รีวิว Alita: Battle Angel สก๊อยไซบอร์ก

รีวิว Alita: Battle Angel สก๊อยไซบอร์ก

รีวิว Alita: Battle Angel สก๊อยไซบอร์ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

ไม่อ้อมค้อมไม่เล่าอะไรมาก Alita: Battle Angel คือหนังที่ “มาช้ากว่าเวลา” เกือบ 10 ปี จริงอยู่ที่ “เพชฌฆาตไซบอร์ก” คือมังงะเรื่องดังที่แฟนหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นคงจะคุ้นเคยและรู้จักกันดี แน่นอนไม่ใช่แค่คนอ่านทั่วไปเท่านั้นที่ “รัก” ในผลงานชิ้นนี้ แต่เจมส์ คาเมรอน หมายมั่นที่จะพัฒนาให้กลายเป็นหนังขนาดยาว แต่ด้วยคิวงานที่ยุ่งมาก และเขาก็เลือกที่จะไปสร้างโลกในจินตนาการอย่าง Avatar ทำให้ Alita: Battle Angel จึงอยู่ในกรุมานมนานเกิน 10 ปี จนกระทั่งเขามีโอกาสได้พูดคุยกับโรเบิร์ต โรดริเกซ จนท้ายที่สุด Alita ก็ได้รับการสร้างเสียที

 

แต่พล็อตเรื่องที่ว่าด้วยการชุบชีวิตไซบอร์กสาวจากกองขยะ การค้นหาตัวตนที่หายสาบสูญ หรือกระทั่งอลิตากลายเป็นตัวแทนในการปฏิวัตินั้น แทบจะไม่มีความแตกต่างจากหนังในกลุ่ม Young Adult ในยุค 10 ปีให้หลังมานี้อย่าง The Hunger Game, The Divergent Series รวมไปถึง The Maze Runner ที่ว่าด้วยการค้นพบพลังของหนุ่มสาวและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ซึ่งพล็อตเรื่องแบบนี้ “เชย” ไปแล้วเรียบร้อย ดังนั้นสำหรับแง่พล็อตเรื่องแล้ว Alita: Battle Angel จึงไม่มีอะไรใหม่เลย

 

 

ความเยิ่นเย้อในการเล่าถึงตัวละครในมุมต่างๆ ทำให้หลายช่วงในหนังมีฉากประเภท “ไม่จำเป็น” อยู่มากมายเต็มไปหมด แถมแนวคิดที่ว่าเด็กแหกกรอบของอลิตานั้น ก็คล้ายกับแนวคิดเด็กสก๊อยที่ไม่เชื่อฟังผู้ปกครอง (ดร.อิโต้) เธอหนีออกนอกบ้านเกินเวลาเคอร์ฟิว หรือชอบไปซ้อนท้ายรถของเด็กหนุ่มฮิวโก้เป็นสาวสก๊อยที่ยอมกระทั่ง “ควักหัวใจ” ตัวเองเพื่อให้แฟนหนุ่มเอาไปขายในตลาดมืดเพื่อแลกกับเงินก้อน เราอาจจะมองว่าอลิตาไร้เดียงสา และทำทุกอย่างด้วยหัวใจ แต่ความไม่คิดหน้าคิดหลังดังกล่าวนี่แหละที่ทำให้เธอ “พลาด” ในหลายครั้ง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้น่าจะช่วยสร้างบทเรียนให้กับเธอฉุกคิดและเติบโตขึ้นนั่นเอง

 

ความเชยของพล็อตเรื่องยังได้รับการทดแทนด้วยงานเทคนิคพิเศษที่น่าตื่นตาตื่นใจ เราต้องยอมรับเช่นกันว่า การเนรมิตโลกอนาคต เมืองเศษเหล็ก กระทั่งซาเล็มที่ลอยฟ้า กระทั่งชีวิตผู้คนที่เดินสัญจรไปมา ก็ได้รับการใส่ใจในทุกรายละเอียด ทำให้หนังเรื่องนี้ดูยิ่งใหญ่และกลายเป็นโลกเสมือนจริงมากกว่าหนังโลกอนาคตหลายๆเรื่อง ยังไม่รวมไปถึงการออกแบบตัวละครไซบอร์กทุกตัวตั้งแต่อลิตาไปจนถึงหุ่นตัวอื่นๆที่มีความจริง คมชัดในแง่รายละเอียด เช่นเดียวกับฉากต่อสู้ที่ดุเดือด ลุ้นระทึกจนผู้ชมไม่อาจละสายตาได้เลย

 

 

น่าเสียดายที่ Alita: Battle Angel ไม่ค่อยจะทำเงินในประเทศอเมริกาสักเท่าไหร่ จนมีการคาดการณ์ออกมาเลยด้วยซ้ำว่าน่าจะเป็นหนังเจ๊งเปิดปี 2019 แต่ในตลาดต่างประเทศ หนังเรื่องนี้ก็ทำเงินได้น่าพอใจ ก็คงต้องตามลุ้นกันต่อไปว่า เราจะมีโอกาสได้ดูภาคต่อไหม (แม้ความหวังนี้ออกจะริบหรี่ก็ตามที)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook