วิจารณ์หนัง ป๊าด 888 แรงทะลุนรก ภาพสะท้อนของคนหาเช้ากินค่ำ

วิจารณ์หนัง ป๊าด 888 แรงทะลุนรก ภาพสะท้อนของคนหาเช้ากินค่ำ

วิจารณ์หนัง ป๊าด 888 แรงทะลุนรก ภาพสะท้อนของคนหาเช้ากินค่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าหากสตูดิโออย่าง GDH จะทำหนังส่วนใหญ่ออกมาเพื่อตอบกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลาง (เด็กมัธยมตามหัวเมืองใหญ่, เด็กมหาวิทยาลัย และหนุ่มสาวออฟฟิศ) หนังของค่าย Film GURU ของ พชร์ อานนท์ กลับมักจะมีตัวละคร “คนชายขอบ” (กะเทย, เกย์, เด็กช่างกล) รวมไปถึงตัวละครชนชั้นล่าง (อาชีพหาเช้ากินค่ำ ฐานะทางการเงินน้อย) ซึ่งหนังเรื่องล่าสุดอย่าง ป๊าด 888 ได้หยิบเอาเรื่องของรถเมล์สาย 8 เอามาเป็นฉากหลังของเรื่องราวทั้งหมด  

เอาเข้าจริงป๊าด 888 แทบจะเป็นหนังที่หยิบเอาเหตุการณ์ “ร่วมสมัย” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เอามาร้อยเรียงเข้าไว้ด้วยกันแล้วใช้ตัวละครหลักของเรื่องเล่าสถานการณ์เพื่อเสียดสี สั่งสอนสถานการณ์เหล่านั้นด้วยท่าที่ตลกโปกฮา 

น่าสังเกตตรงที่ตัวละครที่เป็นตัวเดินเรื่องของหนังเรื่องนี้เป็นคนขับรถเมล์และกระเป๋ารถเมล์ ซึ่งพื้นเพของตัวละครเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่าพวกเขามีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ การจะเดินทางมาทำงานของตัวละครเหล่านี้ พวกเขาก็ต้องอาศัยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอย่างเรือด่วน เพื่อเดินทางมาทำงานยังอู่รถเมล์สาย 888 (หรือสาย 8) ก่อนจะขับไปสู่เส้นทางต่างๆ

ระหว่างทางของเรื่องตัวละครของเรื่องก็ต้องพบปะผู้คนมากมาย หลากหลายอันเป็นภาพสะท้อนของผู้คนในเมืองกรุงฯ ที่เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ซึ่งพวกเขาก็มีวิธีการรับมือในวิธีที่ต่างกันออกไป ซึ่งเป็นที่มาของเหตุการณ์ดราม่าและมุกตลก (ที่ออกจะฝืดมากกว่าจะชวนขบขัน) 

บริบทความตลกของหนังเกิดจากการสะท้อนภาพความไร้ประสิทธิภาพของระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย ว่านอกจากคนขับจะปราศจากความระมัดระวังตัวจนจะทำให้รถเกิดอุบัติเหตุอยู่รอมร่อ, มารยาทของคนขับรถและกระเป๋ารถเมล์ที่พูดจามึงมาพาโวย การขับรถที่หวาดเสียวและอันตราย เหล่านี้เป็นภาพที่หนังพยายามสะท้อนความเป็นจริงออกมา (ในระดับเกินจริง เหนือจริง) 

สิ่งที่ค่อนข้างน่ารำคาญใจอยู่บ่อยครั้งกับหนัง ป๊าด 888 คือความพยายามจะเสี้ยมสอนคนดูผ่านปากของตัวละครแจ็ส ชวนชื่น ที่พยายามจะทำตัวเป็นคนดีของสังคมในหลายครั้งของหนัง แต่พอพูดดียังไม่ทันน้ำลายแห้ง ตัวละครนี้ก็พร้อมจะทำพฤติกรรมเสี่ยงตายในฉากถัดไปทันที (แบบนี้เรียกปาว่าตาขยิบหรือเปล่า?)

ถึงจุดประสงค์หลักของหนังเรื่องนี้อาจจะสร้างขึ้นมาเพื่อขายความตลก เบาสมองก็ตาม แต่เราก็ต้องบอกว่าภาพยนตร์ของ พชร์ อานนท์ (หรือพี่พจน์ อานนท์) ก็ยังมีจุดขายกับการเล่นตลกกับเรื่องชีวิตประจำวันของชนชั้นล่าง การดีไซน์ตัวละครที่เป็นตัวแทนของคนกลุ่มดังกล่าว เป็นเหมือนภาพตัวแทนที่เข้าถึงและสะท้อนภาพพฤติกรรมของชนชั้นนี้ในทางอ้อมนั่นเอง 

@พริตตี้ปลาสลิด 

2 คะแนนจาก 5 คะแนน 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง ป๊าด 888 แรงทะลุนรก ภาพสะท้อนของคนหาเช้ากินค่ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook