วิจารณ์หนัง THE FAST AND THE FURIOUS: TOKYO DRIFT

วิจารณ์หนัง THE FAST AND THE FURIOUS: TOKYO DRIFT

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในที่สุดมันก็กลายเป็นหนังไตรภาคจนได้ หลังจากภาคที่แล้วโดนด่ากันขรมว่าไม่ได้เรื่อง ด้วยเหตุผลสารพัด พอมาถึงภาคนี้ บรรดานักดูหนังทั้งหลายรวมไปถึงแฟนหนังแข่งรถเดนตายต่างตั้งความหวังเอาไว้ว่ามันจะต้อง 'ดีกว่า' ภาคที่แล้วอย่างแน่นอน ซึ่งผลลัพธ์ก็คือมันดีกว่าจริง ๆ แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด คำว่า 'ดีกว่า' มันหมายถึงเหนือกว่าเมื่อเปรียบกับภาคก่อน หาใช่ว่าหนังเรื่องนี้มันจะเป็นหนังที่ 'ดี' ในความหมายทั่วไป แน่นอน มันให้บทเรียนกับคนดูว่า ถ้าหากเจอหนังมีคำว่า 'Fast' กับ 'Furious' อยู่ด้วยกันอีกล่ะก็ จงหลีกเลี่ยงได้เป็นดี หนังแบบนี้คงไม่มีใครสนพล็อตเรื่องกันสักเท่าไหร่ คนดูคงเพียงต้องการอาหารตาความตะลึงใจอันสืบเนื่องจากฉากการแข่งขันรถเป็นแน่แท้ ร่วมด้วยรถแข่งสวย ๆ และผู้หญิงสาว ๆ มาชุมนุมกันให้พร้อมเพรียง อย่างไรก็ดีมันคงยากจะรับได้หากหนังที่ลดทอนความสำคัญของตนเองเหลือเพียงขายรถ, วัตถุทางเพศ และฉากแข่งรถ จะไม่สามารถทำสิ่งง่าย ๆ เหล่านี้ได้สำเร็จเนื่องมาจากว่าพันธกิจเล็กน้อยดังกล่าวนั้น ถูกนำเสนอได้สุดแสนตะกุกตุกักและน่าเบื่อเหลือทนแล้วเช่นนี้หนังจะเหลืออะไรอีกเล่า ? ยิ่งถ้าหากใครนำไปเปรียบเทียบกับหนังอย่าง Lost in Translation และ Cars ที่พูดถึงชาวอเมริกันผู้มีปัญหากับวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น (สำหรับเรื่องแรก) และการแข่งขันรถครั้งใหญ่ (สำหรับเรื่องหลัง) ก็คงพอกล้อมแกล้มเชื่อมโยงบางอย่างที่คล้ายคลึงได้เสียแต่ว่ารังสีอำมหิตจาก Tokyo Drift จะพลอยทำให้เรื่องอื่น ๆ ที่ถูกเปรียบ ต้องมัวหมองไปด้วยก็เท่านั้น ความผิดพลาดของหนังเกิดจากการสับสนอลหม่านในพล็อตของตนเอง แถมยังดูไร้ความสมจริงสมจัง ไม่มีความแปลกใหม่ ปราศจากความน่าสนใจ และขาดซึ่งสิ่งล้ำค่าควรแก่การจดจำ ที่แย่กว่าคือ ยิ่งฉากการแข่งขันรถยาวเท่าไหร่ ความอดทนของคนดูก็ยิ่งหดหายลงเท่านั้น ร่วมด้วยเครื่องเคียงสุดแสนย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่ล่องลอยไร้จุดหมายชีวิต ไม่มีจุดเน้นเด่นชัด ขาดซึ่งเสน่ห์ดึงดูด ความฉลาดปลาสนาการ โดยเฉพาะตัวละครนำของเรื่องที่เชิญชวนให้เราคล้อยตามอย่างเหลือเชื่อว่าเขาเป็นคนโง่ สำหรับใครที่ยังงุนงงว่า 'ดริฟท์' (Drift) คืออะไร เพราะหนังเรื่องนี้มีการกล่าวถึงจนเป็นจุดขายหลักเลยก็ว่าได้ (ก่อนหน้าเรื่องนี้ก็มี Initial D หนังฮ่องกงที่ขายมุขเดียวกัน) คำอธิบายง่าย ๆ ก็คือ ดริฟท์เป็นเทคนิคการขับรถอย่างหนึ่ง ที่นิยมกันมากในหมู่นักแข่งขันซิ่งนอกระบบของญี่ปุ่น (พูดง่าย ๆ ก็คือแข่งแบบผิดกฏหมาย) มันเป็นการบังคับให้รถสไลด์ไปยามเข้าโค้ง โดยลื่นไถลไปโดยแรงเสียดทานของล้อรถ มันเหมือนกับการเลี้ยวที่หัวโค้งทั่วไปเพียงแต่การขับแบบปกติจะต้องชะลอความเร็ว ค่อย ๆ หมุนพวงมาลัย หากแต่ดริฟท์คือการพุ่งมาเต็มเหนี่ยวแล้วอาศัยเทคนิคเข้าโค้งแบบไถลนั่นเอง ฌอน บอลเวลล์ (ลูคัส แบล็ค) คือเด็กหนุ่มเจ้าปัญหาในอเมริกา เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนมัธยมหลังจากสร้างเรื่องไม่วางเว้นโดยเฉพาะการขับรถอย่างบ้าระห่ำสร้างความเสียหายแก่อาณาประชาราษฎร์ เพื่อไม่ให้อนาคตเลวร้ายกว่านี้ด้วยการถูกจับขังคุก เขาจึงเดินทางไปกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเพื่ออาศัยอยู่กับพ่อ (ไบรอัน กู๊ดแมน) ที่นั่น ทว่ายังไม่ทันครบ 24 ชั่วโมงดี เขาก็ค้นพบการแข่งรถในโตเกียวโดยใช้ลานจอดรถหลายชั้นเป็นสถานที่ประลองฝีมือ ซึ่งมันเอื้อต่อการดริฟท์รถเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เขายังไม่สามารถปรับตัวกับการแข่งแบบนี้ได้ในตอนแรก ไอ้หนุ่มอวดดีของเราดันไปท้าประลองกับยากูซ่าท้องถิ่น ดีเค (ไบรอัน ที) แถมไปเจ๊าะแจ๊ะกับสาว ๆ ของพวกมันอีกต่างหากโดยเฉพาะ นีล่า (นาตาลี เคลลี่) เด็กมัธยมสุดเซ็กซี่ ความซวยเลยกำลังจะมาเยือนอีกคำรบหนึ่ง ยังดีที่ได้ความช่วยเหลือจาก ทวิงกี้ (โบว์ โบว์) และหนุ่มแสนดีอย่าง ฮาน (ซุงกัง) ที่ทำให้เขาเข้าร่วมกับการแข่งขันในโลกมืดโดยไม่เปล่าเปลี่ยวอีกต่อไปและอย่าแปลกใจว่าท้ายที่สุด หนังจะขมวดด้วยการให้คนที่เหมือนจะเกิดมาเพื่อเป็นอริกันอย่าง ฌอน และ ดีเค ต้องมาขับรถแข่งกัน เพื่อแย่งชิงความเป็นชายเหนือชายในที่สุด... ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะออกฉาย จัสติน ลิน ผู้กำกับมีเครดิตทั้งดีและเลวคละเคล้าปะปนกัน ใครที่เคยได้ดู Better Luck Tomorrow คงจะอดทึ่งในฝีไม้ลายมือไม่ได้ ทว่าเมื่อมี Annapolis ออกฉาย ความดีงามที่สั่งสมไว้ก็มีรอยด่างพร้อย, ดังนั้นหนังเรื่องล่าสุดนี้จึงกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าที่ผ่านมานั้นเขา 'ฟลุ้ค' (จากเรื่องแรก) หรือ 'ฟอร์มตก' (จากเรื่องหลัง) กันแน่ และผลลัพธ์ก็คือ Tokyo Drift คือหนังที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ที่ร้ายก็คือความผิดพลาดทั้งหมดเหมือนจะเกิดขึ้นจากตัวผู้กำกับเสียเอง เขาทำให้ฉากแข่งรถเพียบไปด้วยช็อตย่อย ๆ มากมายสลับตัดไปมา มันน่าเวียนหัว สับสนอลหม่านยากจะล่วงรู้ว่ารถของใครนำ รถของใครตาม บางทีการที่เราได้ยินแค่เสียงเครื่องยนต์ แต่ภาพสุดแสนจะสับสนยากจะติดตามนั้น หนังควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นว่า The Sound and the Furious เสียมากกว่า CRITICS' AVERAGE: C ข้อมูลจากนิตยสาร Starpics ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2549

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ วิจารณ์หนัง THE FAST AND THE FURIOUS: TOKYO DRIFT

วิจารณ์หนัง THE FAST AND THE FURIOUS: TOKYO DRIFT
วิจารณ์หนัง THE FAST AND THE FURIOUS: TOKYO DRIFT
วิจารณ์หนัง THE FAST AND THE FURIOUS: TOKYO DRIFT
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook