คนเขียนบทละครโทรทัศน์ ขาดแคลนหรือแค่ขาดโอกาส

คนเขียนบทละครโทรทัศน์ ขาดแคลนหรือแค่ขาดโอกาส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จำไม่ได้ด้วยซ้ำ ว่าเรื่องอะไร ใครแสดงบ้าง แต่ละเดือนจึงมีละครเปิดกล้องเป็นจำนวนมาก ทว่าในทางตรงกันข้ามอาชีพ คนเขียนบทละครโทรทัศน์ ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องปลุกปั้นเนื้อหาละครที่ต้องดัดแปลง เพิ่มเติมจากบทประพันธ์ เพื่อทำเป็นบทโทรทัศน์ ส่งต่อให้ผู้กำกับ นักแสดง สู่จอโทรทัศน์ กลับมีคนทำน้อยเหลือเกิน จนแทบไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดละครกันเลยทีเดียว ดา - หทัยรัตน์ อมตวณิชย์ ผู้จัดค่ายละครไท ที่เคยผลิตละครเรื่อง ทางผ่านกามเทพ, อุ้มรัก, สวรรค์เบี่ยง, สะใภ้ลูกทุ่ง ฯลฯ กล่าวยอมรับถึงสถานการณ์นี้ดังนี้ ...บอกตามตรงคนเขียนบทละครโทรทัศน์ในบ้านเราขาดแคลนมาก อย่างตอนนี้เท่าที่ทราบนะช่อง 3 น่าจะมีคนเขียนบทละครโทรทัศน์อยู่ไม่ถึง 10 คน คือเมื่อก่อน ผู้จัดละครก็ไม่เดือดร้อนเรื่องนี้หรอก เพราะช่วงเวลาออกอากาศและคู่แข่งมันน้อย แต่ตอนนี้ด้วยเวลาและผู้จัดก็เยอะขึ้น คนเขียนบทเลยไม่พอ เพราะแต่ละค่ายก็จะใช้คนเขียนบทสลับกันไปมานี่แหละ ผู้จัดก็แย่งตัวคนเขียนบทกันไปมา... ...ยอมรับเลยสาเหตุที่ทำให้คนเขียนบทละครโทรทัศน์ในบ้านเรามีน้อยเนื่องจากผู้จัดละครให้โอกาสคนเขียนบทหน้าใหม่น้อย แต่ก็อย่างว่าแหละ ใครจะกล้าเอาตัวเองไปเสี่ยงกับคนที่เราไม่เคยทำงานด้วย ไม่รู้ว่าฝีมือเขาเป็นอย่างไร อย่างตัวดาเอง ก็ไม่กล้าให้นักเขียนหน้าใหม่มาทำงานให้หรอกนะ เพราะเราอยากได้คนที่เรามั่นใจมาทำงานให้เราดีกว่า เนื่องจากบทน่ะมันเป็นหัวใจสำคัญของละคร ถ้าบทไม่สนุกอย่างไรละครก็ไม่ดัง คือถ้าเราเอาคนหน้าใหม่มาทำงานให้ ก็เป็นการเสี่ยงกับการที่ต้องมานั่งปรับกันเยอะ ต้องแก้เยอะ เราคงไม่มีเวลากับตรงนั้น เราต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะไหนจะคิวนักแสดงที่เราได้มาอีก... จากนั้น ดา - หทัยรัตน์ กล่าวถึงสิ่งที่เธอคาดหวังกับเส้นทางสายอาชีพคนเขียนบทละครโทรทัศน์ในเมืองไทยว่า อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาดูแล เพื่อให้โอกาสคนกลุ่มนี้บ้างเหมือนกัน พูดคุยกับผู้จัดละครไปแล้วคราวนี้คนเขียนบทละครโทรทัศน์มืออาชีพ เอ๋ - วิไลลักษณ์ พูลประเสริฐ เจ้าของนามปากกา วิลักษณา ที่สร้างผลงานละครเรื่อง ไอ้ม้าเหล็ก, รักสุดฟ้าล่าสุดโลก, เลิฟสตรอเบอร์รี่ ฯลฯ ได้ฝากไปถึงคนที่อยากจะเขียนบทละครบ้างว่าก่อนอื่นคนนั้นต้องพร้อมที่จะรับฟังคำติเตียนได้ ไม่เป็นพวกอัตตาสูง เปิดใจรับฟังคำวิจารณ์ได้ ถ้าใช้เหตุผลตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างเดียวก็ลำบากหน่อยกับสายอาชีพนี้ และที่สำคัญต้องเป็นคนที่มีความทดทนสูง เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยกว่างานเขียนชิ้นหนึ่งจะถูกนำมาทำเป็นละคร ต้องมีการแก้กันหลายรอบ ...จริงๆ คนที่อยากจะเขียนบทละครโทรทัศน์มีเยอะนะ แต่คนที่ประสบความสำเร็จกับอาชีพนี้มีน้อย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อดทน อีกอย่างผู้จัดก็ไม่อยากจะเสี่ยงกับนักเขียนหน้าใหม่ๆ ด้วย เพราะถ้าเอาคนที่มีประสบการณ์มาเขียนบทให้ คืออย่างไรก็อุ่นใจกว่ากัน ดังนั้นคนที่อยากจะเขียนบทละคร ต้องมีความอดทนสูง รู้ข้อมูลเรื่องที่ตัวเองจะเขียนเป็นอย่างดี เพื่อที่เราจะได้มีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหาของละครด้วย ที่สำคัญต้องเป็นคนมีจินตนาการสูง สนใจเรื่องราวรอบตัว ดูหนังอ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อจะได้รู้เรื่องราวชีวิตคนอื่น ไม่ใช่ว่าดูเพื่อที่จะให้ลอกเขาหรอกนะ แค่เอามาต่อยอดความคิดของตัวเองเท่านั้น... ผู้เขียนบทแจกแจง นอกจากนี้เธอยังบอกฝากไปถึงนักเขียนรุ่นใหม่ด้วย ว่าต้องรู้ว่าตัวเองอยากจะพูดเรื่องอะไร เพื่อจะได้ขยายเรื่องราวนั้นต่อไปได้ถูก ถ้าให้แนะนำนะ อย่าไปเขียนเรื่องอะไรที่ไกลตัว ...อย่างเอ๋เวลาจะเขียนบทละครก็จะเขียนเรื่องที่ร่วมสมัย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน แต่สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มต้นเขียนนั้น ก็อาจจะใช้เวลานานหน่อย ก็อยากจะแนะนำให้ผู้ที่สนใจงานด้านนี้ไปเรียนการเขียนบทมาก่อน เพื่อรู้หลักการของมันมากขึ้น และลองเขียนงานจากพอร์ตเรื่องของตัวเองลองดู เพราะมันจะเป็นการเริ่มต้นที่ง่าย และเมื่อมีบทแล้วก็ลองเอาไปเสนอให้บริษัทผู้จัดละครดู หรือไม่ก็ลองเอายื่นให้ทางสถานีโทรทัศน์... เอ๋เสนอความคิดเห็น ส่วนค่าตอบแทนของงานเขียนบทละครโทรทัศน์แต่ละเรื่องนั้นเอ๋บอกว่า จะรับเป็นเงินเดือนจากค่ายยูม่า แต่ถ้าเป็นงานเขียนของคนที่ไม่มีชื่อเสียงเท่าที่ทราบ จะคิดเป็นตอน ตกตอนละประมาณ 3,000 บาท แต่ถ้าเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ราคาก็จะแพงขึ้นมา ประมาณ 1 หมื่นบาทต่อตอน เพราะบทนั้นมันเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง คงไม่มีละครเรื่องไหนเกิดจากบทที่เลว ด้าน ตุ้ม - รัมภา ภิรมย์ภักดี เจ้าของนามปากกา ภาวิต ผู้เขียนบทละครเรื่อง นางทาส เวอร์ชั่นล่าสุดของค่ายดาราวิดีโอรวมไปถึง ขิงก็ราข่าก็แรง, สุภาพบุรุษชาวดิน, สายใยสวาท ฯลฯ กล่าวว่าเท่าที่ทราบจำนวนคนเขียนบทละครในเมืองไทยตอนนี้ก็มีไม่เยอะมากนักเพราะคนที่อยากจะเขียนบทละครรุ่นใหม่ๆ นั้น เกิดความท้อแท้ ถอดใจก่อน แต่ก็เข้าใจ เพราะเมื่อก่อนตอนที่เธอเริ่มเขียนละครใหม่ๆ ก็เป็นเหมือนกัน โดนดุโดนแก้งานตั้งหลายครั้ง กว่าจะผ่านไปได้ ไม่มีใครทำแค่ครั้งเดียวก็ผ่าน ...อยากบอกว่าความพยายามเท่านั้นแหละที่จะทำให้ก้าวเข้ามาได้ เพราะทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าอะไรก็ยากหมด ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร อย่ากลัวกันไปเอง ลองกล้าที่จะไปยื่นเสนอบทของตัวเองกับผู้จัดดู เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าตอนนี้ตลาดละครเขาต้องการคนอยู่นะ เพื่อจะได้มีทางเลือกมากขึ้น อย่างการเขียนบทละคร จะว่ายากก็ยากจะว่าง่ายก็ง่ายนะ ก็อาศัยประสบการณ์ อย่างของตุ้มตอนนี้ ก็ใช้เวลาในการเขียนบทละคร ที่ต้องเขียนไปออกอากาศไป แต่ถ้ามีเวลามาเป็นตัวกำหนดก็จะเอ้อระเหยไปก่อน... ...สำหรับคุณสมบัติของคนที่อยากจะเป็นคนเขียนบทละครก็ต้องเป็นคนที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจ เล่าเรื่องไม่ต้องซับซ้อน เพราะคนไทยดูละครก็เพื่อความผ่อนคลาย และต้องเป็นคนชอบอ่านหนังสือแล้วจับประเด็นของละครเรื่องที่เราอ่านให้ได้ เพื่อจะได้นำเรื่องจากบทประพันธ์มาเล่าเป็นบทโทรทัศน์ให้น่าสนใจ คือเราต้องคิดเป็นภาพให้ได้ อย่างตุ้มเวลาเขียนบทละครจากบทประพันธ์ก็จะเคารพพอร์ตเรื่องเดิม จะไม่เขียนเรื่องให้มันเกินเลยจากต้นฉบับมากนัก... ผู้เขียนบทมืออาชีพกล่าว สุดท้ายเจ้าของนามปากกาภาวิตเล่าว่าค่าตอบแทนสำหรับอาชีพคนเขียนบทละครนั้น ถือว่าดีมาก ละครเรื่องหนึ่งจะคิดเงินเป็นตอนเรื่องหนึ่งก็มีประมาณ 15 ตอน ซึ่งตอนหนึ่งถ้าเป็นคนมีชื่อเสียงก็มากกว่าหมื่นบาท แต่นักเขียนหน้าใหม่ถึงได้เงินไม่เยอะเท่ากัน ทว่าค่าตอบแทนก็ยังสูงอยู่ดี บอกตามตรงอาชีพนี้ท้าทายดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่ใจรักด้วย

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ คนเขียนบทละครโทรทัศน์ ขาดแคลนหรือแค่ขาดโอกาส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook