รีวิว The Lion King ข้อจำกัดของ “ความสมจริง”

รีวิว The Lion King ข้อจำกัดของ “ความสมจริง”

รีวิว The Lion King ข้อจำกัดของ “ความสมจริง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

แอนิเมชั่น The Lion King ในปี 1994 ถือเป็นผลงานอีกเรื่องของค่ายดิสนีย์ที่จัดได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ อีกทั้งหนังยังคว้าสองรางวัลออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (ฮานส์ ซิมเมอร์) และเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ("Can You Feel the Love Tonight" ดนตรีโดยเอลตัน จอห์น และเนื้อเพลงโดยทิม ไรซ์) กว่ายี่สิบปี The Lion King ถือเป็นผลงานคลาสสิคที่ได้รับการดัดแปลงไปเป็นละครเวที การ์ตูนภาคต่อทางโทรทัศน์ เพลงในหนังที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชม

 

จนกระทั่งดิสนีย์ตัดสินใจที่จะคืนชีพให้ The Lion King จากเวอร์ชั่นตัวการ์ตูนน่ารักน่าเอ็นดู กลายเป็นเหล่าสัตว์ที่มีความเสมือนจริงราวกับหลุดมาจากป่าในทวีปแอฟริกาด้วยเทคนิควิธีการสร้างทางซีจีไอที่เรียกว่า Photorealistic Animation หรือการทำแอนิเมชั่นออกมาให้มีความสมจริง ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

 

 

ทว่าความสมจริงที่มากเกินไป ทำให้เกิดความขัดแย้งในเชิงความรู้สึกของผู้ชม ที่อาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจไม่น้อยเมื่อ เหล่าสัตว์ในเรื่องสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ สามารถร้องรำทำเพลงได้ แต่ไม่อาจจะแสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านสีหน้าแววตา (Facial expression) ได้มากเท่ามนุษย์จริงๆ จนทำให้ในหลายฉากของหนังมีความแห้งแล้ง เฉยชา เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นแอนิเมชั่นที่สามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะสุข เศร้า โกรธ นิ่งเงียบ ซึ่งประเด็นที่กล่าวมาทำให้เรารู้สึกเสียดายตรงความครึ่งๆกลางๆของปัจจัยเหล่านี้

 

 

เสียงพากย์ของตัวละครในเรื่อง เป็นอีกหนึ่งทั้งสิ่งเกื้อกูลหนังและเป็นทั้งจุดด้อยของเรื่อง อย่างแรกการที่หนังเลือก บิลลี ไอช์เนอร์ มาพากย์เป็นทีโมน และเซธ โรแกนมาพากย์เป็นพูมบ้า คือตัวเลือกที่เหมาะสมและเพิ่มอรรถรส ชีวิตชีวาให้กับหนังเป็นอย่างมาก ส่วนตัวละครอย่างนาล่า ซึ่งพากย์โดยดีว่าอย่าง “บียอนเซ่” นั้น เรากลับรู้สึกว่าความเป็นตัวตนของเธอปกคลุมตัวละครนี้เสียจนเราไม่รู้สึกว่านาล่าเป็นสิงโต แต่เป็นบียอนเซ่จำแลงร่างมา (พูดง่ายๆว่าความมีเอกลักษณ์ของบียอนเซ่มันยิ่งใหญ่เสียเกินตัวละครไปแล้ว)

 

 

ยังไม่รวมเพลงที่ถูกแต่งขึ้นใหม่อย่าง Spirit ที่ขับร้องโดยบียอนเซ่อีกเช่นกัน เมื่อมันถูกใส่เข้ามาในช่วงก่อนไคลแมกซ์ของหนัง ได้กลายเป็นบทเพลงที่ดูอยู่ผิดที่ผิดทาง และไม่เข้ากับเพลงอื่นๆในหนังเรื่องนี้ สิ่งเดียวที่เราพอจะมองเห็นถึงจุดประสงค์ของการมีอยู่ของเพลงดังกล่าว เพียงเพราะว่าดิสนีย์อาจจะคาดหวังว่าอย่างน้อยเพลงนี้ก็น่าจะมีโอกาสได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในช่วงต้นปี 2020 (แบบเดียวกับที่ Beauty and the Beast ในปี 2017 ส่งเพลงแต่งขึ้นใหม่อย่าง Evermore ชิงชัย แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันกระทั่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล)

 

อย่างไรก็ตาม The Lion King ในเวอร์ชั่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการยกระดับงานเทคนิคพิเศษในการสร้างภาพให้ออกมาเสมือนจริงและน่าตื่นตาตื่นใจ แต่สิ่งที่อาจจะพร่องไปก็คือจิตวิญญาณและความมีชีวิตชีวาแบบในเวอร์ชั่นต้นฉบับไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook