รีวิว I Am Mother ผู้หญิงสามคนกับห้องปิดตาย

รีวิว I Am Mother ผู้หญิงสามคนกับห้องปิดตาย

รีวิว I Am Mother ผู้หญิงสามคนกับห้องปิดตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน I Am Mother นั้น หนังเปิดเรื่องมาที่หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์อย่าง “มาเธอร์” (ให้เสียงพากย์โดย โรส เบิร์น) ผู้รับหน้าที่ในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนมนุษย์ให้เติบโตขึ้นมา ในศูนย์วิจัยที่มีลักษณะเหมือนจะอยู่ในบังเกอร์ใต้ดิน เนื่องจากแทบไม่มีแสงแดดลอดผ่านเข้ามาเลยแม้แต่น้อย เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นโลกอนาคตที่มนุษยชาติเกิดสงครามล้างเผ่าพันธุ์และมนุษย์เกิดสูญพันธุ์ ปัญญาประดิษฐ์จึงต้องรับหน้าที่ในการดูแลมนุษย์เกิดใหม่ ซึ่งในที่นี้คือ “ดอว์เธอร์” (คลาร่า รูการ์ด) เด็กสาวที่เกิดขึ้นจากฐานเพาะเนื้อเยื่อชีวภาพ

 

 

ดอว์เธอร์ เติบโตขึ้นมาแบบเด็กน้อยที่ได้รับการดูแล และเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากมาเธอร์ว่า แท้จริงแล้วเธอยังมีน้องชายและน้องสาวอีกจำนวนมากมาย ที่รอวันลืมตามาดูโลกเมื่อถึงกำหนดเวลาที่เหมาะสม ถึงแม้ดอว์เธอร์จะตั้งคำถามว่า ทำไมมาเธอร์ไม่ให้กำเนิดเด็กคนอื่นพร้อมกันกับเธอ มาเธอร์ตอบแค่เพียงว่า เธออยากจะใช้เวลาในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้ดีที่สุดและเติบโตมาเป็นเด็กที่ดีมากกว่า

 

 

เมื่อดอว์เธอร์เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เธอเริ่มต้องเรียนรู้ทักษะมากมาย โดยเฉพาะเรื่องแนวคิดในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผ่านกรณีศึกษา ข้อสอบสำคัญที่มาเธอร์ถามดอว์เธอร์คือ ถ้าหากมีคนไข้รายหนึ่งที่มีอวัยวะที่สามารถปลูกถ่ายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อีก 5 คน แต่ถ้าหากการผ่าตัดสำเร็จเจ้าของอวัยวะจะต้องตาย แต่อีก 5 ชีวิตจะรอด หรืออีกหนึ่งทางเลือกคือ เจ้าของอวัยวะจะรอดชีวิตและคนไข้ที่รออวัยวะจะต้องตาย ทางเลือกไหนคือทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก่อนจะตอบดอว์เธอร์ยังไม่สามารถประมวลคำตอบได้ทันที เมื่อเธอต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆเพิ่มเติมอีก อาทิ คนที่รอความช่วยเหลือเป็นคนดีหรือคนเลว มีความอดทนไหม เป็นคนขี้เกียจหรือคนขยัน คำตอบดังกล่าวทำให้มาเธอร์ถามเธอกลับว่า ดอว์เธอร์เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์หรือไม่

 

 

แม้ดอว์เธอร์จะถูกฝากคำถามกลับมาเป็นการบ้าน แต่คำถามข้อนั้นเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในชีวิตที่เธอไม่รู้เลยว่า ในอีกไม่นาน จะมี “ผู้มาเยือน” (ฮิลารี สแวงก์) มาเคาะประตูขอความช่วยเหลือที่นอกบังเกอร์ ซึ่งดอว์เธอร์เข้าใจมาตลอดว่าโลกภายนอกนั้นไม่เหลือมนุษย์อีกแล้ว การมาถึงของหญิงแปลกหน้าครั้งนี้ทำให้ดอว์เธอร์ เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับมาเธอร์ว่า ตลอดมานั้นเธอ ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน สิ่งที่ผู้มาเยือนบอกเป็นความจริงหรือเรื่องโกหก โลกภายนอกมีอะไรอยู่กันแน่

 

ความสนุกของ I Am Mother คือการทำให้คนดูมีความรู้สึกแบบเดียวกับ “ดอว์เธอร์” นั่นคือไม่รู้อะไรเลยว่า มาเธอร์หรือผู้มาเยือนนั้น ใครเป็นคนที่พูดความจริงกันแน่ และในความจริงเหล่านั้น มีวัตถุประสงค์ตามเจตนาที่ตรงตามการกระทำของพวกเขาหรือเปล่า ความไม่ไว้วางใจของตัวดอวร์เธอร์ที่มีต่อมาเธอร์ก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่เมื่อดอว์เธอร์ต้อง “เลือก” ว่าจะอยู่ฝั่งใดสักฝั่งหนึ่ง เธอกลับไม่สามารถเลือกได้

 

 I Am Mother เล่าเรื่องราวผ่าน “บทสนทนา” ของตัวละคร เป็นส่วนใหญ่และเหตุการณ์ทั้งหมดแทบจะเรียกได้ว่าเกิดอยู่ในศูนย์วิจัยตลอดทั้งเรื่อง ไม่ต่างอะไรจากละครเวที ดังนั้นสิ่งที่สนุกมากๆคือการที่หนังเปิดโอกาสให้คนดูขบคิด คาดเดาไปต่างๆ ว่าท้ายที่สุดแล้วบทสรุปความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสามจะจบลงไปในทิศทางไหนกันแน่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook