รีวิว "แช่ง" หนังผีสามรส กับความหลอนลึกลงรากคนไทย

รีวิว "แช่ง" หนังผีสามรส กับความหลอนลึกลงรากคนไทย

รีวิว "แช่ง" หนังผีสามรส กับความหลอนลึกลงรากคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

อาถรรพ์จากคำสาปแช่ง ที่เกิดขึ้นจากแรงอาฆาต ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมแห่งการจองเวร 3 เรื่อง 3 ความแค้น ใน แช่ง

หนังผีไทยมักชอบทำแนวหลายเรื่องสั้นรวมร่างกัน มีธีมร่วมบ้าง หรือบางทีก็เป็นโปรเจ็กต์รวมทีมงานต่างสไตล์ของค่ายเท่านั้น และ แช่ง ก็เป็นหนังไทยเรื่องล่าสุดที่ทำหนังสั้น 3 ตอนรวมกันภายใต้ธีมเดียวกัน คือ คำสาปแช่ง ต่างที่มา ต่างวิธีการ ต่างยุคสมัย และต่างเหตุผลซึ่ง ถือว่าความตั้งใจและแนวคิดนั้นน่าสนใจอยู่ไม่เบา แม้หน้าหนังจะดูช่างเดิม ๆ และไม่มีอะไรเสียเลย แต่หนังตัวอย่างที่ปล่อยมาก็กลับทำให้เห็นว่ามันมีของเล่นแปลกใหม่ที่น่าติดตาม เป็นการทดลองและบูชาการเล่าเรื่องผีในหลายหลากวิธีการ และเมื่อได้ดูตัวหนังเต็ม ก็พบว่าผู้สร้างไม่ได้แค่อยากทำหนังผีทั่วๆ ไป แต่ยังทดลอง และนำเสนอกระบวนการคิดวิพากษ์สังคมไทยอย่างมีชั้นเชิงด้วย

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ จิต กำเหนิดรัตน์ ซึ่งเคยกำกับหนังร่วมในเรื่อง เลิฟอะรูมิไลค์ รักอะไรไม่รู้ (2558) และยังเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ภาควิชาภาพยนตร์ วิชา Art of storytelling ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (2553 -2556) นอกจากนี้ยังมีผลงานกำกับหนังทุนกระทรวงวัฒนธรรมเรื่อง Eternal นิรันดร์ (2554) อีกด้วย สำหรับเรื่องแช่งนี้นับเป็นการกำกับเดี่ยวครั้งแรกกับหนังค่าย มันเวิร์ก และเช่นเดิม ยังสามารถดึงดาราระดับคนดูรู้จักดีมาร่วมเล่นได้มากมาย ทั้ง เดวิด อัศวนนท์ ในตอน วิปลาส, ชิน ชินวุฒ อินทรคูสิน กับ วรรณปิยะ ออมสินนพกุล หรือ กวาง เดอะเฟซ ในตอน Tattoo และ หน่อง ธนา ฉัตรบริรักษ์  น้องชายของ บอย ปกรณ์ ในตอน เมียแช่ง

โดยแต่ละตอนนั้นต่างแยกกัน มีจุดร่วมผ่านสิ่งของเป็นเพียงกิมมิกเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อดูจบเราจะพบว่าหนังซ่อนสาระสำคัญร่วมกันอยู่ 1 สิ่ง ซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้มีของอยู่ไม่เบาเลยทีเดียว จะเป็นอย่างไรนั้นมาดูกัน

Chapter 1: วิปลาส

โจเซฟ (เดวิด อัศวนนท์) บาทหลวงวัยกลางคนได้รับเบาะแสการตายของเพื่อนบาทหลวงผู้ทำหน้าที่มิชชันนารีในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยเบาะแสนั้นก็คือเครื่องบันทึกแผ่นเสียงการแสดงละครรำในคืนที่เชื่อกันว่าเป็นต้นตอของคำสาปที่ทำให้คนในหมู่บ้านค่อย ๆ ล้มตายไปกว่าครึ่ง  โดยเสียงเพลงที่ได้ยินนั้น เป็นเสียงร้องที่ไพเราะประหนึ่งนางอัปสรณ์บรรเลงพิณ แต่กลับให้ความรู้สึกโหยหวนราวกับเสียงของปีศาจ โจเซฟจึงตัดสินใจออกไปตามหาต้นตอของเรื่องราวทั้งหมด จนพบกับความจริงที่ค่อย ๆ เผยให้เห็นถึงด้านมืดของจิตใจมนุษย์ และต้นตอของคำสาปที่น่าสะพรึงกลัว เชิญพบจุดจบที่น่าเวทนาในบรรยากาศความลึกลับน่ากลัวของบรรยากาศบ้านป่าของประเทศสยามในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 6 ที่ความเจริญยังไม่รุกคืบความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์

จุดเด่นของตอนนี้คือช่วงเวลา ร.6 กับประเด็นที่ไม่ค่อยเจอในหนังไทย เรื่องของมิชชันนารี่ฝรั่งที่ต้องเดินทางสู่บ้านป่า เพื่อไขคดีลึกลับซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อว่าเกี่ยวกับไสยศาสตร์ตามลัทธินับถือผี ซึ่งเป็นรากดั้งเดิมของคนไทย มันจึงการคือมองฐานความเชื่อเดิมของเราผ่านสายตาของบาทหลวงฝรั่งที่เป็นคนนอก หรือแม้แต่คนปัจจุบันเองที่เชื่อเรื่องผีสางน้อยลง ตอนนี้นับว่าลงตัวที่สุดใน 3 ตอน ความหลอนและองค์ประกอบความหลอนจากบ้านป่าเมืองเถื่อน และขนบที่ห่างเหินจากบรรทัดฐานคติในเวลาปัจจุบัน ซึ่งพบในนิยายคลาสสิกแนวสยองขวัญมากมาย ทั้งการผูกปริศนาที่ค่อย ๆ เผย ค่อย ๆ ทิ้ง ให้เราหันเหความสนใจไปมา ว่าสุดท้ายคำแช่งนี้คืออะไร และมาจากใคร หรือสิ่งใด กันแน่ อันที่จริงมันก็ใบ้จนเราได้ในบางคำตอบ แต่ในภาพรวมมันก็ยังนำพาเรามาจุดที่ต้องอึ้งกับบทสรุปทั้งหมดอยู่ดี นับแบบเป็นหนังตอนเดี่ยว ๆ ก็นับว่าเป็นหนังไทยที่เจ๋งมาก ๆ เรื่องหนึ่งเลย แม้ด้วยข้อจำกัดเวลาจะทำให้มันข้าม ๆ การเชื่อมบางส่วนไปบ้างก็ตาม

นอกจากนี้หนังยังซ่อนนัยยะในการหยิบจับประเด็นว่าตัวตนของเรา (คนไทย) ในปัจจุบัน ถูกอำนาจเหนือขึ้นไปใด ๆ มาครอบงำอยู่บ้าง น่าสังเกตว่าในตอนนี้แทบไม่มี พระ หรือ พุทธ เข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่กลับมากมายทั้งหัวโขนฤาษีพ่อครูโรงละครรำ ผีป่า กฎหมายที่บกพร่อง อคติของผู้ครองอำนาจปกครอง ตลอดจนความเป็นชายที่ครอบงำเพศหญิงเสมอ ว่าด้วยอำนาจแบบยุคโบราณทั้งสิ้น แม้จะร้อยปีก่อนหรือปัจจุบัน เหล่าสถาบันต่าง ๆ เช่น ศาสนาผี ฯลฯ ต่างยังหลอกหลอนหล่อหลอมความเป็นเราอยู่โดยตลอด คำพูดของข้าหลวงจีนในเรื่องช่วงหนึ่งอาจมีทำเราสะดุ้งกันทีเดียว

“เพราะพวกคนไทยอย่างพวกเอ็งมัวแต่งมงายกับผีสาง พวกฝรั่ง แขก หรือเจ๊กอย่างพวกข้าถึงได้เป็นขุนนางครองเมืองกันเต็มไปหมดแบบนี้ไงเล่า”

Chapter 2: Tattoo

เฟรดดี้ (ชิน ชินวุฒ) หนุ่มช่างสักฝีมือดีที่ใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวัน หลังจากที่ต้องเลิกรากับหญิงสาวนาม เฟิร์น (กวาง วรรณปิยะ) ผู้เป็นรักเดียวของเขา  จนกระทั่งวันหนึ่งเฟิร์นกลับมาหาเขาพร้อมกับความน่าสะพรึงกลัวบางอย่างที่ตามหลอกหลอน และพาให้คนรอบตัวของเธอต้องพบกับความหายนะ จากคำสาปแช่งอันเกิดจากความลุ่มหลงจมสู่กิเลสอันลึกล้ำ และดูเหมือนคำสาปนั้นจะเข้าจู่โจม เชส เพื่อนของเฟรดดี้ที่หลงมาหลงรักเฟิร์นโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย เฟรดดี้จึงตัดสินใจที่จะป้องกันและขัดขวางไม่ให้เรื่องราวเลวร้ายเกิดขึ้นกับคนที่เขารักทั้ง 2 แม้ต้องเผชิญกับความผิดบาปที่ทั้งสองต่างมีส่วนร่วมสร้างมันขึ้นมาแบกไว้ที่ตนเอง เล่าผ่านด้วยอารมณ์ความรักอันแสนอึมครึม และความเย็นเยียบที่กัดกินความเหงาของหนุ่มสาวสมัยใหม่ท่ามกลางความวุ่นวายในเมืองหลวง

ในตอนนี้น่าสนใจด้วยวิธีการเล่า ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบมีลับลมคมในตลอด แม้ไปกลาง ๆ เรื่อง เราจะเริ่มเดาพล็อตหลักของตอนนี้ได้ก็ตามว่าการสาปแช่งในตอนนี้ว่าด้วยเรื่องรัก ๆ ไคร่ ๆ ความหึงหวง แต่กระนั้นมันก็ยังน่าสนใจว่าแล้วคำสาปแช่งนี้มันเป็นอย่างไร ตัวประหลาดที่ไล่ฆ่าผู้คนรอบตัวนั้นคือสิ่งใด อะไร ไงกันแน่ สิ่งที่ติดใจเรามากคือการแสดงของ กวาง ที่เรียกได้ว่าเผ็ชเข็ดฟันสวยเซ็กซี่สมบทบาทมาก ๆ คือเธอนี่แบกหนังอยู่สบาย ๆ เลย เพราะการแสดงส่วนอื่นก็ทำได้ดีด้วยไม่ใช่แค่ว่าสวยไปเรื่อย ๆ โดยกิมมิกที่เชื่อมตอนแรกกับตอนนี้ก็คือเครื่องเล่นแผ่นเสียงจากตอนแรกนั่นเอง

นอกจากนั้นหนังยังใบ้ถึงอำนาจที่มอมเมาผู้คนในยุคสายลมแสงแดดนี้ก็คือ คำว่ารัก โดยไม่ได้หมายถึงความรัก แต่เป็น รัก ที่เราหล่อหลอมจากเพลง เอ็มวี หนัง เป็นภาพจำที่กลายเป็นการถือครองยึดครองวัตถุมากกว่า คนที่เรารัก เป็นอีกตอนที่น่าสนใจแม้สารจะไม่ได้ว้าวมากนักเพราะพล็อตความรักมันเกร่อมามากแล้วในแต่ละสื่อ ทว่าการใช้ปริศนาบวกกลวิธีการหลอนประสาทตัวละครนั้นถือว่าทำได้น่าสนใจและดีทีเดียว

Chapter 3: เมียแช่ง

ซัน (หน่อง ธนา) ชายหนุ่มผู้ซึ่งพยายามเป็นที่ยอมรับ และเป็นสามีที่ดีของจีจี้ผู้เป็นภรรยา วันหนึ่ง เขาเกิดจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงสามวันที่ผ่านมา และเขารู้สึกว่ามีอะไรตามหลอกหลอนเขาตลอด จนคนรอบข้างต้องหาวิธีช่วยเหลือเหตุการณ์ที่เขาต้องเผชิญ ปะติดปะต่อกันถึงสาเหตุของความทรงจำที่หายไป ท้ายสุดทุกอย่างก็ถูกเฉลย และทุกคนก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นอันเกิดจากพวกเขาเอง

นี่เป็นตอนที่ทดลองอะไรมากสุด มีของเยอะมาก แต่ปล่อยมาชนปนเปมั่วไปหน่อย ทำให้พล็อตหลักเลือนลางและกลายเป็นตอนที่เฟลที่สุดใน 3 ตอน ช่วงแรกนั้นหนังทำได้ค่อนข้างดีกับการผุกปริศนาซึ่งเหมือนเป็นเทคนิคการเล่าที่ผู้กำกับใช้มาตลอดทุกตอนให้คนสนใจติดตามค้นหาความจริง ทว่ากับตอนนี้นั้นกลับใส่ทิศทางของปริศนามามั่วเกินไป ทั้งเรื่องผีผู้หญิงที่หน้าตาคล้ายแฟนของพระเอก ภาพหลอนในวัยเด็กที่พระเอกแอบเห็นคุณครูบังอรเล่นคุณไสย เพื่อนสาวที่ทำงานของพระเอกที่โนโซเชี่ยลรุมแช่งเพราะบางอย่างที่พระเอกทำไว้ และความทรงจำของพระเอกที่หายไป มีเรื่องการสะกดจิต และพิธีสาปแช่งมาร่วมอีก ทั้งอารมณ็มีทั้งสืบสวน ทั้งผี ทั้งตลก ซึ่งยังไม่กลืนเป็นเนื้อเดียวกันนักโดยเฉพาะสัดส่วนความเป็นตลกที่หลุดเหมือนน้ำคนละเนื้ออยู่ ส่วนกิมมิกที่เชื่อมกับตอนที่ 2 ก็มีรูปปั้นเทพีที่ใช้ประกอบพิธีสาปแช่ง

แต่ถึงกระนั้นถ้ามองถึงแก่นการสื่อสารในตอนนี้แล้วนั่นต้องยอมรับว่าน่าสนใจมาก ๆ เพราะแม้เปลือกมันจะพูดเรื่องความรักความสัมพันธ์ แต่ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ มันพูดถึงอำนาจสถาบันการสอนที่หล่อหลอมเด็กไทยขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่บ้าน หรือครูที่โรงเรียนที่กินเวลาการเติบโตของเด็กคนหนึ่งขึ้นมามากที่สุด มันมีเสียงอย่าง โง่อย่างแกจะเลี้ยงชีวิตตัวเองยังไง วาดรูปอยู่ได้จะเอาไปทำอะไรได้ อะไรแบบนี้อยู่ตลอดเวลาการอยู่ในวงกตของความทรงจำของพระเอก ซึ่งท้ายที่สุดหนังก็ให้ทางออกที่ตลกร้ายดีเหมือนกัน กับการต่อสู้กับสถาบันที่หล่อหลอมเรามาทั้งหมดจนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นต้องไปดูในโรงกันเองนะครับ

นอกจากเนื้อหาที่วางปริศนาน่าติดตาม นัยยะที่ซ่อนคมคาย วิธีการหลอนที่แปลกใหม่ หนังยังมีโปรดักชั่นที่จัดว่าดีน่าสนใจทั้งการถ่ายภาพ วางสี โลเกชั่น คอสตูม และที่น่าจะต้องพูดถึงคือเอฟเฟกต์การแต่งหน้าผี ทำปีศาจ รวมถึงซีจีที่พอดีไม่มากน้อยเกินไป พูดได้ว่าหนังโดยรวมเป็นหนังไทยนอกสายตาที่ แอบดี แอบมีของ น่าลองดูอยู่ไม่เบาเลยทีเดียวล่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook