วิจารณ์หนัง American Sniper มองสงครามในอีกมุม

วิจารณ์หนัง American Sniper มองสงครามในอีกมุม

วิจารณ์หนัง American Sniper มองสงครามในอีกมุม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิจารณ์หนัง American Sniper มองสงครามในอีกมุม

 

สิ่งที่ไม่ค่อยจะน่าแปลกใจนักสำหรับหนัง ”โปรฝ่ายอเมริกา” หนักหน่วงขนาดนี้จะโดนใจประชาชนในประเทศตัวเองจนกวาดรายได้ล่าสุดไปที่ 204 ล้านเหรียญฯ และทำเงินในตลาดต่างประเทศไปอีก 47 ล้านเหรียญ สิริรวมรายได้แล้วตอนนี้คือ 252 ล้านเหรียญฯ อีกทั้งสามารถบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า American Sniper คงเป็นตัวแทนหนัง “มวลชน” ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้อย่างแท้จริง

 

แต่ถ้าหากพินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่แล้วเนื้อหาในการนำเรื่องราวจากชีวิตจริงของ “คริส ไคล์” พลทหารแม่นปืนสไนเปอร์ทีต้องไปทำภารกิจในประเทศอิรักนั้น ค่อนข้างธรรมดาและการรับบทบาทเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ของ “แบรดลีย์ คูเปอร์” ในเรื่องนี้ แม้จะยอมรับว่าเขาแสดงอารมณ์ออกมาได้ดี สมกับคนที่เริ่มสูญเสียจิตวิญญาณของความเป็นคนในสนามรบไปทีละเล็กทีละน้อย แต่น่าเสียดายที่บทบาททหารผู้สูญเสียตัวตนของตัวเองเช่นนี้ เรามักจะได้เห็น “บ่อย” ในหนังสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน

และแน่นอนมันไม่ได้แปลกใหม่เอาเสียเลยสำหรับการเป็นคู่แข่งบนเวทีออสการ์ปีนี้ในสาขานักแสดงนำชายที่มีตั้งแต่บุคคลที่มีมิติซับซ้อนกว่าอาทิ นักแสดงตกอับ(ไมเคิล คีตัน Birdman), สตีเฟน ฮอว์คกิ้ง(เอ็ดดี้ เรดเมย์น The Theory of Everything), นักถอดรหัสที่มีปมเรื่องตนเป็นเกย์(เบเนดิกซ์ คัมเบอร์แบช The Imitation Game), จอห์น ดู พอน มหาเศรษฐีจอมบงการ(สตีฟ เคอเรล Foxcatcher)


บทที่น่าสนใจกว่าใน American Sniper ก็คือภรรยาของคริส (เซียนน่า มิลเลอร์) ที่รอคอยการกลับมาอยู่บ้านของสามี ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเธอใจแป้วทุกครั้งที่รับสายโทรศัพท์ทางไกลมาจากอิรัก เพราะเธอไม่รู้เลยว่าวินาทีต่อไปของสามีเธอนั้นกระสุนสงครามของข้าศึกจะปลิดชีพคนที่เธอรักเมื่อใด และยิ่งไปกว่านั้นภาระในการอุ้มท้องลูกของเธอและการต้องเลี้ยงลูกในสภาพที่สามีตัวเองต้องไปรบในต่างแดนนั้น จัดได้ว่าเป็นภาระอันหนักหน่วงสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง

 

สภาวะของตัวละครเอกอย่างคริสนั้น แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นเขาจะรู้สึกจำเป็นต้อง “สังหาร” เด็กและผู้หญิงในสนามรบก็เพื่อจะดำรงรักษาชีวิตของกองทัพตัวเองเอาไว้ แต่ยิ่งเขาได้รับสมญานามว่าเป็นมือปืนที่สามารถกำจัดศัตรูได้ “จำนวน” มากขึ้นเพียงใดก็เหมือนว่าชื่อเสียงนี้จะแพร่กระจายออกไปในหมู่ทหารด้วยกันเองและบรรดาข้าศึกด้วยเช่นกัน และนั่นก็กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เขาถูกตั้งค่าหัวในการถูกสังหารด้วยเช่นกัน 

 

ผู้กำกับอย่างคลินต์ อีสต์วู๊ดนั้นสามารถเล่าเรื่องราวหนักๆของตัวละครไปพร้อมๆกับการนำเสนอฉากสงครามที่สร้างความลุ้นระทึกให้กับผู้ชมได้ในทุกช่วงฉากที่คริส ไคล์หยิบไรเฟิลแล้วส่องลำกล้องไปหาศัตรู แต่ในอีกมุมหนึ่งการจัดวางให้ชาวอิรักกลายเป็น “ตัวร้าย” ที่ดูโหดเหี้ยมอำมหิตตามที่เราได้เห็นในเรื่องนั้น ก็เรื่องได้ว่ามันสามารถสร้างความเกลียดชังให้กับผู้ชมมองชาวตะวันออกกลาง(รวมไปถึงชาวมุสลิม) ว่าเป็นคนหัวรุนแรงไปโดยปริยาย

 

จริงอยู่ว่ามันอาจจะเป็นแค่หนังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง แต่หนังก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมและความรู้สึกเหล่านี้ก็สามารถฝังและแทรกซึมอยู่ในระบบความคิดของเราได้เช่นกัน 

 

ภาพจาก วอร์เนอร์บราเทอร์ประเทศไทยจำกัด 

 

@พริตตี้ปลาสลิด

มอบให้ 3.5 จาก 5 



อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง American Sniper มองสงครามในอีกมุม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook