาดของน้องหนูศราวณีนั้น ดันไม่ได้ถูกยกย่องและจดจำเท่ากับป้าอังศุมาลินหญิงสาวผู้ยอมจำนนต่อความรักแบบเผด็จการ จึงสังเกตได้เลยว่าสังคมไทย เป็นสังคมที่ให้คุณค่าเรื่องความรักมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง ล่วงเลยเวลามาจนปัจจุบัน สถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ด้วยแล้ว เทยคิดว่าคงอีกนานทีเดียว กว่าเราจะได้เห็น คู่กรรม 2 เวอร์ชั่นใหม่ 

เราคงเห็นอังศุมาลินคนใหม่ได้ง่ายกว่า เห็นตัวละครนักสู้หญิงอย่างศราวณีอ่ะเนอะ

แต่สำหรับเทยแล้ว หน้าประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเกินกว่าจะพูดกันตรงๆ สื่อละครและงานวรรณกรรมหลายชิ้น ก็ยังหาลูกล่อลูกชน หาวิธีเล่ามุมมองของผู้เขียนมาให้เราได้ศึกษาอยู่เหมือนกันนะคะคุณกิตติ ใครจะไปคิดว่าคู่กรรม ก็มีเสี้ยวนึงที่เรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ด้วย และเทยว่ามันก็ควรที่จะได้รับการพูดถึงกันต่อไป แม้ว่าใครก็ตามพยายามอย่างยิ่งที่จะทำเป็นลืม หรือปกปิดมัน

เหยี่ยวเทยยังจำซีนที่มีเฮลิคอปเตอร์มากราดยิงในรั้วธรรมศาสตร์ และคำพูดของศราวณีที่ว่า “อย่าฆ่ากัน ศราไม่ได้อยากพาทุกคนมาตาย” ได้อยู่เลย ตอนดู คู่กรรม 2 ในโรงภาพยนตร์สมัยเด็กๆ ฉากสะเทือนใจแบบนั้น หวังว่ามันคงเกิดแค่ในหนังในละครที่สะท้อนอดีตเท่านั้นก็พอเนอะ

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ศราวณี ลูกสะใภ้สายการเมืองของแม่อังฯ นางเอกคู่กรรมที่ถูกลืม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook