วิจารณ์ควบ 2 Single Lady และ The Theory of Everything

วิจารณ์ควบ 2 Single Lady และ The Theory of Everything

วิจารณ์ควบ 2 Single Lady และ The Theory of Everything
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

เหตุผลที่ต้องหยิบยกหนังทั้งสองเรื่องมาพูดพร้อมๆกันเพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นหนังรักโรแมนติกด้วยกัน สำหรับ Single Lady เพราะเคยมีแฟน หนังสามารถย่อยคำวิจารณ์แบบรวบรัดได้เลยว่านี่คือหนังที่ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ นั้นแสดงเป็นตัวเอง ดึงเสน่ห์ของตัวเองออกมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ท้ายที่สุดแล้วความยาวของหนังร่วมกว่า 150 นาทีไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่เราต้องนั่งดูนางเอกของเรื่องวิ่งแก้กรรมกับแฟนเก่าจนรู้สึกได้เลยว่าหนัง “ยืดยาว” และนานจนเกินพอดี จนเราตั้งคำถามว่าผู้กำกับนี่ตั้งใจทำหนังแข่งกับพี่คริสโตเฟอร์ โนแลนในหนังอย่าง Interstellar เหรอครับ ทั้งหมดทั้งมวลที่เรากลับรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นมาเพื่อบอกจุดยืนว่าเป็นผู้หญิง “โสด” ก็เป็นชีวิตที่ดี อั้มพร้อมจะเป็นไอดอลให้สาวๆทั้งบ้านทั้งเมืองค่ะ แต่เปล่าเลย สิ่งที่หนังสื่อสารออกมานั้นสุดท้ายลึกๆแล้วตัวละคร “ไบร์ท” นั้นก็ยังอยากจะมีผู้ชายแบบผู้หญิงคนอื่นอยู่ดี 

สำหรับ The Theory of Everything นั้นมันหยิบยกเรื่องราว “ความรัก” ของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงระหว่างเจน ฮอว์คกิ้งและสตีเฟ่น ฮอว์คกิ้งมาบอกเล่าให้คนอื่นๆได้รับรู้ว่า ก่อนที่อัจฉริยะที่ป่วยทางร่างกายอย่างสตีเฟ่นจะอยู่มาถึงทุกวันนี้ เขาผ่านมรสุมชีวิตอะไรมาบ้าง 

ตัวหนังเริ่มเล่าเรื่องราวตั้งแต่สตีเฟ่น ฮอว์คกิ้ง(เอ็ดดี้ เรดเมนย์)เรียนในมหาวิทยาลัยและได้พบกับเจน(เฟเลซิตี้ โจนส์)ทั้งคู่รู้สึกเหมือนคลิ๊กกันในทันที แต่แล้วระหว่างที่กำลังคบหาดูใจกันได้สักระยะสตีเฟ่นก็ค้นพบว่าเขากำลังป่วยเป็นโรค ALS หรือโรคการเสื่อมของระบบประสาททำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจนจึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่าเธอจะแต่งงานกับสตีเฟ่นและมีลูกด้วยกัน แน่นอนว่าคนที่แบกรับภาระที่หนักกว่าก็คือฝ่ายหญิงอย่างเจนนั่นเอง

จุดร่วมประการสำคัญที่ต้องการจะสื่อสารกับผู้อ่านก็คือหนังทั้งสองเรื่องนี้ตัวละครหญิงของเรื่อง ต่างล้วนแล้วแต่มีแรงผลักดันที่สำคัญการทำให้หนังเล่าเรื่องไปข้างหน้า คนหนึ่งทำเพราะเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น ในขณะที่อีกคนทำเพื่อให้ชีวิตคู่ของตัวเองดีขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้วคนโสดโลกสวยแบบไบร์ทกลับเป็นภาพแฟนตาซีของผู้หญิง “อยากจะเป็น” ในขณะที่เจน ฮอว์คกิ้งเป็นคือภาพของผู้หญิงที่ “เป็นอยู่ในโลกแห่งความจริง” นั่นคือเธอพบว่าชีวิตหลังแต่งงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และสุดท้ายเมื่อความรักเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว มันก็ไม่อาจจะเยียวยาคนสองคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันได้อีกต่อไป 

หนึ่งในฉากที่ดีที่สุดและเป็นการแสดงที่น่าประทับใจที่สุดของ The Theory of Everything นั้นคือฉากที่สตีเฟ่นกำลังจะเดินทางไปต่างแดน โดยที่เขาไม่ได้ชวนภรรยาของตนไปด้วย วินาทีนั้นเองอารมณ์ทุกอย่างของตัวละครก็พรั่งพรูออกมา เจนรู้ว่ามันคงถึงเวลาแล้วที่ “คนรัก” ทั้งสองประคับประคองชีวิตคู่ของตัวเองมาถึงปลายทางแล้ว แต่มันไม่ใช่การแยกจากกันโดยความเกลียดชัง ทั้งคู่รู้ว่าความรักในแบบที่เคยเป็นมันไม่สามารถจะสานต่อกันได้แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว (และแน่นอนว่านี่เป็นฉากที่เรียกน้ำตาคนดูได้ดีที่สุดฉากหนึ่ง) 

สิ่งที่เราอยากจะเอาใจช่วยต่อหลังจากหนังจบลงก็คือการเชียร์ให้เอ็ดดี้ เรดเมนย์ได้รางวัลออสการ์จากบทนี้ 

 

Single Lady เพราะเคยมีแฟน 2 คะแนนจาก 5 คะแนน 

The Theory of Everything 3.5 คะแนนจาก 5 คะแนน

@พริตตี้ปลาสลิด 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วิจารณ์ควบ 2 Single Lady และ The Theory of Everything

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook