บุษบา ผีในโรงละครและดอกไม้งามที่ร่วงโรย

บุษบา ผีในโรงละครและดอกไม้งามที่ร่วงโรย

บุษบา ผีในโรงละครและดอกไม้งามที่ร่วงโรย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


 

เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหนังสยองขวัญอย่าง “บุษบา” หรือ ชื่อภาษาอังกฤษที่พาให้สับสนหนักไปกว่าเดิมอย่าง “The Sprit of RAMAYANA” (บุษบาเป็นชื่อตัวละครเอกมาจากเรื่องอิเหนา ส่วน รามายณะหรือรามเกียรติ์ มีตัวละครเอกชื่อนางสีดา และถึงแม้ “ชื่อ” ทั้งสองจะถูกเฉลยในช่วงไคลแมกซ์ แต่ก็ไม่มีเหตุผลกลใดที่ต้องตั้งชื่อหนังไทยและอังกฤษให้ชวนสับสนและเหมือนคนทำงงชื่อตัวเอกในวรรณคดีไทยซะมากกว่า) แต่ถ้าสรุปโดยสังเขปแล้ว หนังเรื่องนี้ว่าด้วยวิญญาณนักแสดงหญิงที่อาฆาตแค้นจนตามหลอกหลอนคนในคณะละครจนได้รับบาดเจ็บ ไม่ก็ถึงขั้นมีอันเป็นไป

 

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อคณะละครที่ตัดสินใจจะชุบชีวิตตัวละคร “นางสีดา” ในการตีความใหม่ ภายใต้คอนเซปนักแสดงนำคนเดียว แต่แสดงออกถึงสองบุคลิกทั้งด้านดีและด้านมืดของนางสีดาในช่วงเวลาที่ตัวละครต้องมนต์ดำ อันเป็นผลงานการกำกับการแสดงของเมษ (โย่ง อาร์มแชร์) ซึ่งมินท์ (กรีน-อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล) คือนักเต้นที่ใฝ่ฝันจะได้รับบทนำเป็นนางสีดา แต่แน่นอนว่าก็มีนักเต้นคนอื่นๆที่หมายมั่นจะคว้าบทนางสีดาเช่นเดียวกับเธอ

 

 

แม้ผลการออดิชั่น มินท์จะไม่ได้รับคัดเลือกเป็นนักแสดง “ตัวจริง” แต่ไม่นานนักหญิงสาวที่ถูกรับเลือกให้เป็นนางสีดากลับประสบอุบัติเหตุ ตกบันไดหัวฟาดบ้าง โดนรถชนกระดูกแตกบ้าง ทำให้บทนี้ตกเป็นของมินท์ไปโดยปริยาย ท่ามกลางเสียงเล่าลือถึงอาถรรพ์ในคณะละครครั้งนี้ อาจจะมีความเชื่อมโยงกับหญิงสาวที่เคยรับบทนางสีดาเมื่อครั้งเก่าก่อนก็เป็นได้

 

เรื่องลึกลับในคณะละคร คือพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ แต่วิธีการเล่าเรื่องราวใน “บุษบา” นั้นแค่คนดูเห็นหน้านักแสดงแต่ละคนในเรื่อง ก็เดาได้แล้วว่าใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้น นางเอกก็แสดงเป็นนางเอกผู้แสนดีตลอดเวลา พระเอกก็ขี้เก๊กห่วงหล่อ บรรดานางร้ายก็ต้องจิกตา แต่งตัวโป้ๆจริตเกินเบอร์ ส่วนคุณนายก็ต้องเล่นแบบใหญ่ๆรัชดาลัยต้องกราบ ซึ่งวิธีการแสดงของนักแสดงในหนังเรื่องนี้เหมือนกับเล่นละครหลังข่าวมากกว่า จะเป็นการแสดงในภาพยนตร์ (ละครหลังข่าวเน้นการแสดงโอเวอร์ เพราะคนดูไม่จำเป็นต้องจดจ่อกับโทรทัศน์ตลอดเวลา ขณะที่ภาพยนตร์คนดูต้องคอนสังเกตการณ์แสดงที่เกิดขึ้นบนจอตลอด ทำให้สามารถลดทอนความใหญ่ และไม่ต้องอาศัยบทพูดเพื่อสื่อความตลอดเวลา)

 

 

ยังไม่รวมไปถึงความเชยตกยุคของบทภาพยนตร์ ที่เหมือนทีมงานไปค้นคว้าหนังสยองขวัญสืบสวนสอบสวนราว 20 ปีที่แล้วมาอ้างอิงเป็นพล็อตเรื่อง อาทิ ตัวละครในเรื่องต้องเดินเข้าไปในเขตพื้นที่แปะป้ายห้ามเข้า ฉากตัวละครโดนผีหลอกแต่ที่จริงคือความฝัน โรงละครที่น้ำรั่วกันอยู่ตลอดเวลาจนไม่รู้ว่าท่อแตก หาช่างซ่อมไม่ได้ หรือผีเฮี้ยนจนทำให้การประปานครหลวงไม่อาจจะมาซ่อมโรงละครที่จะเปิดทำการแสดงในไม่กี่วัน

 

ความไม่สมเหตุสมผลของโลเคชั่น ปัญหานี้น่าจะการเลือกโลเคชั่นที่มีไม่มีความคล้ายคลึงกันของสถานที่ ทำให้คนดูไม่รู้สึกร่วมไปว่าบรรดาห้องหับต่างๆในหนังเรื่องนี้คือสถานที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องซ้อมเต้น (เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา) โรงละครที่เหมือนถ่ายในย่านใจกลางเมือง โซนออฟฟิศของตัวคณะละครที่งานสถาปัตยกรรมดูไม่กลมกลืนไปส่วนที่เหลือ ชั้นบนของตึกที่เก่าทรุดโทรม เหมือนไปถ่ายที่ห้องเรียนของมหาวิทยาลัยรัฐฯ ย่านสุขุมวิท เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะเป็นเพราะคนดู ไม่ได้มีโอกาสมองเห็น “รูปทรงภาพนอก” ของโรงละครแห่งนี้ก็เป็นได้ ทำให้เราไม่มีโอกาสเข้าใจลักษณะโดยรวมของสถานที่แห่งนี้ และทำให้สถานที่ในหนัง (ในความรู้สึกคนดู) กระจัดกระจาย ไม่เป็นพื้นที่อันหนึ่งอันเดียวกัน

 

 

 

น่าเสียดายท่ามกลางความล้าสมัยของหนัง กลับมีประเด็นที่น่านำมาขับเน้นให้แซ่บกว่านี้ก็คือเรื่องของ “การชิงดีชิงเด่นของผู้หญิง” ที่ไม่ว่าจะต้องรบราฆ่าฟันกันให้ตายไปข้าง แต่สิ่งที่พวกเธอต้องการคือการใช้เสน่ห์ เรือนร่าง ความสะสวย เพื่อการคุมอำนาจเหนือผู้ชายและเป็นหลักประกันให้ชีวิตของตัวเองว่าจะได้สุขสบายต่อไปในภายภาคหน้า

 

มีการเปิดเผยจุดเฉลยของภาพยนตร์ตั้งแต่ย่อหน้านี้

 

 

ตัวละครที่น่าสนใจที่เราอดพูดถึงไม่ได้เลยคือ เมย์ (ครีม-ธิชาชา บุญเรืองขาว) ภรรยาของทศ (เจฟฟรีย์ เบญจกุล) เจ้าของบริษัทอีเวนท์ ผู้จัดคนสำคัญของคณะละครเวที ซึ่งตัวละครเมย์นั้น ปรากฏตัวออกมาตอนงานแถลงข่าวและได้พูดประโยคเด็ดที่น่าจะเป็นวรรคทองของเรื่องที่ว่า “การได้มาในสิ่งที่ผู้หญิงอย่างเราต้องการนั้น เราต้องปกป้องรักษาเอาไว้ เพราะมันคือของๆเรา”

 

ทันทีที่ตัวละครเมย์ลั่นวาจาเอาไว้เช่นนั้น เราจึงมองตัวละครนี้ไว้ว่าน่าจะเป็น “ตัวพลิกเกม” คนสำคัญของเรื่อง และเมื่อหนังใกล้จบมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อตัวละครที่ชักใยอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทั้งหมด คือการรักษาสถานะของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องพึ่งพาผู้ชายอย่างทศ ที่เหมือนเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของเธอ ดังนั้นการที่ตัวละครนี้พยายามปกปิดความตายของ “สีดา” ภายใต้การสมรู้ร่วมคิดของคนในคณะละครนั้น คือการทำให้ “ธุรกิจ” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเธอดำเนินได้ต่อไปอย่างไม่มีสะดุด เพราะบางทีความล่มสลายของกิจการ อาจจะหมายถึงความพังพินาศของชีวิตความเป็นอยู่ด้วยเช่นกัน

 

 

น่าเสียดายที่ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกนำเสนออย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนใน “บุษบา” เพราะส่วนมากแล้วหนังก็มัวแต่สาละวนอยู่กับการตุ้งแช่หลอกคนดู ในแบบที่ไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องกล่าวชมเอาไว้ทิ้งท้ายคือ ฉากร่ายรำแบบคู่ของมินท์ (กรีน) และผู้รับบทเป็นผีสีดา ที่แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม แต่เห็นได้ชัดเจนว่า ทั้งสองได้ซ้อมการเต้นอย่างหนัก จนทำให้เราเชื่อสนิทเลยทีเดียวว่ามินท์กำลังถูกผีสีดาสิงจริงๆ

 

บุษบา กลายเป็นหนังผีที่น่าจะถูกลืมเลือนเมื่อกาลเวลาผันผ่านไป ทั้งที่จริงแล้วหนังมีสิ่งที่น่าสนใจหลบซ่อนอยู่ในหนัง อย่างน้อยประเด็นเรื่องการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของผู้หญิงในเรื่อง ก็น่าจะเป็นประเด็นที่สะท้อนสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดีว่าทำไมคนเราถึงอยาก “มีผัวรวย” กันนั่นเอง

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook