รีวิว Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald - พวกมักเกิ้ลและเลือดสีโคลน

รีวิว Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald - พวกมักเกิ้ลและเลือดสีโคลน

รีวิว Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald - พวกมักเกิ้ลและเลือดสีโคลน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รีวิวฉบับนี้มีการเปิดเผยจุดสำคัญของ Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald

หลังจากที่ Fantastic Beasts 2 เข้าฉายทั่วโลก รวมถึงบ้านเรา คำวิจารณ์และผลตอบรับแตกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน ฝ่ายหนึ่งสำหรับ (ผู้อ้างตัวว่าเป็น) แฟน Harry Potter ในขณะที่อีกฝ่ายเป็นผู้ชมทั่วไปหรือคนที่ไม่ได้เป็นแฟนอย่างเหนียวแน่น กระทั่งนักวิจารณ์ที่มองว่าหนังภาคนี้ค่อนข้าง “ไม่เป็นมิตร” สำหรับคนดูในวงกว้างเมื่อเทียบกับภาคแรก

จริงอยู่ที่ Fantastic Beasts 2 ภาคนี้พยายามสานต่อความสำเร็จของโลกเวทมนตร์อันเป็นเรื่องราว “ก่อนหน้า” เหตุการณ์ใน Harry Potter แต่อย่าลืมว่า Fantastic Beasts นั้นต้นกำเนิดของมันที่แท้จริงนั้นคือ หนังสือสารานุกรมสัตว์วิเศษ ซึ่งเอาเข้าจริงหนังภาคแรกก็คือความพยายามที่จะลากทุกอย่างให้เข้ากับจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งสัตว์วิเศษเป็นแค่เพียงตัวประกอบของเรื่องราว แนวคิดดังกล่าวยิ่งปรากฏชัดใน The Crimes of Grindelwald มากกว่าเดิมเข้าไปอีก

ปัญหาประการใหญ่ของ The Crimes of Grindelwald คือการ “แวะเล่ารายทาง” ที่ไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องราวหลักๆซักเท่าไหร่ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว แผนการแหกคุกของกรินเดลวัลด์ (จอห์นนี่ เด็ปป์) ซึ่งเมื่อได้รับการเฉลยในช่วงท้ายเรื่องนั้น ที่จริงแล้วมันมีแรงจูงใจและผลกระทบต่อบทภาพยนตร์ในภาคนี้ แถมยังมีความน่าสนใจ ว่าทำไมเขาจึงมีความคิดที่จะกำจัดคนที่ไม่ใช่เลือดบริสุทธิ์ นั่นก็คือมักเกิ้ล (มนุษย์ปกติ) และเลือดสีโคลน (คนที่มีเลือดผสมระหว่างพ่อมดแม่มดและมนุษย์) นั่นก็เพราะเขากำลังมองเห็นหายนะที่คืบคลานเข้ามาในรูปแบบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นฝีมือของมักเกิ้ล ถ้าหนังเลือกจะขยายความแผนการดังกล่าว มันคงจะช่วยทำให้เรื่องราวในหนังภาคนี้ มีจุดสำคัญอันเป็นแก่นของเรื่องมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าเสียดายประการถัดมา คือช่วงเวลาแรกของหนังค่อนข้างน่าเบื่อ เนิบช้าและวิธีการออกแบบตัวละครมนุษย์ในหนังภาคนี้ค่อนข้างแห้งแล้งเสน่ห์ เมื่อเทียบกับภาคแรก เราคงจดจำได้ว่า เจค๊อบ (แดน โฟเกลอร์)และควินนี่ (อลิสัน ซูดอล) นั้น เป็นตัวละครที่น่ารักและน่าเอาใจช่วยให้ทั้งสองมีโอกาสได้ลงเอยซึ่งกันและกัน และคนดูใจสลายแค่ไหนที่คนใดคนหนึ่งต้องลืมเลือนทุกอย่างเพื่อกลับไปอยู่ในโลกของตัวเอง แต่ในภาคนี้พวกเขากลับกลายเป็นตัวละครที่ดูผิดที่ผิดทางและน่ารำคาญมากกว่าเคมีจะเข้ากันอย่างเคย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความพยายามทำให้พวกเขา “ตลก” อย่างยัดเยียด

สิ่งสุดท้ายคือบทภาพยนตร์ในภาคนี้ซึ่งเจ.เค.โรว์ลิ่ง ยังกลับมารับหน้าที่เดิม ยิ่งพิสูจน์ให้เราเห็นว่าเธอยังทำหน้าที่ในการเขียนบทได้ไม่ค่อยลงตัวจริงๆ ว่าการเขียนบทภาพยนตร์นั้นแตกต่างจากการเขียนนิยายที่จะใส่รายละเอียดอะไรเข้ามาก็ได้ เปรียบเทียบง่ายๆคือตอนที่ Harry Potter เป็นภาพยนตร์นั้น ได้รับการดัดแปลงมาจากตัวนวนิยาย มีการคัดเลือกเรื่องราว ลดทอนรายละเอียดและเลือกจะเล่าในสิ่งที่นำไปสู่จุดไคลแมกซ์ แต่ในขณะที่ The Crimes of Grindelwald กลายเป็นใส่แต่รายละเอียด แต่ลืมที่จะเล่าสิ่งที่ “จำเป็น” ต่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมของตัวละคร ส่งผลให้ไคลแมกซ์ (ช่วงเวลาในลานประชุมใต้สุสาน) กลายเป็นการยัดทะนานข้อมูลมากมายไปหมด เพียงเพื่อจะนำไปสู่หนังภาคต่อไปเท่านั้น

ความหละหลวมในการเล่าเรื่องของ The Crimes of Grindelwald จึงกลายเป็นแผลสำคัญประการใหญ่ ที่ “เลือดบริสุทธิ์” ก่นด่า เลือดสีโคลนและมักเกิ้ลว่า ก็เพราะคุณไม่ใช่ตัวจริง จึงไม่ชอบหนังเรื่องนี้ แล้วความคิดเช่นนี้จะแตกต่างอะไรกับตัวร้ายของหนังอย่างกรินเดลวัลด์กันเล่า หากเราไม่ยอมเคารพในความคิดที่หลากหลายและแตกต่างของคนอื่น

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook