วิจารณ์หนัง อุโมงค์ผาเมือง

วิจารณ์หนัง อุโมงค์ผาเมือง

วิจารณ์หนัง อุโมงค์ผาเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มี "เรื่องจริง" อยู่อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่ว่างานชิ้นนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ถ้ามีการกล่าวขานและได้รับการ ยอมรับในทุกยุคทุกสมัย แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่สิ่งนั้นยังคงดูโดดเด่นอยู่เสมอ เรามักจะให้นิยามกับสิ่งๆนั้นว่า เป็นผลงานที่ "คลาสสิค" อย่างเรื่องของ Rashomon (ราโชมอน) ผลงานของ อากิระ คุโรซาวา อันเกิดจากเรื่องสั้น 2 เรื่อง (The Cedar Grove หรือ In a Grove + The Rashomon Gate หรือ Rashomon) ของ ริวโนสุเกะ อะคุตางาวะ ที่เคยถูกสร้างเป็นภาพยตร์มาแล้วเมื่อปี 1950 ก็ถือเป็นงาง คลาสสิค ในโลกภาพยตร์อีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน เมนหลักๆ ของเรื่องนี้จริงๆแล้วก็ไม่มีอะไรมากนัก เริ่มต้นจากมีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้น เมื่อซามูไรคนหนึ่งพาเมียเดินทางเข้าไปในป่า และได้เจอกับโจรป่าผู้โหดเหี้ยมคนหนึ่ง เขาได้หลอกล่อและสามารถจับซามูไรมัดไว้ได้ และโจรก็จะลงมือข่มขืนเมียของเขา ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะมีผู้พบศพซามูไรในป่าแห่งนั้น เนื้อเรื่องมีอยู่แค่นี้จริงๆ ครับ แต่ความสนุกของเรื่องนี้อยู่ที่มุมมองต่างๆ ของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ และพยานที่รู้เห็น ซึ่งก็ต่างเล่าเรื่องในสิ่งที่เขาเห็น หรืออยากจะเห็น ทำให้เรื่องราวจากปากของแต่ละคนแตกต่างกันราวกับเป็นคนละเรื่อง ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในป่าถูกบิดเบือนให้คลาดเคลื่อน จนยากที่จะสามารถสรุปได้ว่า "อะไรคือความจริง " อะไรคือความเท็จ สำหรับในไทยเรา พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยนำวรรณกรรมชินนี้มาดัดแปลง เป็นสำนวนไทยๆ ทำเป็นละครเวทีมาแล้วครั้งหนึ่งในชื่อว่า ราโชมอน (ประตูผี) และได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อมา ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้นำบทประพันธ์เรื่อง ราโชมอน(ประตูผี) มาดัดแปลงอีกครั้งทำเป็นละครเวทีจัดแสดงที่มณเฑียนทองเธียเตอร์เมื่อยี่สิบปีทีผ่านมา และเนื่องในวาระครบรอบ 101 ของปรมาจารย์ผู้กำกับ อากิระ คุโรซาวา (เกิด 23 มีนาคม 1910) ในปีนี้ Rashomon (ราโชมอน) ได้ถูกนำมาดัดแปลงอีกครั้งในชื่อว่า อุโมงค์ผาเมือง กำกับการแสดงโดยผู้กำกับจอมละเมียดอย่าง ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับเรื่องย่อในเวอร์ชั่น อุโมงค์ผ่าเมือง มีอยู่ว่า ในปีพุทธศักราช 2110 ณ นครผาเมืองแห่งอาณาจักรเชียงแสนอันรุ่งเรือง วันหนึ่งหลังจากเกิดวิบัติการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ทั้งอัคคีภัยครั้งใหญ่หลวง แผ่นดินไหวอันรุนแรง และโรคร้ายระบาดคร่าชีวิตประชาชนไปกว่าครึ่งนคร ก็เกิดคดีฆาตกรรม ปริศนาที่น่าสะพรึงกลัวและซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดที่จะค้นหาความจริงได้ โจรป่าสิงห์คำ (ดอม เหตระกูล) ผู้โหดร้ายที่สุดในแผ่นดินถูกจับได้ในคดีฆาตกรรมขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า (อนันดา เอเวอริงแฮม) และข่มขืน แม่หญิงคำแก้ว (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ภรรยาของขุนศึกในป่านอกเมือง ขณะที่สองสามีภรรยาเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปเยี่ยมญาติที่นครเชียงคำ จากคำให้การของโจรป่าและแม่หญิง สร้างความปั่นป่วนและพิศวงงงงวยให้แก่ เจ้าผู้ครองนคร (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) และประชาชนผู้มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ต่างยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า "ตนเป็นผู้ฆ่าขุนศึก" เจ้าหลวงจึงเรียก "ผีมด - ร่างทรง" (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงดวงวิญญาณของขุนศึก เพื่อค้นหาความจริง แต่แล้ววิญญาณของขุนศึกกลับให้การผ่านร่างทรงว่า ตนต่างหากที่ฆ่าตัวตายเอง! โดยเหตุการณ์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านการพบเห็นและสนทนาของ พระหนุ่ม (มาริโอ้ เมาเร่อ), ชายตัดฟืน (เพ็ชรทายวงษ์คำเหลา) และ สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ภายในอุโมงค์ผีที่ผาเมือง ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดทั้ง 3 คนจึงให้การปิดบังความจริงที่เกิดขึ้น และ สิ่งไหนคือความจริง สิ่งไหนคือความเท็จ กันแน่ และเรื่องราวทั้งหมดคืออะไรกัน? ผมเห็นภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ครั้งแรก ก็ไปสะดุดตากับเรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ของหม่อมน้อย ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล เพราะว่าดูจากการแต่งตัว เสื้อผ้าหน้าผม ใช่เลย และก็ไม่ผิดครับ เรื่อง อุโมงค์ผาเมือง เป็นการกำกับของท่านหม่อนน้อยจริงๆ ถ้าเราจะพูดถึงตัวผู้กำกับท่านนี้ได้ฉายาว่า "ผู้กำกับจอมละเมียด" แม้ว่าผลงานเรื่อง อุโมงค์ผาเมือง นี้เป็นเพียงเรื่องที่ 3ของท่าน แต่สองเรื่องที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น "อันดากับฟ้าใส" หรือ "ชั่วฟ้าดินสลาย" ก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาพยนตร์คุณภาพที่ได้รับรางวัลจากสถาบันภาพยนตร์ต่างๆในไทย การทำงานของท่านหม่อมน้อย ทุกอย่างต้อง เป๊ะๆ ทั้งหมด ดูดี ดูสวย เราจะเป็นว่า ทุกเรื่องที่หม่อมน้อยกำกับ การถ่ายภาพจะดี มีมุมสวยๆเยอะมาก บางมุมที่สวยสุดๆ ภาพก็จะถูกแช่ไว้สัก3-5 วินาที เสื้อผ้าหน้าผมของตัวแสดงต้องไม่มีที่ติ แต่ส่วนมากแล้วทั้งสามเรื่องก็เป็นภาพสวยๆที่เกิดจากธรรมชาติแทบทั้งสิ้น ท่านหม่อมน้อยเป็นคนเก่ง จึงสามารถจับความงามตามธรรมชาติ มาแสดงความรู้สึกผ่านทางภาพให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามไปด้วย นับว่าท่านเป็นผู้กำกับที่มีคุณภาพดีจริงๆ

สำหรับนักแสดงในเรื่องนี้ บางส่วนก็มาจากเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย โดยเฉพาะ อนันดา เอเวอริงแฮม เรียกว่าเป็นนักแสดงคู่บุญของท่านหม่อมน้อยเลยก็ว่า ได้ เพราะนอกจากจะแจ้งเกิดพระเอก อนันดา เอเวอริงแฮม จากเรื่อง อันดากับฟ้าใส เมื่อปี 1997 พร้อมกับการแจ้งเกิดผลงานเรื่องแรกของท่านด้วย พอมาเรื่องที่สอง ชั่วฟ้าดินสลาย ท่านก็ได้ อนันดา มาเป็นดารานำให้อีก และเรื่องนี้ อุโมงค์ผาเมือง ก็ยังคงเป็น เขาเช่นเคย เรื่องการแสดงของอนันดาในเรื่องนี้ บทอาจจะทำให้ดูอนันดาแข็งๆไป ไม่มีอะไรมาก เป็นตัวเดินเรื่องในแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น แต่การแสดงที่ผ่านมา15 ปี กับ 18 เรื่อง ก็การันตีความสามารถในด้านการแสดงของอนันดาเป็นอย่างดี สำหรับในเรื่อง นี้ อนันดาก็ทิ้งปริศนาว่า "ผมเป็นคนฆ่าตัวตายเอง" คุณพลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ หรือ แม่หญิงคำแก้ว ก็เป็นนักแสดงอีกท่านหนึ่งที่ได้มาร่วมแสดงในเรื่องนี้ด้วย สำหรับตัวบทของคุณพลอยนั้นก็น่าจะเท่าๆกันกับคุณอนันดา เป็นแค่ตัวเดินเรื่องในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยทิ้งปริศนาไว้ว่า "ฉันเป็นคนฆ่าสามีเอง" และจะขาดเสียไม่ได้กับตัวละครอีกตัวที่เป็น โจรป่าสิงห์คำ แสดงโดย ดอม เหตระกูล นักแสดงคุณภาพอีกคนที่มาช่วยทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สนุกยิ่งขึ้น กับปริศนาที่ทิ้งไว้ว่า "ผมเป็นคนฆ่าเขาเอง" สามคนที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เหมือนเป็นนักแสดงที่ออกมาในช่วงเล่าเรื่องเท่านั้น บทนำจริงๆน่าจะอยู่ที่สามคนนี้ พระหนุ่ม (มาริโอ้ เมาเร่อ), ชายตัดฟืน (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) และ สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ที่คุยกันตถึงเรื่องนี้ภายในอุโมงค์ผีที่ผาเมือง

บอกตามตรงผมขัดใจกับบทพระของน้องมาริโอ มาก ที่หัวเป็นด่างเป็นดวงอย่างนั้น อาจจะเป็นเพราะว่า ช่วงนี้น้องมาริโอมีงานแสดงเยอะหลายเรื่องด้วยกัน เลยไม่อาจที่จะโกนผมจริงๆได้ ก็เลยต้องใช้ถุงน้องสวมแล้วตกแต่งเอา ซึ่งก็ออกมาอย่างที่เห็นนั้นแหละครับ เป็นด่างเป็นดวงจริงๆ กับเรื่องคิวของพระตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นประเด็น แต่พอหาข้อมูลมา ก็ทราบว่า พระทางเหนือสมัยก่อน สามารถไว้คิวได้ ก็แสดงว่าถูกต้องแล้วครับ ผู้กำกับทำงานมาดี อีกคนหนึ่งที่น่าชม คือคุณหม่ำ จริงๆแล้วเขาเป็นดาราตลกที่เพียงเห็นหน้าก็ตลกแล้ว แต่กลับเรื่องนี้ ด้วยตัวบท ทำให้คุณหม่ำตลกไม่ได้ ห้ามตลกเด็ดขาด และคุณหม่ำก็ทำได้ดีเสียด้วย นอกจากคุณจะติดภาพตลกแบบเหนี่ยวแน่น เห็นแค่หน้าก็ตลกแล้ว นั่นก็อีกเรื่องนึง ภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่ภาพยนตร์ตลก ไม่ใช่ภาพยนตร์บู๊ ไม่ใช่ภาพยนตร์ดราม่า แต่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงจิตใต้สำนึกของผู้คน ที่บางครั้งก็คิดแต่เพียงแค่เอาตัวรอด หรือไม่ก็พวก เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นไว้ก่อน ประเภทได้ข้อมูลมาแบบหนึ่งแล้วพูดต่อๆกันไป กลายเป็นข้อมูลอีกแบบหนึ่งมา ทั้งที่คนให้ข้อมูลมาคนแรก เขาก็ไม่ได้โกหก แต่ผลสุดท้ายที่ออกมา ทำให้คนปล่อยข้อมูลคนแรก เป็นคนโกหกได้ หนังพยายามให้ผู้ชมคิดตาม หรือหาเหตุผลของตัวเราเองว่า ตัวละครตัวไหน "พูดจริง" หรือ "พูดไม่จริง" แม้แต่ "พระ" บุคคลที่ไม่สามารถ "โกหก" ได้ แต่คุณจะเชื่อคำให้การของพระได้หรือเปล่า แม้ว่าสุดท้ายแล้ว คุณอาจจะได้รับคำตอบ หรือไม่ก็ตาม นั้นแหละคือจุดประสงค์ของภาพยนตร์เรื่องนี้... แล้วสรุปว่า ใครพูดจริง ใครพูดเท็จกันละ...??

บทวิจารณ์โดย ทชากร tck05@sanook.co

 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง อุโมงค์ผาเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook