A-X-L หมาเหล็กเพื่อนยาก

A-X-L หมาเหล็กเพื่อนยาก

A-X-L หมาเหล็กเพื่อนยาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่เรารู้กันดีว่าบรรดาเจ้าตูบสี่ขานั้น เป็นเพื่อนรักของมนุษย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ถ้าเกิดวันหนึ่งสุนัขได้พัฒนาการล้ำหน้าไปอีกขั้นจนกลายเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารล่าสุดที่มีลักษณะคล้ายกับสุนัข จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง A-X-L คือจินตนาการเรื่องล่าสุดที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์และหุ่นยนต์ในรูปแบบของสัตว์เลี้ยง

 

 

“แอคเซล”

“แอคเซล” ยุทโธปกรณ์ทางการทหารล่าสุดที่มีลักษณะคล้ายกับสุนัข มันคือเครื่องจักรสังหารประสิทธิภาพสูง เพียบพร้อมไปด้วยอาวุธสังหารและความสามารถในการเคลื่อนที่อันฉับไว รวมถึงปัญญาประดิษฐ์อันล้ำสมัย แต่ชะตากรรมของเครื่องจักรสังหารตัวนี้ก็ได้เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อมันได้พบกับ ไมลส์ (อเล็กซ์ นิวสแตเทอร์) เด็กหนุ่มผู้ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซด์ผาดโผน ผู้กลายเป็นทั้งเพื่อนและเจ้าของ แต่นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างแอคเซลต้องการนำตัวมันกลับมา ไมลส์จึงต้องร่วมมือกับ ซาร่า (เบ็คกี้ จี) เพื่อนสาวสุดเปรื่อง เพื่อปกป้องไม่ให้เพื่อนซี้สี่ขาตัวใหม่ของเขาต้องกลายเป็นเครื่องจักรสงคราม

 

 

ผลงานการกำกับเรื่องแรก ของผู้กำกับหน้าใหม่

นี่คือผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ โอลิเวอร์ เดลี่ ซึ่งจุดเริ่มต้นการทำงานของเขาเริ่มต้นจากการทำงานใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างแอนิเมชั่น 3 มิติ แต่ไม่ใช่สำหรับวงการภาพยนตร์ เขาเริ่มต้นที่วงการชีวการแพทย์และวิทยาศาสตร์

การที่เขาคลุกคลีกับวงการวิทยาศาสตร์ทำให้โอลิเวอร์มีโอกาสเรียนรู้ข้อมูลความรู้อันเป็นประโยชน์ ประกอบกับการที่เขาเป็นแฟนหนังไซไฟยาวนาน เดลี่ได้ใช้ความรู้ของแอนิเมชั่นคอมพิวเตอร์และเริ่มพัฒนาหนังสั้นที่เล่นกับแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์และเทคโนโลยี “หนังแอนิเมชั่น 3 มิติยุคแรกๆ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำหนังของผมเพราะมันใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณสามารถเข้าถึงโลกแห่งวิทยาศาสตร์”

 

 

แล้วผลที่ออกมาก็คือหนังสั้น 7 นาทีเรื่อง Miles เกี่ยวกับวัยรุ่นสิงห์มอเตอร์ไซค์คนหนึ่งที่พบกับหุ่นยนต์คล้ายสุนัขแสนรอบรู้ในทะเลทรายแคลิฟอร์เนีย “ช่วงที่ไอเดียนี้ผุดขึ้นมาในหัวของผม ผมกำลังนึกถึงหนังสัตว์ประหลาดไซไฟยุคแรกอย่าง ‘Frankenstein’ และ ‘The Island of Lost Souls’ ที่สิ่งมีชีวิตถูกสร้างโดยนักวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบขุมพลัง หรือโดยทหารในรูปแบบแนวทางที่จะควบคุมคนอื่นๆ หนังเหล่านั้นเผยให้เห็นว่าบางครั้งมนุษย์ก็คือปีศาจขนานแท้ และปีศาจก็คือบทสะท้อนของความหวาดกลัวและความละโมบของเราเอง”

 

 

ด้วยการผสานกันระหว่างฟุตเทจคนแสดงและเอฟเฟกต์ซีจีที่น่าประทับใจ หนังเรื่อง Miles ก็ออกฉายทางออนไลน์ในวันที่ 10 มกราคม 2015 และมันก็ดึงดูดความสนใจของคนในแวดวงฮอลลีวูดอย่างรวดเร็ว ผู้อำนวยการสร้าง เดวิด โกเยอร์ และ เควิน ทูเรน จาก Phantom Four Films เสนอโปรเจ็กต์และช่วยเดลี่พัฒนาสคริปท์หนังขนาดยาวที่มีการขยายเรื่องราวและเพิ่มฉากแอ็คชั่นเข้าไป ทำให้หนังสั้นเรื่องนี้นี่เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ  A-X-L


 

จากหนังสั้นสู่จอเงิน

เมื่อสตูดิโออย่าง Lakeshore ที่ร่วมลงทุนกับหนังเรื่องนี้ อยากจะให้ A-X-L เป็นหนังสำหรับครอบครัวที่ชมกันได้ทุกเพศทุกวัย เพื่อตอบโจทย์กับตลาดที่เหมือนว่าช่วงเวลานี้จะขาดแคลนหนังแบบนี้อยู่ ซึ่งเรื่องราวในเวอร์ชั่นหนังยาวจะยังคงดำเนินเรื่องอยู่บนโลกของมอเตอร์ไซค์วิบากอันน่าตื่นเต้น ซึ่งจะโฟกัสไปที่ตัวละครเอกของเรื่องอย่างไมลส์ (อเล็กซ์ นิวสแตเทอร์) ซึ่งได้พบกับหุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่มีรูปลักษณ์คล้ายเป็นสุนัข แต่ขนาดตัวใกล้เคียงกับหมี!

 

 

การเนรมิตหุ่นยนต์ในหนัง

แม้ว่าในเวอร์ชั่นหนังสั้น ตัวผู้กำกับอย่างโอลิเวอร์ เดลี่จะใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิค สร้างสุนัขขึ้นมา แต่การทำหนังยาว การที่เปิดโอกาสให้นักแสดงมีส่วนร่วมกับสิ่งที่จับต้องได้จริงน่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับการทำงานมากกว่า ทีมงานจึงเลือกใช้นักแสดงอย่างโดเรียน คินกิ สตั้นแมนผู้เชี่ยวชาญด้านการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ สวมชุดอยู่ข้างในหุ่นยนต์ เนื่องจากหุ่นของ AXL ที่ใช้ในการถ่ายทำนั้นสร้างขึ้นด้วยวัสดุหลายอย่าง อาทิ ยูรีเทน เรซิน ใยแก้ว และอะลูมิเนียม ชุดนี้มีน้ำหนักประมาณ 150 ปอนด์ หรือ 68 กิโลกรัม ประกอบไปด้วยกลไกที่มีลูกเล่นต่างๆ อยู่อย่างครบถ้วน

 

 

เมื่อจินตนาการสะท้อนความเป็นจริง

ถึงแม้ว่า AXL จะเป็นภาพยนตร์แนวผจญภัยที่เหมาะกับคนในทุกเพศทุกวัย มันก็ยังสะท้อนถึงปัญหาบางอย่างที่อยู่ในสังคม อย่างเช่นปัญหาด้านการใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไปในทางที่ไม่ถูกต้อง มนุษย์เราเป็นเผ่าพันธ์ที่ชอบการทำร้ายกันเอง เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มักจะถูกพัฒนาในรูปแบบของอาวุธยุทโธปกรณ์ สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือคนที่มีอำนาจและได้เทคโนโลยีเหล่านั้นไว้ครอบครอง อำนาจสามารถนำพาผู้คนให้หลงผิดได้อย่างรวดเร็ว

ต้นแบบของ AXL ที่เดลี่สร้างขึ้นนั้นมาจากทฤษฎีที่มีอยู่จริงในวงการปัญญาประดิษฐ์ มันเรียกว่าการพัฒนาตนเองที่มาจากการคำนวณซ้ำซ้อน ได้ การพัฒนานั้นไม่ได้เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มันจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มันจะฉลาดขึ้น มีความสามารถมากขึ้น จนกระทั่งมันมีความสามารถมากกว่าผู้สร้างของมันเอง นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มีความเชื่อในทฤษฎีนี้

ประกอบกับโลกปัจจุบันที่เข้าใกล้ยุคสมัยของปัญญาประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ล้วนแต่มีความฉลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว หลายสิ่งที่ในอดีตเราคิดว่ามันเป็นเพียงแค่เรื่องแต่งก็ได้กลายเป็นความจริงในปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า มันไม่ใช่ปัญญาประดิษฐ์ที่จะเป็นต้นเหตุของปัญหาเสมอไป ผู้คนที่ควบคุมปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นต่างหากที่เป็นตัวปัญหา

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook