“Every Day a Good Day” โลกทั้งใบ ในกาน้ำชากาเดียว

“Every Day a Good Day” โลกทั้งใบ ในกาน้ำชากาเดียว

“Every Day a Good Day” โลกทั้งใบ ในกาน้ำชากาเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในฐานะที่เป็นแฟนหนัง โคเรเอดะ เหตุผลเดียวที่ผมตัดสินใจไปดู Every Day a Good Day ของผู้กำกับ โอโมริ เท็ตสึชิ ก็คือ นี่เป็นการแสดงภาพยนตร์ครั้งสุดท้ายของ กิกิ คิริน ก่อนที่นักแสดงสูงอายุท่านนี้จะเสียชีวิตนั่นเอง

อาจจะเป็นเหตุผลที่ชวนให้งงอยู่สักหน่อยนะครับ เพราะดูเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอะไร คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ คุณป้า กิกิ คิริน ถือเป็นนักแสดงคู่บุญของ ฮิโรคาสึ โคเรเอดะ ผมดูหนังแกหลายเรื่องก็เจอคุณป้าทุกเรื่อง จึงเกิดเป็นความผูกพันไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อคุณป้ามาแสดงในหนังเรื่องนี้ แม้จะไม่ใช่ผู้กำกับคนเดิม (โคเรเอดะ) และยิ่งได้รู้ว่าเป็นหนังเรื่องสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ผมจึงอยากดู คล้ายว่าเป็นการกล่าวคำอำลาอาลัยให้นักแสดงที่เราคุ้นเคยทำนองนั้นแหละครับ

ครับ เหตุผลเดียวที่ผมตัดสินใจไปดู Every Day a Good Day มีอยู่แค่นั้นจริงๆ แต่พอหลังจากดูจบ ออกจากโรงภาพยนตร์จึงรู้ว่านี่ได้ดูหนังที่ดีอีกเรื่องหนึ่งเข้าให้แล้ว

เวลาเราพูดถึงหนังญี่ปุ่นนี่ อาจจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนนะครับว่าหนังญี่ปุ่นเองก็มีทั้งหนังที่เป็นไปตามขนบส่วนใหญ่คือหวือหวา ฉูดฉาด สนุกสนานอะไรก็ว่าไปกันไป แต่มันก็จะมีหนังอีกประเภทซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นขนบหนังญี่ปุ่นแท้ๆ อยู่เหมือนกัน หนังในกลุ่มหลังนี้ก็จะค่อนข้างเรียบๆ ไม่หวือหวา บางเรื่องก็เข้าขั้นชวนให้ง่วงนอนอยู่เหมือนกัน แต่ในความเรียบๆ เรื่อยๆ นั้นกลับเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และบางทีในบางเรื่องก็กัดเซาะเข้าไปในส่วนลึกจิตใจผู้ชมชนิดเอาเป็นเอาตายอยู่เหมือนกัน เช่น หนังของ โคเรเอดะ เอง หรือหนังของคนทำหนังรุ่นบรมครูอย่าง ยาซูจิโร โอสึ และหนังของคนทำหนังรุ่นหลังอย่าง ชุนจิ อิวาอิ เป็นต้น ซึ่งไอ้คุณสมบัติที่รวมๆ ดูน่าเบื่อเหล่านี้แหละครับ ที่เมื่อดูจบผ่านเวลาไปแล้วมันกลับสลักแน่นอยู่ในใจเราไปอีกนานแสนนานในแบบที่หนังสนุก หนังตามกระแส หรือหนังทั่วๆ ไปมอบให้ไม่ได้ อันนี้ว่าตามความคิดของผมคนเดียวนะครับ ผิดถูกยังไงไม่อาจสรุปได้

Every Day a Good Day เป็นหนังที่เข้าข่ายแบบนั้นครับ ผมไม่เคยดูหนังของ โอโมริ เท็ตสึชิ มาก่อนนะครับ แต่คิดว่าเขาก็คงเป็นคนทำหนังสายหลับแบบนี้อยู่เหมือนกัน

กิกิ คิริน รับบทเป็น อาจารย์ทาเคดะ

หนังเล่าเล่าเรื่องราวของสองสาวที่ต่างกันสุดขั้ว โนริโกะ (คุโรกิ ฮารุ) นักศึกษาสาวและลูกพี่ลูกน้องของเธอ มิจิโกะ (ทาเบะ มิคาโกะ) โนริโกะ เป็นพวกไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอะไร ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจอะไรในชีวิตเลย ตรงกันข้ามกับ มิจิโกะ ที่ดูมั่นใจ ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มีแนวทางที่วางไว้ให้ตัวเองอย่างชัดเจน สองสาวได้ไปเรียนชงชาตามคำแนะนำไปงั้นๆ ของผู้เป็นแม่ ทั้งคู่ได้พบกับ อาจารย์ทาเคดะ (กิกิ คิริน) และเริ่มเข้าสู่โลกแห่งการชงชา ซึ่งจากตอนแรกดูเหมือนไม่มีอะไรแต่กลายเป็นว่า การชงชากลายเป็นโลกทั้งใบของ โนริโกะ เลยครับ ด้วยกระบวนการที่เต็มไปด้วยขั้นตอนอันสลับซับซ้อน และดูไม่เม้คเซนส์ เต็มไปด้วยหลักการอะไรสักอย่างที่ดูเหมือนไม่มีเหตุผล แต่เมื่อเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านทุกข์สุขคละเคล้ากันตามฤดูกาลต่างๆ ในชีวิต โนริโกะ ก็ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ในตอนแรกได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ การชงชาได้ค่อยๆ เผยมุมมองที่เรียบง่ายของชีวิตผ่านการแนะนำของอาจารย์ทาเคดะ ซึ่งบอกเคล็ดลับนั้นว่า “ทำให้มือมันไปเองโดยไม่ต้องคิด” จนเมื่อถึงจุดนั้น เราจะเข้าใจความหมายของชีวิต ชีวิตที่อัดโลกทั้งใบไว้ในกาน้ำชากาเดียวนี่แหละครับ

Every Day a Good Day เป็นหนังที่เล่าเรื่องได้อย่างละเมียดละไม และใจเย็นเหมือนอาจารย์ทาเคดะ มากๆ ครับ ผู้กำกับให้เวลากับฤดูกาลและภูมิปัญญาการชงชาแบบญี่ปุ่นซึ่งเป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้งแฝงปรัชญาแบบตะวันออกอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจเพราะสร้างจากงานเขียนของ โมริชิตะ โนริโกะ เรื่อง “Everyday is a good day: 15 happiness taught by ‘Tea’ ที่เขียนจากประสบการณ์การเรียนชงชานาน 25 ปีเต็มด้วย หนังจึงออกมาเรียบง่าย สวยงาม และลึกซึ้งได้ขนาดนั้น

แนะนำให้ดูกันเหมือนเคยครับ

 

ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Every Day a Good Day ได้ ที่นี่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ “Every Day a Good Day” โลกทั้งใบ ในกาน้ำชากาเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook