หลากมุมประท้วง (หนัง) สร้างสรรค์หรือทำลาย!

หลากมุมประท้วง (หนัง) สร้างสรรค์หรือทำลาย!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โดย ผู้จัดการรายวัน 7 สิงหาคม 2549 09:21 น. บางทีมันก็ดูจะเกินไปนิดนึง คือถ้ามันมีเรื่องที่สมควรจะประท้วง สมควรที่จะตำหนิติติงกันผมก็คงจะไม่ว่าอะไร แต่บางทีมันดูแล้วก็ ไม่สมควรสักเท่าไหร่ มันเหมือนกับว่าเมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา ที่เราจะกระดิกตัวทำอะไรไม่ได้เลย... เสียงบ่นจากนายทุนผู้ให้การสนับสนุนการสร้างหนังไทยคนหนึ่งกล่าวอย่างเซ็งๆ หลังจากภาพยนตร์ที่เจ้าตัวออกเงินต้องมาถูกประท้วงถึง 2 เรื่องติดๆ ในรอบหนึ่งปี... มองย้อนกลับไปเราจะพบว่ามีภาพยนตร์ไทยหลายต่อหลายเรื่องทีเดียวที่ถูกองค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและส่วนอื่นๆ ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจในลักษณะท่าทีที่แตกต่างกันไป เช่น "15 ค่ำเดือน 11" ของ เก้ง จิระ มะลิกุล, "ไอ้ฟัก" ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการทารุณกรรมสัตว์, "โอ๊กอ๊าก" ของ เด๋อ ดอกสะเดา, "องคุลิมาล", "คนบาปพรหมพิราม" ที่ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "คืนบาปพรหมพิราม", "หมากเตะ โลกตะลึง" หรือแม้กระทั่งล่าสุดอย่างภาพยนตร์คอมเมดี้เรื่อง "โกยเถอะโยม" ของตลกดัง จาตุรงค์ มกจ๊ก ทั้งหลายทั้งปวงบ้างก็มีเหตุมีผลอันควร ในขณะที่อีกหลายต่อหลายกรณีล้วนแล้วแต่เป็นการประท้วงด้วยเหตุ ที่ไม่อันควรสักเท่าไหร่ แง่หนึ่งของการออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ประโยชน์ของมันคือการต่อยอดทางด้านความคิด อย่างไรก็ตามค่อนข้างจะเป็นที่น่าสังเกตว่าการออกมาท้วงติงต่อหนังไทยส่วนใหญ่ของแต่ละภาคส่วนโดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่เป็นภาครัฐฯ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการมองต่างมุมของคน 2 ประเภทที่ยืนอยู่กันคนละรูปแบบความคิดอย่างชัดเจน โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้สร้างที่มองถึงเรื่องวัตถุประสงค์ทางด้านอารมณ์เป็นที่ตั้ง ขณะที่อีกฝ่ายมองถึงความเป็นจริงของพฤติกรรมซึ่งน่าสนใจทีเดียวว่าทางออกที่พอเหมาะพอควรของการไม่ลงรอยของสองมุมทางด้านความคิดนี้จะออกมาเป็นอย่างไร? มุมจากผู้ประท้วง หยิบยกตัวอย่างกรณีของเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปหมาดๆ อย่างภาพยนตร์เรื่อง "โกยเถอะโยม" เริ่มกันที่มุมมองจากทางด้านของผู้ประท้วงอย่าง "ยงยุทธ์ ธนะปุระ" เลขาธิการสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่เยอะทีเดียวหากผู้สร้างทั้งหลายจะหยิบจับเอาประเด็นผู้สำรวมที่ห่มจีวรเหลืองนี้มานำเสนอ "องค์กรฯนี้ก่อตั้งมาประมาณ 5 ปีแล้วครับ จะมีคนจากหลายๆ ส่วน พุทธศาสนิกชนที่รักพระพุทธศาสนาเราก็มารวมกันเป็นกลุ่มโดยมีจุดประสงค์หลักภายในองค์กรของเรา 4 ข้อ คือ 1. สนับสนุนศาสนา 2. ปฏิบัติธรรม 3. เผยแผ่ธรรมมะ 4. ปกป้องพระศาสนาซึ่งถือเป็นพระปณิธานสูงสุดของพระพุทธเจ้าที่เรายึดปฏิบัติกันเรื่อยมา" "หน้าที่ของเราคือดูแลพระสงฆ์ เมื่อมีบางอย่างในสังคมที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์พระสงฆ์ขุ่นมัว ไม่ดี เราก็ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม แล้วนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เราก็เคยออกมาเคลื่อนไหวเมื่อครั้งหนังองคุลีมาล แล้วก็กำเนิดพระพุทธเจ้าที่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเขาสร้างให้พระพุทธเจ้าเป็น ลูกน้องพวกฮินดูที่จะคอยสั่งให้พระพุทธเจ้าไปทำนั่นทำนี่ เขาก็มีการแก้ไขให้บางส่วนแต่ก็ยังไม่พอใจเท่าไหร่" เจาะจงต้องเป็นหนังที่เกี่ยวกับศาสนาอย่างเดียวหรือเปล่า? "หลักๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงแล้วผมดูหนังทุกเรื่อง ถือว่าเป็นคอหนังตัวยงเหมือนกัน แต่โดยรวมแล้วคงไม่ใช่เฉพาะหมายรวมถึงสิ่งอื่นๆ ในสังคมที่เข้าข่ายหมิ่นเหม่พระสงฆ์ ทำลายศาสนา ซึ่งประจวบเหมาะกับหนังเรื่องนี้ที่พอเราได้ดูหนังตัวอย่างไม่พอใจที่เขาทำให้พระกลายเป็นตัวตลก พฤติกรรมหลายๆ อย่างไม่เหมาะสมโดยเฉพาะฉากบนศาลาวัดที่ชาวบ้านแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อหน้าพระ รวมไปถึงเรารู้สึกพระไม่ค่อยมีหลักธรรมเท่าไหร่" ยงยุทธ์บอกว่า ไม่ใช่ว่าการทำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับพระนั้นจะต้องนำเสนอแต่ด้านแห่งความสุขุมเรียบร้อยอย่างเดียวเสมอไป สามารถทำให้ตลกก็ได้เพียงแต่ภาพที่ออกมาต้องไม่ผิดจริยวัตรของสงฆ์หรือจริยธรรมอันดีของบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ในหน่วยงานนั้นๆ "อย่างเรื่องหลวงพี่เท่งที่สื่อเองชอบถามว่าทำไมผมไม่แบนทั้งๆ ที่ก็เป็นหนังตลกเหมือนกัน ก็เพราะเรื่องนั้นผมมีโอกาสได้เข้าไปดูแล้วมันเป็นหนังที่ดีนะครับ พระมีคำสอนวิธีปฏิบัติธรรม หนทางแก้ไขที่ดีให้กับชาวบ้าน พระไม่ใช่ตัวตลกสมควรแก่การกราบไหว้" "จริงๆ มันมีหลายวิธีครับ ง่ายๆ เลยก็คือไม่ต้องทำหนังที่มันเกี่ยวกับความล่อแหลมเกี่ยวกับศาสนา แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้มันก็มีวิธีการเยอะบอกว่าเป็นการช่วยเผยแผ่ศาสนาทำได้หลายทาง หลายรูปแบบ หนังก็ทำได้เพียงแต่ต้องให้มันชัดเจน ยกตัวอย่างในฉากที่พระนั่งอยู่ในกุฏิแล้วชาวบ้านต่อยกัน ก็สามารถพูดออกไปเลยให้หลักธรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ แต่นี่เขากลับพูดตะโกนออกมาว่าไฟไหม้มันเหมือน โกหกแล้วก็เปรียบการทะเลาะกันเหมือนนำไฟมาสุมบนศาลาอะไรประมาณนั้นมันไม่ใช่" "ศาสนาเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคนในสังคมไว้ด้วยกันเป็นวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่คนให้ความเคารพนับถือ มันไม่ควรมาทำให้เสื่อมเสีย แล้วต่อไปสังคมจะอยู่อย่างไร ผมถามหน่อยสังคมพินาศแล้วพวกคุณยังจะยืนดูกันโดยที่ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลยเหรอ ผมคนหนึ่งทำไม่ได้ แม้จะบอกว่าผ่านกอง เซ็นเซอร์กรมศาสนาแล้วก็เถอะแต่ในเมื่อมีคนมาทักท้วงแบบนี้ คุณก็ต้องแก้ไข" ยงยุทธ ทองกองทุน - ยุทธเลิศ ลิปปภาค มุมจากผู้ผลิต ด้าน "ยงยุทธ ทองกองทุน" จากค่ายจีทีเอชในฐานะของผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนหนึ่งเผยถึงสถานการณ์และรูปแบบของการออกมาประท้วงหนังไทยว่า โดยส่วนตัวปัจจุบันเขาคิดว่าค่อนข้างจะเยอะและจุกจิกเกินไป แต่ถึงแม้จะอย่างไรตัวของผู้ผลิตเองก็ต้องรับฟัง เช่นเดียวกับผู้ประท้วงเองก็ต้องรับฟังด้วยประโยชน์ถึงจะเกิด "2 ปีที่ผ่านมาเราโดนเยอะเหมือนกันนะ (หัวเราะ) ทุกคนรู้สึกว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่เราต้องเคารพ ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เพียงแต่ว่าในวิธีการที่แสดง ออกมา โดยขอรับฟังก่อนตรงนี้เราไม่มีปัญหา แต่หลายๆ ครั้งในการแสดงความคิดเห็นตรงนี้มีลักษณะของการเรียกร้องและบังคับให้ทำตามในสิ่งที่ตัวเองคิดฝ่ายเดียว โดยไม่ได้มีการพูดคุยกัน ค่อนข้างทำให้เราเหนื่อย" "จะเรียกว่าไม่ทำเลยก็ไม่ได้เพียงแต่เราก็จะได้รู้ว่าตรงนี้มีคนจับตาดูอยู่มากน้อยแค่ไหน บางทีเราเข้าใจว่าในระบบมันมีคนตรวจสอบเราอยู่แล้วแค่ตรงนี้แต่พอเรารู้ว่ามันไม่ได้มีแค่ตรงนั้นนะ แล้วบางอย่างเราควรจะปรึกษาใครมากขึ้นเราก็เลือกใหม่ไว้สำหรับสกรีนงานตัวเอง เราก็ไม่ได้ทำแบบไม่ลืมหูลืมตาจนไม่นึกถึงผลกระทบที่ตามมา เงินที่ใช้ก็มหาศาล การที่ไม่ได้ฉายก็เป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ว่าบางครั้งการตีเจตนาทีละภาพๆ กับการที่มองหลายภาพรวมกัน ถ้ามีข้อผิดพลาดเราก็พร้อมแก้ไข" ยงยุทธบอกว่าทุกคนที่เกิดในประเทศไทยก็ล้วนแล้วแต่รักประเทศกันทุกคน เพราะฉะนั้นเชื่อมั่นได้อย่างหนึ่งเลยว่าการทำหนังของผู้กำกับแต่ละคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทยคนหนึ่งนั้นมิได้มีเจตนาทำร้ายหรือทำลายผืนแผ่นดินของตนเองอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าการนำเสนอของแต่ละคนนั้นจะออกมาในรูปแบบใด บางคนอาจจะชักชวนให้ทำดี ขณะที่บางคนอาจจะเอาของไม่ดีขึ้นมาเป็นตัวอย่างสั่งสอนก็ได้ "ผมว่าทำหนังไทยทุกคนพูดให้เวอร์เลยนะ รักชาติ รักศาสนา พระมหากษัตริย์ ทุกคนรู้ว่าระบบการทำงานเราเป็นยังไงรู้ว่าคนดูหนังไทยมีวุฒิภาวะยังไง เพราะฉะนั้นหนังไทยที่ออกมาแต่ละครั้งจะมีความหลากหลายในตัวเนื้อหา มีความพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่แน่นอนว่าบางครั้งอาจมีบางเรื่องที่เรารู้ไม่ครบถ้วนซึ่งมันก็จะมีระบบการตรวจสอบจากกองเซ็นเซอร์อยู่ ซึ่งตรงนั้นทุกครั้งที่มีปัญหาก็จะแก้ไข ทำตามคำแนะนำอยู่แล้วไม่มีใครปฏิเสธ แต่มันก็มีอีกหลายๆ ครั้งที่จะต้องเจอกับอะไรที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย" เพราะวงการหนังไทยยังมีระบบ หรือวิธีการที่ไม่ชัดเจนและครอบคลุมพอหรือเปล่า ถึงทำให้เกิดเรื่องในหลายๆ ครั้งตรงนี้ขึ้นมา? "มีบ้างครับ เพราะว่าอย่างที่บอกทุกคนมีความรักในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ค่อนข้างเยอะ แต่หลายๆ อย่างตลกเรามีการเปลี่ยนแปลง การตีความในเชิงข้อเนื้อหา การแสดงออกหลายๆ อย่างมันก็อาจมีการตีความในประสบการณ์หรือกฎเกณฑ์ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คือให้สิทธิ์มาพูดคุยจุดมุ่งหมายของกันและกันได้ หรือบางครั้งเวลาทำหนังตัวอย่างมันต้องเรียกร้องความสนใจ อาจไม่สามารถเล่าในเจตนาเราได้ทั้งหมด แต่ถ้าเกิดมีความสงสัยคืออยากให้ได้ดูหนังทั้งเรื่องก่อนแล้วจะรู้ว่าเจตนาหนังมันชัดเจนแล้วค่อยมาคุยกัน อย่างนั้นจะแฟร์ทั้งสองฝ่าย" "คืออาจจะไม่ต้องถึงไปหากฎตายตัวอะไรหรอกครับ คงไม่ถึงลักษณะอย่างนั้น ผมคิดว่าที่เป็นอยู่มันถูกอยู่แล้ว มีการเซตอย่างเป็นทางการแล้วทุกคนมีความเข้าใจเดียวกันอยู่ ในเชิงรายละเอียดผู้ที่เกี่ยวข้องผู้ที่รักพระพุทธศาสนาถ้ามีเยอะขนาดนี้น่าจะมีการประสานกันในเชิงภายในแต่งตั้งตัวแทนที่ทุกคนให้การยอมรับไปอยู่ในกองเซ็นเซอร์น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสามารถดำเนินงานได้จริง เพราะไม่เช่นนั้นเราก็โดนหมดอุตสาหกรรมหนังก็ไม่ไปไหน เพราะศาสนาพุทธเองมีหลายนิกาย มีวิธีคิดและปฏิบัติในแต่ละอัน ถ้าไม่มีอะไรเป็นศูนย์กลางเลยเราก็ทำอะไรไม่ได้" "อย่างสมมติถ้าเราจะยกย่องพฤติกรรมอะไรบางอย่างของพระสงฆ์มันก็ไปขัดกับอีกนิกายหนึ่ง ล่าสุดพระพยอมกล่าวยกย่องพระสงฆ์รูปหนึ่ง ขอโทษจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด ที่มีโยมแม่ที่เป็นอัมพาต แม้จะครองผ้าเหลืองด้วยความเป็นคนกตัญญูก็กลับไปปรนนิบัติอาบน้ำ ป้อนข้าวแม่แล้วก็มาทำการปลงอาบัติ พระพยอมถือว่าพระรูปนี้เป็นพระที่ดี ขอยกย่องหลายอย่างต้องดูที่เจตนา โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะหลายอย่างต้องก้าวไปพร้อมกัน" อีกหนึ่งคนในวงการหนัง ผู้กำกับฯ ชื่อดัง "ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค" แสดงความคิดเห็นต่อการประท้วงหนังไทยที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งและดูเหมือนจะยิ่งเป็นการประท้วงที่ยากจะหาจุดร่วมว่า โดยส่วนตัวแล้วเขามองว่าหนังไม่ใช่สื่อที่มีผลต่อสังคมมากมาย เพราะฉะนั้นกรณีที่หนังบางเรื่องอาจจะมีภาพรุนแรงหรือไม่สมควรในบางฉากบางตอนจึงไม่ใช่เรื่องที่จะมีผลกระทบในวงกว้างมากมายนัก ทว่าก็ต้องดูด้วยว่าการมีอยู่ของฉากดังกล่าวมันเข้ากับตัวหนังสักเพียงไร? "หนังมันไม่น่ากระทบกระเทือนอะไรสังคมได้มากเพราะว่าหนังมันไม่ใช่สื่อสาธารณะ หนังมันเป็นสื่อที่เราต้องเสียเงินไปดู มันไม่ใช่สื่อที่ถูกจับยัดเข้าไปในทีวี ผลกระทบทางสังคมจริงๆ น่าจะเป็นสื่อทางหนังสือพิมพ์ สื่อทีวี สื่อวิทยุมากกว่าเพราะว่าเป็นสื่อสาธารณะ ทะลวงเข้าไปในได้ สื่อแบบนั้นต่างหากที่มีอิทธิพลต่อคนดูมากที่สุด แต่หนังไม่ใช่ ภาพยนตร์เป็นทางเลือกของคน ทางใครทางมัน คนดูเป็นคนตัดสิน" "เรื่องประท้วงผมว่ามันระบุไม่ได้นะว่าทำหนังแบบไหนจะโดนมากโดนน้อยกว่ากัน มันพูดยาก มันต้องดูลักษณะของการประท้วง บางคนก็คือเขาไม่ยอมรับเรื่องแต่ง ถ้าเรื่องจริงในกรณีในเรื่องโกยเถอะโยมเอามาเล่นเนี่ยนะ ถ้าเทียบกับกรณีที่หนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวพระประพฤติผิดพระธรรมวินัย มันเทียบกันไม่ถึงเศษเสี้ยวตรงนั้นเลยนะ แต่การไปประท้วงมันอยู่ที่ว่ากลุ่มไหนประท้วงใครมากกว่า" เป็นคนที่ได้ชื่อว่าทำหนังที่มีฉากค่อนข้างจะ "ล่อแหลม" อยู่ในหนังของตนเองก็ระดับหนึ่ง แต่เมื่อถามว่ามีเทคนิคในการหลีกเลี่ยงอย่างไรถึงไม่โดนประท้วงเลย "ต้อม" หัวเราะร่วนแล้วบอกว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับวิธีการ หากแต่มันอยู่ที่เรื่องของความเชื่อ "มันอยู่ที่ว่าคนเราจะเชื่อในกลุ่มไหนมากกว่า ถ้าไม่เชื่อในเสียงส่วนใหญ่ ถ้าทุกคนเชื่อในกลุ่มน้อยแต่เสียงดังมันก็ทำอะไรกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องให้สังคมตัดสิน สังคมก็มีสตินี่...ในเมื่อหนังเขาได้รับการอนุญาตฉายจากกองเซ็นเซอร์เราก็ต้องเคารพตรงนั้น มาโวยวายทีหลังให้เป็นเรื่อง ตรงนี้มันเป็นการถกประเด็นแบบไปเรื่อย" ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งของการที่มีการออกมาประท้วงนั้นเป็นเพราะระบบการจัดการของหนังไทย โดยหนึ่งในทางออกที่มีคนในแวดวงแผ่นฟิล์มเสนอก็คือ หากมีการจัดเรตหนังแทนการใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่ดูเหมือนจะเป็นการ "คิด" และ "ตัดสิน" แทนคนส่วนใหญ่ว่าหนังเรื่องนี้สมควรดู ฉากตรงนี้ไม่สมควรดู ฯลฯ ก็น่าจะช่วยลดภาวะตรงนี้ได้บ้าง... ทว่าโดยส่วนตัวของต้อมแล้วเขากลับมองเห็นแตกต่างออกไป "ถ้ามันจะประท้วงมันก็ประท้วง คือมันต้องมีกติกาบางอย่าง คนที่รับผิดชอบคือกองเซ็นเซอร์ ต้องไปประท้วงกองเซ็นเซอร์ ผิดที่ ผิดเรื่องนะถ้าไปประท้วงที่หนังน่ะ ไปประท้วงกองเซ็นเซอร์ซิ ประท้วงหนังฝรั่งด้วยที่ฉายหมิ่นเหม่อะไรแบบนี้เอาให้หมด มันไม่ใช่เรื่องน่ะมาประท้วงที่หนังไง กองเซ็นเซอร์น่ะต้องโดนเอาผิด ต้องเอาคนดูแลซิถึงจะถูก" "ทางออกเลยผมว่ามันต้องดูทั้งหมด เราต้องเข้าใจประเด็นรวมของความตั้งใจ เราไปใส่รายละเอียดขนาดนั้นหนังเราทำไม่ได้หรอกครับ พี่ดูหนังแล้วพี่ก็อยากจะออกเหมือนกันรายการ(ถึงลูกถึงคน)เนี่ย...(หัวเราะ) ถ้ามานั่งมองรายละเอียดแบบนี้ไม่ไหวหรอก อย่างถ้ามีฆาตกรคนหนึ่งข่มขืนลูกสาวใครสักคน แต่เป็นคนที่พูดเพราะมาก กับอีกคนที่พูดคำด่าคำแต่ทำบุญตลอด คือต้องการรายละเอียดหรือหัวใจล่ะ" "มันจบไม่ลงหรอกถ้าเราไม่หาจุดยืนที่แท้จริงว่าเราทำหนังเรื่องนี้เพราะอะไร ถ้าพี่ตั้งใจดีพี่ไม่สนใจนะ แก่นเรื่องมันสำคัญมากกว่า ถ้าจะไม่ให้มีสัตว์เลื้อยคลานในหนังมันก็ต้องเปลี่ยนระบบใหม่แล้ว คุณต้องไปร่างจดหมายร่างไปถึงกอง เซ็นเซอร์เลยว่าไม่ต้องมี ไม่ใช่ทำไปแล้วเพิ่งมาบอกทีหลัง หรือไม่ก็บอกไปเลยชัดเจนกับคนทำงานหนังว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับศาสนา ห้ามพระพูดคำหยาบ คนทำไม่รู้หรอก เพราะว่าคนปกติก็พูด เมืองเรามันไม่มีกฎ ก็ยังทำกันแบบนี้แหละ เอาตัวเองมาเป็นมาตรฐานมันก็ไม่ได้" มุมจากคนกลาง "จริงๆ เรื่องนี้มันมองได้ 2 มุมนะ ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นจริงหรือว่ามีคนจัดจ้างน่ะครับ สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือคน ทำหนังที่เกี่ยวกับความเชื่อหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสังคมไทยรวมไปถึงนายทุนเขาจะตัดสินใจในการสร้างหนังเรื่องนี้นานมาก...อีกมุมหนึ่งของตัวผู้กำกับเองก็คงหวังว่าจะเป็นการ ส่งเสริมการตลาด ในเคสที่เขาประท้วงแบบกลุ่มย่อยนะ..." นันทขว้าง สิรสุนทร นักวิจารณ์ภาพยนตร์แสดงทัศนะ ของตนเองต่อผลที่เกิดจากการที่หนังไทยถูกประท้วง (แบบไทยๆ) อย่างตรงไปตรงมา "ถ้ามันเป็นการประท้วงที่ไม่มีผลกระทบมากเนี่ยมันก็เกิดผลดีแหละเพราะคนก็ได้รับรู้ข่าวสารว่า เออ...หนังเรื่องนี้เขาประท้วงอยู่นะ แต่เป็นกลุ่มเล็กไม่ใช่เหมือนหมากเตะฯที่คนส่วนใหญ่มองว่าน่าแบนถึง 90% เพราะอะไร เพราะพอมันเกินระดับคนมันจะแอนตี้ไง สื่อก็สำคัญนะ เพราะสื่อคือคนที่จะบอกคนดูได้ว่าหนังเรื่องนั้นควรจะไปดูหรือเปล่า ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจารณ์ผมก็ไม่ได้เข้าข้างหนังนะ แต่เท่าที่ผมดูหมากเตะฯ ผมก็ไม่ได้มองว่าดูถูกหรืออะไร ดูแล้วไม่ชอบนะแต่ก็ไม่ได้มองว่ามันดูถูก" นักวิจารณ์ภาพยนตร์บอกต่อไปด้วยว่า ที่ผ่านมามีหนังหลายต่อหลายเรื่องทีเดียวที่น่าจะโดนแบนหรือประท้วง ทว่าก็ไม่เกิดอะไรขึ้นกับหนังเหล่านั้น ซึ่งโดยส่วนตัวเขามองว่าเป็นเพราะค่ายใครเล็กค่ายใครใหญ่นั่นเอง? "อย่างเบสิก อินสติงท์ ภาคแรกไงที่น่าโดนแบน เห็นหมดเลยว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งโป๊ ทั้งเปลือยรุนแรงมากอย่างปาดคอหอยเนี่ยจะจะเลย แบบโหดสุดๆ ฉากโป๊ก็เห็นครบหมดทุกอย่าง ถ้าผมเป็นแฟนหนังจริงในเมืองไทยผมจะประท้วงเรื่องนี้ จริงๆ มันยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าประท้วง ถ้าจะประท้วงแบบปัญญาอ่อนจริงๆ เรื่องหลวงพี่เท่งก็น่าประท้วงถ้างั้นน่ะเพราะว่าพระบอกให้แทงบอลไม่แมนฯยู ก็อาร์เซนอล คนประท้วงต้องดูว่าเขาสื่อตลกหรือเปล่า มันเป็นหนังคอมเมดี้ไง เขาสอนหนังผีแอ็กชันของต่างประเทศอีกหลายเรื่องที่น่าโดนก็เยอะแยะ แต่ไม่โดน สรุปแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับว่าค่ายไหนจัดมาด้วยแหละ ค่ายไหนใหญ่ก็ไม่โดนไง" "ผมว่าสังคมไทยกับการประท้วงมันมากไปแล้ว ไม่งั้นในรายการถึงลูกถึงคนวันนั้นจะสนุกกว่านี้ พอเอาเข้าจริงมีแต่คนเอสเอ็มเอสเข้าไปด่า พูดง่ายๆ ผลกระทบที่มันเกิดขึ้นเนี่ยนายทุนก็จะเข้มกับหนังแนวชาติพันธุ์ ศาสนา อะไรพวกนี้เยอะขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าพอมีประท้วงเราต้องไปแก้หรือเปลี่ยนแปลงตามไปซะหมด ซึ่งจริงๆ มันก็มีการประท้วงเล็กๆ มาตั้งแต่หนังเรื่องหลวงตา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผมว่าคนที่เขาออกมาประท้วงเนี่ยนะ เขามองเฉพาะบุคลิกของตัวละคร เขามองว่าพระในเรื่องยักคิ้วไม่ได้ เขาไม่ได้มองเนื้อหาของคนทำศิลปะหยิบ ยื่นให้ เรามีเนื้อเรื่องบทสรุปให้เสร็จแต่เขาไม่ได้มองตรงนั้นไง" ทางออกอย่างการจัดเรตหนัง หรือการออกกฎต่างๆ มันจะช่วยเรื่องการประท้วงได้บ้างมั้ย? "เป็นคำถามที่ดีมาก...(หัวเราะ) ผมอยู่ในวงการมา 14 ปี โดนเรียกไปประชุม สัมมนามาเกือบร้อยครั้งแล้วมั้งที่โดน พูดเรื่องนี้ผมไม่ฟันธงนะแค่ตั้งข้อสงสัยว่าคนหลายฝ่ายพยายามอยากให้มีการจัดเรตหนัง แต่ทำไมมันถึงมีไม่ได้ นี่คือคำถามที่ผมอยากฝากให้คนผู้จัดการที่อ่านช่วยกันถามต่อ" "มันก็คงต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลด้านรายได้ล่ะนะที่ผมแค่ตั้งข้อสงสัยนะ ไม่ฟันธง ขอย้ำ เพราะผมคิดแบบนี้จริงๆ มันอาจจะมีผู้เสียผลประโยชน์บางรายที่ไม่ยอมให้มีการจัดเรตเสียที อีกประเด็นหนึ่งหากมีการจัดเรตจริงๆ อยากให้ทางรัฐบาลหรือว่าคนในกระทรวงวัฒนธรรมนั่นแหละลงมาทำด้วยเลย สรรหามาคณะกรรมการ 10 คนนะจากหลายๆ วงการมาช่วยกันดู ต้องมีทุกแผนกถึงจะได้ผลดี แต่อย่างไรก็ตามขอฟันธงว่าอีก 35 ปีก็ยังไม่มีการจัดเรตเกิดขึ้นแน่ๆ ผมยอมหน้าแตก ...(หัวเราะ)" "10 ปีที่แล้วผมก็เคยพูดว่าอยากให้มีเรตหนังมาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีเลย ถ้าจะมีการจัดเรตก็ขอให้มีการจัด 8 เรตนะเพราะอย่างเรา 5 เรตเหมือนอเมริกาไม่ได้เพราะของเขาเซตระบบมาโอเคแล้ว บ้านเราควรมากกว่า 5 ระดับ ก็อยากจะวอนตรงนี้ว่าอยากให้คนที่สูญเสียจากการจัดเรตให้นึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นมากกว่าผลประโยชน์ตัวเอง อยากให้เปิดใจ" มั่นใจหากสังคมไทยยังมีวิธีคิดแบบไม่มองภาพของ จุดประสงค์โดยรวม ถ้าสังคมยังไม่คิดไกลกว่านี้การประท้วงแบบค่อนข้างจะหาสาระได้ยากในความรู้สึกของคนทำหนังก็จะยังคงมีต่อไป "เชื่อสิ มันจะมีปัญหาแบบนี้ตามมาอีกทุกปี ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 เรื่องเชื่อสิ ถ้าเป็นเคสอย่างดาวินชี โค้ดหรืออย่างหมากเตะฯผมว่าโอเคประท้วงให้มันเกิดข้อถกเถียงกันมันก็ดี แต่เรื่อง โกยเถอะโยมมันไม่น่าจะมาประท้วงอะไรนะ เข้าใจว่าผู้ใหญ่บางคนที่เขามีหน้าที่ในการเคลื่อนไหวหรือต้องทำอะไรในสังคมมันต้องมีส่วนออกมาทำอะไรบ้าง แต่บางทีมันก็ไร้สาระนะ... ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ หลากมุมประท้วง (หนัง) สร้างสรรค์หรือทำลาย!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook